ที่มา : Free Malaysia Today (FMT)
จากการประชุมคณะกรรมการร่วมการค้าไทย-มาเลเซีย (JTC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยและมาเลเซียได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคี 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (141,290 ล้านริงกิตมาเลเซีย) ภายในปี 2570
ในการประชุม JTC มีนายเทงกู ซาฟรูล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นประธานการประชุม โดยมีการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ยาวนานระหว่างสองประเทศ
ในแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อ กระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) ระบุว่า การค้าระหว่างมาเลเซียและไทยมีมูลค่าเฉลี่ย 24,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (116,470 ล้านริงกิตมาเลเซีย) ต่อปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (2560-2566) โดยมีบันทึกมูลค่าสูงสุดในปี 2565 อยู่ที่ 27,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (130,640 ล้านริงกิตมาเลเซีย)
“แม้การค้าทวิภาคีในปี 2566 จะลดลงเหลือ 24,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (116,940 ล้านริงกิตมาเลเซีย) สอดคล้องกับการค้าโลกที่ชะลอตัว แต่มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในอาเซียน” แถลงการณ์ระบุ
กระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนของมาเลเซีย (MITI) กล่าวว่า หนึ่งในข้อตกลงสำคัญที่ได้ข้อสรุป คือ การจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน เพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าและเพิ่มพูนการเชื่อมโยงระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือและเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร
ทั้งสองประเทศจะร่วมกันขยายความร่วมมือ ในหลายด้านด้วยกัน อาทิเช่น ยางพารา ระบบขนส่งทางบกและการเชื่อมโยงธุรกิจ แฟรนไชส์ เกษตรกรรม และ ด้านดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล ศูนย์ข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ บุคลากรด้านดิจิทัล และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน
อีกทั้งยังมีการตกลงเพิ่มเติมว่ามาเลเซียและไทยจะยังคงร่วมมือกันในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลผ่านกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปี 2568 ทั้งสองประเทศมีความมั่นใจว่าวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2588 และ แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (พ.ศ. 2569-2573) จะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
ข้อตกลงที่เกิดขึ้น ระหว่างการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วมมาเลเซีย-ไทย (JTC) ครั้งที่ 3 ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีศักยภาพในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและผู้ประกอบการของไทยและมาเลเซีย นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปริมาณซื้อขายสินค้าและบริการ ด้วยการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ เข้าสู่ตลาดของทั้งสองประเทศ เมื่อตลาดการค้าขยายตัว อัตราการจ้างงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคการค้า เช่น โลจิสติกส์ การขนส่ง และการผลิต มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในวงกว้าง นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างภาคธุรกิจและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมทุน การลงทุน และการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม อาจมีความท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โครงสร้างพื้นฐาน
ทางการค้าระหว่างมาเลเซียและไทยในปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นจึงมีความจำเป็นในการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า ความแตกต่างในมาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างทั้งสองประเทศอาจเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff trade barriers) และสามารถส่งผลกระทบทางการค้าได้ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์แรงงานในทั้งสองประเทศอาจจำเป็นต้องได้รับการยกระดับทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการของสภาพแวดล้อมการค้าใหม่
ความคิดเห็น สคต.
ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนั้นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย กอปรกับกาแถลงการณ์ในการหารือและเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนข้างต้นจากการประชุม JTC ที่ผ่านมา
สคต. จึงเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในแวดวงดังกล่าวนี้ก็จะสามารถส่งออกสินค้ารวมถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังประเทศมาเลเซียได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฮาลาลที่ยังคงเป็นที่ต้องการในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาข้อมูลตลาด สินค้า และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศมาเลเซียในอนาคต
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์