ราคาน้ำส้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลัก คือ บราซิลผู้ผลิตส้มเพื่อการแปรรูปรายใหญ่ของโลก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลงจากโรคในพืชและปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้ราคานำเข้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ราคาน้ำส้มเข้มข้นและแช่แข็งในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐอมริกา ณ วันที่ 15 สิงหาคม อยู่ที่ 451.60 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ก่อน ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 100 เซ็นต์ต่อปอนด์

สาเหตุหลักของการขึ้นราคา คือ การขาดแคลนน้ำผลไม้ จากผลผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะจากบราซิลที่เป็นแหล่งผลิตหลักของโลก และมีสัดส่วนการครองตลาดถึงร้อยละ 80 เผยการคาดการณ์ว่าผลผลิตในปีนี้จะลดลงร้อยละ 24 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของ “โรคกรีนนิ่งในส้ม” ที่ทำให้ใบเปลี่ยนสีและผลร่วง เช่นเดียวกับความแห้งแล้งที่เกิดจากคลื่นความร้อน ที่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของต้นส้มเช่นกัน

นอกจากบราซิลแล้ว สหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตเป็นอีกหนึ่งผู้ส่งออกน้ำผลไม้รายใหญ่ของโลก ก็เผชิญกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตส้มเช่นกัน โดยเฉพาะในรัฐฟลอริดา แหล่งผลิตส้มหลักที่ได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้การนำเข้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผลผลิตที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาตลาดสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ การส่งออกน้ำส้มของบราซิลประมาณครึ่งหนึ่ง ในปี 2565 ถึง 2566 ไปยังยุโรป ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ดี น้ำส้มที่จำหน่ายในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า จากสถิติการค้าของกระทรวงการคลัง ราคาน้ำส้มนำเข้าปี 2566 อยู่ที่ 491 เยนต่อลิตร สูงกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 52 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มในประเทศ ระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำส้ม หรือขึ้นราคาสินค้าแล้ว โดย Morinaga Milk ประกาศในเดือนเมษายนว่าจะระงับการขายผลิตภัณฑ์น้ำส้ม “ซันคิสต์ ส้ม 100%” (200 มล.) ทันทีที่วัตถุดิบหมด เช่นเดียวกับ Megmilk Snow Brand และ Asahi Soft Drinks ที่ได้ระงับการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแล้ว ตั้งแต่ปี 2566 โดยไม่มีแผนในการกลับมาจำหน่ายอีกครั้ง

เพื่อชดเชยการขาดแคลนน้ำส้มนำเข้า มีการใช้ส้มแมนดารินที่ผลิตในประเทศเพื่อทดแทน อย่างไรก็ตาม ส้มแมนดารินที่ผลิตในญี่ปุ่นมีเพียงประมาณ ร้อยละ 8 เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ในการแปรรูป เนื่องจาก จำหน่ายในรูปแบบผลสดได้ราคาดีกว่า เช่นเดียวกับแนวโน้มการผลิตที่ลดลง ทำให้อุปทานที่นำมาผลิตเป็นน้ำผลไม้มีไม่มากพอที่จะชดเชยการนำเข้าได้

ที่มาข่าว :

https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUB243Y30U4A620C2000000/

https://www.japanfruit.jp/Portals/0/resources/JFF/kokunai/r01chosa_siryo/r01syohi.pdf

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

thThai