รัฐบาลไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทย คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2572 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมระดับภูมิภาค โครงการนี้ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงที่ทันสมัย แต่ยังจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างไทย จีน และลาว พร้อมทั้งเพิ่มแรงผลักดันที่แข็งแกร่งให้กับความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทยระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้ดำเนินการออกแบบและปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโครงการฯ ระยะที่ 2 มีความยาวรวม 356 กิโลเมตร วงเงิน 330,000 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางสำคัญที่เชื่อมโยงพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกับจีนและลาว สิ่งที่น่าสังเกต คือ ทีมงานการออกแบบโครงการฯ ได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ จึงได้หลีกเลี่ยงจุดตัดทางรถไฟทั้งหมด เพื่อทำให้ผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ขณะนี้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ได้รับความเห็นชออย่างเป็นทางการแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินขั้นตอนการเปิดประมูลและเริ่มกระบวนการก่อสร้างอย่างเป็นทางการภายในปี 2567 เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572
รัฐบาลไทยได้กำหนดแผนการลงทุนและแบ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างละเอียด ตั้งแต่ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง และค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน ไปจนถึงค่าลงทุนระบบรางและระบบไฟฟ้าและค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และมีการจัดสรรอย่างเหมาะสมที่สุด ทั้งนี้ โครงการฯ จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10 สัญญา ที่ครอบคลุมหลายสาขา เช่น งานโยธา งานติดตั้งระบบ และงานส่งสัญญาณ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้บริษัททั้งภายในประเทศและต่างประเทศสามารถมีโอกาสการแข่งขันที่ยุติธรรมได้
ค่าใช้จ่ายโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทยระยะที่ 2 | |
ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง | 235,129 ล้านบาท |
ค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน | 10,310 ล้านบาท |
ค่าลงทุนระบบรางและระบบไฟฟ้า | 80,165 ล้านบาท |
ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ | 10,060 ล้านบาท |
เส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทยระยะที่ 2 ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ซึ่งสถานีเหล่านี้จะเป็นกำลังใหม่ที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมจะผลักดันการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้ โครงการฯ มีการปรับแบ่งแบบเป็นทางวิ่งยกระดับและทางวิ่งระดับพื้นดิน เพื่อลดกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร ส่วนทางวิ่งระดับพื้นดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร
ในขณะเดียวกัน เส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทยระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ก็อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แม้ว่าโครงการฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น สัญญาบางฉบับติดปัญหาที่พื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน และการประเมินผลกระทบต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม แต่รัฐบาลไทยได้ดำเนินใช้มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้กำชับให้บริษัทดำเนินการก่อสร้างให้เร็วขึ้น ขณะนี้โครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 33.48 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ทันตามแผนกำหนดไว้ในปี 2571
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ความคืบหน้าการดำเนินของโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทย ไม่เพียงแต่เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของไทยในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพที่สำคัญของไทยและจีนในการกระชับความร่วมมือและแสวงหาการพัฒนาร่วมกัน ด้วยการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีเครือข่ายการขนส่งที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และเติมพลังใหม่ให้กับความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเศรษฐกิจในภูมิภาค
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
กรกฎาคม 2567
แหล่งข้อมูล :
https://mp.weixin.qq.com/s/5WyciPQ45DKFxGjNwOL3TA