ชิงต่าวเป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือฝั่งตะวันออกของจีน ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองชิงต่าว เร่งสร้างความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์โดยการเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบ ‘เรือ+ราง’ ที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวเส้นทางนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ส่งผลให้ชิงต่าวเป็นหนึ่งในแลนมาร์คการกระจายสินค้าสำคัญที่สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานการค้าที่เข้มแข็งของจีน
ทางทะเล
ท่าเรือชิงต่าว (Qingdao port) เปิดดำเนินการเมื่อปี 2435 ตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มท่าเรือทะเลป๋อไห่ และกลุ่มท่าเรือริมสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งที่ตั้งของท่าเรือชิงต่าวถือเป็นศูนย์กลางของท่าเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์การค้าระหว่างประเทศที่สำคัญของแปซิฟิกตะวันตก อีกทั้งยังเป็นท่าเรือที่หนาแน่นที่สุดในภาคเหนือของจีน เป็นศูนย์ขนส่งกระจายสินค้านำเข้าและส่งออก รวมถึงน้ำมันดิบ แร่ และถ่านหิน ปัจจุบันเป็นท่าเรือที่ใหญ่อันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 660 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เชื่อมโยงกับท่าเรือต่างๆ กว่า 700 แห่ง จาก 180 ประเทศ และมีเส้นทางขนส่งสินค้ากว่า 200 เส้นทาง โดยท่าเรือชิงต่าวครอบคลุม 4 เขต ได้แก่
1) เขตท่าเรือต้าก่าง รองรับสินค้าประเภทธัญพืช เหล็ก อลูมินา (Alumina) ปุ๋ย และสินค้าอื่นๆ ทั่วไป
2) เขตท่าเรือเฉียนวานก่าง เป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นอันดับที่ 14 ของโลก เป็นพื้นที่รองรับการขนส่งสินค้าประเภทภาชนะโลหะ แร่ถ่านหิน เยื่อกระดาษ และสินค้าอื่นๆ ทั่วไป
3) เขตท่าเรือหวงต่าวโหยวก่าง รองรับการขนส่งสินค้าประเภทของเหลวและน้ำมัน และเป็นคลังน้ำมันขนาดใหญ่ มีความสามารถในการขนส่งน้ำมัน 30 ล้านตันต่อปี ใหญ่ที่สุดในจีน
4) เขตท่าเรือตงเจียโข่วก่าง เป็นท่าเรือศูนย์กระจายสินค้าเทกองแห่งชาติ คลังสินค้าพลังงานที่สำคัญ และแหล่งค้าแร่ที่ใหญ่ที่สุดในจีน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการเชิงรุกในการเปิดเส้นทางการค้าระหว่างท่าเรือชิงต่าวกับประเทศ Belt and Road Initiative (BRI)
– เดือนสิงหาคม 2565 ท่าเรือชิงต่าวได้เปิดเส้นทางตรงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย โดย 3 ใน 5 เส้นทางนี้ เป็นการขนส่งระหว่างจีนและท่าเรือแหลมฉบังของไทย ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลซานตงและไทยให้มีขยายตัวยิ่งขึ้น
– เดือนกรกฎาคม 2566 ท่าเรือชิงต่าวเปิดเส้นทางการขนส่ง ตงเจียโข่ว (Dongjiakou) – ทะเลดำ (Black Sea) ออกเดินทางจากท่าเรือตงเจียโข่ว (ชิงต่าว) ไปยังท่าเรือลาร์นากาในประเทศไซปรัส
– เดือนตุลาคม 2566 ท่าเรือชิงต่าวเพิ่มเส้นทางตรงไปยังท่าเรือมอมบาซา ประเทศเคนย่า โดยบริษัทเดินเรือ Evergreen Shipping, CMA CGM และ Orient Overseas ตามนโยบาย BRI ของจีน
– เดือนมกราคม 2567 เปิดเส้นทางเมืองชิงต่าว – สิงคโปร์ เป็นการเพิ่มช่องทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสําหรับการเชื่อมโยงตลาดอาเซียน
ทางราง
“รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป CHINA RAILWAY EXPRESS” ตามเป้าหมายนโยบาย BRI ในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์หลายรูปแบบระหว่างประเทศ ทั้งทางทะเล ทางบก ทางอากาศ และทางราง โดยจากข้อมูลในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่าเมืองชิงต่าวได้ให้บริการรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปแล้ว จำนวน 520 ขบวน 22 เส้นทางระหว่างประเทศ เชื่อมต่อ 54 เมืองของประเทศตามเส้นทาง BRI และ 23 เมืองของประเทศสมาชิก SCO (The Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งข้อได้เปรียบของรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปนี้ คือ การจัดส่งที่ตรงต่อเวลา ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และยังเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเลแล้วสามารถประหยัดเวลาได้ถึงร้อยละ 25 และมีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 12.5 – 16.66 ของการขนส่งทางอากาศ ซึ่งช่วยผู้ประกอบการประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนในการขนส่ง
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2567 รัฐบาลเมืองชิงต่าวยังได้เสนอให้มีการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ห่วงโซ่ความเย็น และการขนส่งทางรถไฟรูปแบบอื่นๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมนโยบายที่ดีสำหรับการปรับปรุงคุณภาพ และประสิทธิภาพของนวัตกรรมการบริการของรถไฟจีน (ชิงต่าว) ไปยังยุโรป โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 รถไฟขบวนพิเศษตู้แช่เย็น BX1X ขบวนแรกได้ถูกส่งจากศูนย์การขนส่งในเขต SCO และออกจากท่าเรือบก Manzhouli ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ไปยังสถานี Seryazino ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าที่อุณหภูมิ –30 °C ถึง 30 °C รับประกันอุณหภูมิคงที่ตลอดทาง ให้บริการแก่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกอาหารสดและห่วงโซ่ความเย็นขยายตลาดต่างประเทศ
Qingdao China-Europe Railway Express เดินหน้าขยายขอบเขตและช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา รถไฟขนส่งสินค้าจีน – ยุโรป จากเขตสาธิต SCO ได้ลำเลียงสินค้าไปยังเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยมีการจัดส่งสินค้าทุกวันพฤหัสบดีให้กับบริษัท Haier Group, Hisense Group, Linglong Tyre รวมถึงบริษัทอื่นๆ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา รถไฟขนส่งสินค้าจีน – ยุโรป ได้บรรทุกเครื่องจักรและอุปกรณ์ คาร์บอนแบลค ยางพารา และสินค้าอื่นๆ ออกจากศูนย์กลางการขนส่งของเขต SCO และคาดว่าจะถึงเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ภายใน 18 วัน และสินค้าบางส่วนจะถูกลำเลียงทางรถไฟต่อไปยังเมืองเบลเกรดของประเทศเซอร์เบีย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขนส่งในรถไฟขบวนนี้จะเป็นแม่พิมพ์และวัตถุดิบที่โรงงานเซอร์เบียของบริษัท Linglong Tyre ซึ่งรองประธานบริษัท Linglong Tyre ได้เปิดเผยว่า การขนส่งวัสดุขนาดใหญ่นี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานของโรงงาน Linglong Tyre ที่เซอร์เบีย ให้สามารถผลิตยางคุณภาพสูงออกสู่ตลาดยุโรปอย่างต่อเนื่อง เป็นการวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวของโรงงานด้วย
นอกจากนี้ ในปีนี้ บริษัท Shandong High-speed Qilu Eurasian Express Operation Co., Ltd. ร่วมกับบริษัท Atasu Group ได้ชนะการประมูลโครงการขนส่งยานยนต์ของบริษัท ฮุนไดมอร์เตอร์ ประเทศเกาหลีใต้ โดยสินค้าจะถูกขนส่งทางทะเลเชื่อมต่อทางราง จากท่าเรือที่เกาหลีใต้ (เรือ) – ท่าเรือเฉียนวาน เขตหวงต่าว เมืองชิงต่าว (เรือ) – รถไฟเจียวหวง (รถไฟสายสั้น) – ศูนย์ตู้คอนเทนเนอร์ของ CRCT (China Railway Container Transportation Co., Ltd.) เขตเจียวโจว และเปลี่ยนถ่ายไปยังรถไฟ China-Europe Railway Express – สู่ สถานี Brenda Field เมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน โดยช่วงครึ่งปีแรกนี้ได้ทำการขนส่งรถยนต์ล็อตแรกไปแล้วจำนวน 197 คัน และคาดว่าตลอดทั้งปีจะขนส่งรถได้มากถึง 2,000 คัน ขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ยังได้จัดส่งรถยนต์ให้กับบริษัท CHERY ไปแล้ว 3,060 คัน คิดเป็นมูลค่า 400 ล้านหยวน (2,000 ล้านบาท) ด้วยวิธีเดียวกันนี้เช่นกัน
ทางอากาศ
ในปี 2566 สนามบินชิงต่าวได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติประเภทสนามบิน โดยในปีที่ผ่านมาสนามบินชิงต่าวมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศและไปรษณีย์ราว 260,800 ตัน กลายเป็นสถิติใหม่ของสนามบินชิงต่าว โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปริมาณ 126,500 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.1 เมื่อเทียบกับปี 2562 สร้างสถิติใหม่ทั้งปริมาณต่อวัน ต่อเดือน และต่อไตรมาส
ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา สนามบินชิงต่าวได้เปิดเส้นทางใหม่ในประเทศไปยังเมืองเอ้อโจว หูเป่ย์ เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และฟื้นคืนเส้นทางประเทศสมาชิก RCEP ได้แก่ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมืองโอซาก้า และเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งขยายเส้นทางขนส่งข้ามทวีป เช่น ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก โตรอนโต แวนคูเวอร์ และมอสโก เป็นต้น โดยเส้นทางชิงต่าว – โตรอนโต ถือเป็นเส้นทางหลักที่สำคัญของห่วงโซ่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซจีน-แคนาดา
ในปีนี้ (2567) ศูนย์ควบคุมการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ และศูนย์การขนส่งทางอากาศและทางบก จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้การผ่านพิธีการทางศุลกากรและการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรสำหรับการค้าข้ามพรมแดนมีความสะดวกมากขึ้น ลดระยะเวลาจาก 3 – 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 1.3 ชั่วโมง สามารถรับสินค้าและส่งสินค้าได้ภายในวันเดียวกัน นอกจากนี้ เมืองชิงต่าวยังอยู่ระหว่างวางแผนการสร้างศูนย์ขนถ่าย/ขนส่งสินค้าที่สำคัญอีก 3 ด้าน ได้แก่ (1) ศูนย์ขนถ่ายสินค้าทางอากาศภาคเหนือ เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้านำเข้าผลิตภัณฑ์ของสดเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง สัตว์น้ำสำหรับบริโภค เช่น กุ้งก้ามกรามจากแคนาดา และปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ รวมทั้ง ผลไม้ ต้นกล้าพืช และเนื้อสัตว์ ฯลฯ (2) การสร้างระบบขนถ่ายสินค้าพิเศษในภาคเหนือ อาทิ ผลิตภัณฑ์อันตราย และสินค้าที่มีขนาดยาว/ใหญ่เป็นพิเศษ และ (3) การสร้างระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคเหนือ เพื่อรองรับการให้บริการรถบรรทุกจากทั่วทุกภูมิภาคของจีนที่มายังเมืองชิงต่าว การโอนถ่ายสินค้าของสายการบินในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นระบบเครือข่ายการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมต่อกันทั้งในและต่างประเทศ
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
เมืองชิงต่าวเป็นอีกเมืองสำคัญที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ และการคมนาคม ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลซานตง ประชาชนมีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับสูง มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนจากต่างประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่สำคัญติดอันดับโลกและระดับประเทศ อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ตั้งของเขตสาธิต SCO และ RCEP การมีเส้นทางโลจิสติกส์ที่สะดวกและทันสมัยอย่างท่าเรืออัตโนมัติ และเทคโนโลยีการขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือ การเชื่อมต่อระบบขนส่งทางน้ำกับทางราง ทางอากาศกับทางราง ทางน้ำกับทางราง รวมทั้งการควบคุม และพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง
เส้นทางโลจิสติกส์ของเมืองชิงต่าวที่สามารถเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ตรงต่อเวลา ไม่เพียงเป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของจีน แต่ยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตหลักของเมือง อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง อาหารและอาหารทะเลสด/แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าจากไทยมายังเมืองชิงต่าวเป็นปริมาณมาก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยและเมืองชิงต่าวมีความเชื่อมโยงโลจิสติกส์ ‘โดยตรง’ ระหว่างกันไม่มากนัก โดยปัจจุบันมีสายการบินตรงกรุงเทพฯ – เมืองชิงต่าว เพียง 2 สายการบิน การขนส่งทางเรือจากท่าเรือของไทย-ท่าเรือชิงต่าว ขาออกคิดเป็นร้อยละ 1.48 ของการขนส่งทางเรือจากไทยไปจีน และขาเข้าคิดเป็นร้อยละ 3.29 ของการขนส่งทางเรือจากจีนมาไทย และการขนส่งข้ามแดนทางรถยนต์และรถไฟลาว-จีน จากตอนใต้ของจีนมาสู่ตอนเหนือของจีน ซึ่งหากมีการผลักดันการขยายเส้นทางการค้าให้เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้การค้าระหว่างไทย-จีนตอนเหนือ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงขยายโอกาสทางการค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกของโลกได้ด้วย
******************************
แหล่งที่มา
(1)https://baike.baidu.com/item/%E9%9D%92%E5%B2%9B%E6%B8%AF/2470848?fr=ge_ala
(2)https://m.163.com/dy/article/HEGETRAS05229TNA.html?use_xbridge3=true&loader_name=forest&need_sec_link=1&sec_link_scene=im
(3) https://baijiahao.baidu.com/s?id=1786432335414154615&wfr=spider&for=pc
(4) https://baijiahao.baidu.com/s?id=1779541493327991912&wfr=spider&for=pc
(5) https://www.163.com/dy/article/IO1DUMAT0530KEJV.html
(6) https://baijiahao.baidu.com/s?id=1799309810475063428&wfr=spider&for=pc
(7) https://sdxw.iqilu.com/share/YS0yMS0xNTczOTc2MQ==.html
(8) https://www.163.com/dy/article/INHTLK6O0514CFC7.html
(9) https://www.163.com/dy/article/INHTLK6O0514CFC7.html