รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของประเทศชิลี ฉบับที่ 7 ประจำปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจ 

  • เศรษฐกิจของชิลีประจำเดือน พฤษภาคม 2567 ในภาพรวม GDP หดตัวลงจากเดือนเมษายน -1.3% อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถือว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 1.1% การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นที่ 14.3% ส่วนบรรยากาศการลงทุนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อัตราว่างงานปรับลดลงมาอยู่ที่ 8.3% อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 4.1% ส่วนตัวเลขการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นที่ 1.9% ในขณะที่การส่งออกทองแดงซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศชิลีระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นที่ 0.95 ล้านตัน ลดลง -12.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ปริมาณการส่งออกจะลดลง แต่มูลค่าการส่งออกกลับมีทิศทางตรงกันข้าม โดยเพิ่มขึ้น 14.3% รวมมูลค่า 19,877 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาทองแดงในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละด้านประจำเดือนพฤษภาคม 2567 สคต. ณ กรุงซันติอาโก ขอสรุปรายละเอียด ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี )

การบริโภคภาคเอกชนในชิลีในเดือนพฤษภาคม 2567 ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.4% ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 14.3% โดยหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดจาก -11.5% มาอยู่ที่ 1.6% ตามด้วยหมวดอาหาร จาก         -5.0% มาอยู่ที่ 2.3% และหมวดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จาก 9.6%       มาอยู่ที่ 12.2 % โดยการบริโภคสินค้าในสินค้า 3 หมวดดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวชิลีนิยมสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำบาร์บีคิวในช่วงฤดูหนาว ในขณะที่หมวดสินค้าคงทน (รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) ปรับตัวลดลงมากที่สุดจาก 14.0% มาอยู่ที่ -4.0%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2567      มีการปรับระดับลดลง จากเดือนเมษายน 2567 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.8 มาอยู่ที่ 39.6

 

2. การลงทุน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://www.bcentral.cl/)

บรรยากาศการลงทุนในภาครัฐและเอกชนของชิลีประจำเดือน พฤษภาคม 2567 ยังคงอยู่ในช่วงถดถอยเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยสะท้อนจากตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้างในโครงการที่อยู่อาศัย (คิดเป็นตารางเมตร) ลดลง -26.7% จากเดือนเมษายน 2567 และลดลง -37.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปริมาณการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการก่อสร้างลดลง -50.0% การก่อสร้างของภาครัฐลดลง -53.1% ขณะที่การก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมลดลงเช่นกันที่ -53.0% ในส่วนของปริมาณการจำหน่ายสินค้าวัสดุและเครื่องมือในหมวดก่อสร้าง ลดลงจาก -2.3% มาอยู่ที่ -8.2%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมประจำเดือนพฤษภาคม 2567 มีการปรับระดับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 44.1 มาอยู่ที่ 45.3 โดยภาคธุรกิจเหมืองแร่มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงที่สุดที่ 64.14

 

3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://si3.bcentral.cl และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี https://www.ine.gob.cl)

    อัตราการว่างงานของประเทศชิลีในเดือนพฤษภาคม 2567 มีการปรับตัวลดลง โดยอยู่ที่ 8.3% ของจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ หากพิจารณาแยกตามเขตการปกครอง แคว้นที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ แคว้นนูบเล ที่ 10.2% และแคว้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดคือ แคว้นลอสลาโกส ที่ 4.8%

สภาวะเงินเฟ้อของประเทศชิลีในเดือนพฤษภาคม 2567 อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 4.1% ทั้งนี้ สินค้า 3 หมวดแรกที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 3 เดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดการศึกษา (2) ร้านอาหารและโรงแรม และ (3) ที่พักอาศัยและสาธารณูปโภค โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 5.8%, 3.6% และ 3.3% ตามลำดับ

 

4. การส่งออก-นำเข้า (ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี SUBREI – www.subrei.gob.cl)

การส่งออกสินค้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567  มีมูลค่ารวมที่ 41,784 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.9%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่

 

สินค้า ม.ค.-พ.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(66/67)

ปี 2566 ปี 2567
สินแร่ 21,318 23,058 7.8%
ผลไม้ 4,619 5,202 11.9%
เคมีภัณฑ์ 4,689 3,331 -33.9%
ปลาแซลมอน 2,658 2,576 -3.1%
เยื่อกระดาษ 1,468 1,553 5.6%
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 919 887 -3.5%
เฟอร์นิเจอร์จากไม้ 930 880 -5.5%

การนำเข้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 มีมูลค่ารวมที่ 31,742 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -3.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่

 

สินค้า ม.ค.-พ.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(66/67)

ปี 2566 ปี 2567
สินค้าหมวดพลังงาน 19,431 18,645 -4.1%
สินค้าอุปโภคบริโภค 8,862 9,060 2.2%
สินค้าทุน 7,265  6,372 -13.1%
 -รถยนต์เชิงพาณิชย์ 1,020   875 -15.3%
 -เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก่อสร้าง 572            382 -39.8%

จากตัวเลขการส่งออกของชิลีที่สูงกว่าตัวเลขการนำเข้า ทำให้ชิลีได้ดุลการค้า จำนวน 10,042 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

5. การค้าของชิลีกับไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูลสถิติทางการค้าจาก Global Trade Atlas)

ชิลีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม  ถึง เดือนพฤษภาคม 2567 มูลค่ารวม 208.38 ล้านเหรียญสหรัฐ   (ลดลง -13.57% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)  ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • รถยนต์และส่วนประกอบ (58 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -20.23%)
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (43.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -9.95%)
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (62 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.53%)
  • ไข่มุกและอัญมณี (37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.37%)
  • ปลากระป๋อง (14.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -47.09%)

สำหรับตัวเลขการนำเข้าของชิลีจากกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ชิลีนำเข้าจากเวียดนาม 537.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 8.83%)
  • ชิลีนำเข้าจากไทย 208.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -13.57%)
  • ชิลีนำเข้าจากอินโดนีเซีย 147.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 28.71%)
  • ชิลีนำเข้าจากมาเลเซีย 71.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 2.69%)
  • ชิลีนำเข้าจากสิงคโปร์ 39.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 34.52%)

ชิลีส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม  ถึง เดือนพฤษภาคม 2567 มูลค่ารวม 261.58 ล้านเหรียญสหรัฐ  (ลดลง -14.99% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า)  ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ทองแดง (11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -17.05%)
  • เยื่อกระดาษ (17 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81.24%)
  • แซลมอนและอาหารทะเล (39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -39.19%)
  • สินแร่อื่น ๆ (20.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -86%)
  • ผลไม้และผลิตภัณฑ์ธัญพืช (75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -33.22%)

สำหรับตัวเลขการส่งออกของชิลีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่—

  • ชิลีส่งออกไปยังไทย 261.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -14.99%)
  • ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปินส์ 162.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 622.80%)
  • ชิลีส่งออกไปยังเวียดนาม 127.22 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -20.03%)
  • ชิลีส่งออกไปยังมาเลเซีย 92.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -41.31%)
  • ชิลีส่งออกไปยังสิงคโปร์ 69.76 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 144.65%)

มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-ชิลี ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 469.96 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -14.37%)   โดยชิลีส่งออกสินค้าไปยังไทยมากกว่านำเข้าจากไทย ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าที่ 53.20 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

กรกฎาคม 2567

thThai