รายงานตลาดเชิงลึกแนวโน้มสินค้าอาหารกลุ่ม Plant – based ในตลาดสวีเดน

1. ภาพรวมตลาด
1.1 โครงสร้างประชากร
ปัจจุบันสวีเดนมีประชากรรวม 10.55 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ประมาณ 423,000 โครนสวีเดน/ปี (ประมาณ 1.47 ล้านบาท/ปี) จากผลการสำรวจของหน่วยงาน Business Sweden พบว่า 1 ใน 5 ของชาวสวีเดนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีเป็น vegan หรือ vegetarian ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นความต้องการการบริโภคสินค้า vegan และจากการสำรวจของ Statista พบว่า ในปี 2561 ประมาณร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดเป็น vegetarian (ประมาณ 738,000 คน) และร้อยละ 2 เป็น vegan (คิดเป็นจำนวนประมาณ 211,000 คน)
1.2 มูลค่าตลาดสินค้าอาหาร Plant – based
1.2.1 จากรายงานของหน่วยงาน Organic Denmark ตลาดอาหาร Plant – based และออร์แกนิก ในสวีเดนกำลังเติบโต ถึงแม้ว่าสวีเดนจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อดังเช่นประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่สินค้าอาหาร Plant – based ยังคงมีศักยภาพการเติบโตในปี 2567 นี้
1.2.2 จากผลการสำรวจของ Organic Denmark ที่ดำเนินการโดย Ecovia Intelligence คาดการณ์ยอดขายสินค้าอาหาร Plant – based ในสวีเดนในปี 2567 ว่า จะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 260 ล้านยูโร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปีจนถึงปี 2571
1.2.3 ปัจจุบัน แม้อาหารกลุ่ม Plant – based ที่เป็นออร์แกนิกยังมีสัดส่วนเล็กน้อยเพียงร้อยละ 6.4 ของกลุ่มอาหารออร์แกนิกทั้งหมด (Ecovia Intelligence, 2023) แต่มีแนวโน้มขยายตัว โดยในปี 2567 คาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่ม Plant – based ที่เป็นออร์แกนิก จะมีมูลค่าที่ประมาณ 16.6 ล้านยูโร ขยายตัวร้อยละ 1.22
1.2.4 ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ (Retail chains) มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ และมีแนวโน้มการสั่งซื้อสินค้า Plant – based private – label ที่เป็นออร์แกนิกเพิ่มขึ้นด้วย
1.2.5 กลุ่มอาหาร Plant – based ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสวีเดน ปี 2565 ประกอบด้วย
1) อันดับ 1 ได้แก่ นมจากพืช (ทางเลือกแทนนมจากสัตว์) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 46 ของตลาดอาหาร Plant – based ทั้งหมด โดยประเภทเครื่องดื่มจากพืชที่ขายดีที่สุดในร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านส่วนลด (Mainstream & Discount store) คือ นมข้าวโอ๊ต นมถั่วเหลือง และนมอัลมอนด์ ตามลำดับ ในขณะที่นมจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ กัญชง (Hemp) ถั่วเฮเซลนัท มันฝรั่ง และ peas เป็นเครื่องดื่มที่ขายดี ในร้านค้าเฉพาะทาง (Specialist store)
2) อันดับ 2 ได้แก่ สินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของยอดขายสินค้าอาหาร Plant – based ทั้งหมด ซึ่งในกลุ่มนี้มีทั้งผลิตภัณฑ์แช่แข็ง และแช่เย็น โดยเป็นทางเลือกแทนเนื้อสับ เบอร์เกอร์สำเร็จรูป และไส้กรอก
3) อันดับ 3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทดแทนนม เช่น โยเกิร์ต ชีส เนย และครีม คิดเป็นร้อยละ 12 ของยอดขายสินค้าอาหาร Plant – based ทั้งหมด ซึ่งวัตถุดิบที่ขายดีที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง และมะพร้าว
4) อันดับ 4 ได้แก่ สินค้ากลุ่มไอศกรีม/ขนมหวาน และอาหารพร้อมรับประทาน โดยแต่ละหมวดคิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายสินค้าอาหาร Plant – based ทั้งหมด
1.2.6 ปัจจุบันยังสามารถพบเห็นสินค้าอาหารเอเชียที่เป็น Plant – based ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต mainstream และร้านค้าเอเชีย เช่น น้ำปลา เครื่องแกง และกะทิ
2. พฤติกรรมผู้บริโภค และปัจจัยสนับสนุนตลาดสินค้าอาหารกลุ่ม Plant – based
2.1 พฤติกรรมผู้บริโภค
• ความตระหนักในเรื่องสุขภาพ: ผู้บริโภคชาวสวีเดนเริ่มเห็นความสำคัญของการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเห็นว่าการรับประทานอาหารวีแกนเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
• ความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม: กลุ่มผู้บริโภคในสวีเดนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป การเลือกบริโภคอาหารวีแกนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
• ความใส่ใจในเรื่องสิทธิสัตว์: การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์มีอิทธิพลอย่างมากในสวีเดน ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกอาหารวีแกนเนื่องจากไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการทารุณกรรมสัตว์
• ความต้องการสินค้าในราคาที่จับต้องได้: สินค้าภายใต้แบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ต (private label) เริ่มมีหลากหลายมากขึ้นในช่องทางการจำหน่ายซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เนื่องจากบริษัทค้าปลีกเหล่านี้ต้องการเสนอสินค้ากลุ่มสินค้า Vegan/Plant-based ในราคาประหยัด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ในราคา ที่เหมาะสม
2.2 ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ
• การสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรต่างๆ: รัฐบาลสวีเดนและองค์กรต่าง ๆ ได้ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม และสนับสนุนการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมอาหารวีแกนด้วย เช่น การออกตราสัญลักษณ์ Keyhole จัดทำโดย The Swedish Food Agency (Livsmedelsverket) ซึ่งเป็นตรารับรองสินค้าจากธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
• ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์: ตลาดอาหาร Plant – based ในสวีเดนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อมากมายหลากหลาย ตั้งแต่อาหารสำเร็จรูป ไปจนถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร
• การเข้าถึงข้อมูลและการรับรู้: โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานอาหารวีแกน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว

3. สภาพการแข่งขัน
3.1 แนวโน้มการผลิต
3.1.1 การผลิตอาหารที่เน้นการหมุนเวียน (Circularity) อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหาร Plant-based ได้กลายเป็นจุดสนใจหลักของผู้ผลิตอาหารในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากรายงานของ องค์กร Business Sweden พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีด้านอาหารสวีเดนหลายแห่งต่างมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช โดยใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของสวีเดนแบบดั้งเดิมเป็นส่วนผสม เช่น ข้าวโอ๊ต ถั่วลันเตา และ lupin ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพใหม่ๆ เช่น Stockeld Dreamery สตาร์ทอัพผู้ผลิตชีสจากพืช และ Saveggy บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้สด โดยใช้สารเคลือบที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ
3.1.2 ภาค AgTech (agriculture technology) ของสวีเดนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยได้กำหนดรูปแบบการเกษตรแห่งอนาคตด้วยการใช้ระบบ AI, Internet of Things และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารและการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันสวีเดนมีบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรม AgTech ประมาณ 20 แห่ง เช่น
• Electronix: บริษัทผู้จัดจำหน่ายและให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เซนเซอร์, ตัวควบคุม และอุปกรณ์ไฟฟ้า
• AgroÖst: บริษัทผู้ให้คำปรึกษาและบริการทางการเกษตร รวมถึงการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และอุปกรณ์ทางการเกษตรเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชผล
• BoMill: บริษัทผู้พัฒนาระบบการคัดแยกเมล็ดพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยี NIR (Near-Infrared)ที่สามารถคัดแยกเมล็ดพันธุ์ตามคุณภาพและลักษณะทางเคมี ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ
• Elmia: บริษัทรับจัดงานแสดงสินค้าและงานอีเวนต์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้าทางการเกษตร งานแสดงสินค้าด้านสิ่งแวดล้อม และงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนความรู้ในวงการอุตสาหกรรม
• Handelsbanken: บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินและการธนาคารครบวงจร รวมถึงการเปิดบัญชีเงินฝาก สินเชื่อ การลงทุน และบริการด้านการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลและองค์กร
• Hasta Gård: ฟาร์มที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแบบออร์แกนิก เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม ที่ผ่านการผลิตตามมาตรฐานออร์แกนิกและยั่งยืน
• Hushållningssällskapet: องค์กรผู้ให้คำปรึกษาและบริการด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท เช่น การวิจัยและพัฒนาการเกษตร การให้คำปรึกษาทางเทคนิค และการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
• NitroCapt: บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต
• Novel Agro: บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการฟาร์มและการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการเก็บเกี่ยวและจัดการพืชผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
3.2 บริษัท และแบรนด์สินค้าอาหาร Plant – based ในสวีเดน และจากต่างประเทศ
3.2.1 บริษัทสินค้าอาหาร plant-based ของสวีเดนที่โดดเด่น เช่น Oatly ผู้ผลิตนมจากพืช ซึ่งนอกจากการผลิต และจัดจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปยังทั่วโลกอีกด้วย
3.2.2 แบรนด์ชั้นนำกลุ่มสินค้าอาหาร Plant – based จากต่างประเทศที่จำหน่ายสินค้าในสวีเดน เช่น Naturli’ (เดนมาร์ก) Valio และ Fazer (ฟินแลนด์) Alpro (เบลเยียม) และ Violife (กรีซ) และคาดว่าจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากพืชใหม่ๆ เพิ่มเติมเรื่อยมาในอนาคต ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตสินค้าอาหาร Plant – based ในเครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มักจะสั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต และนอกจากนี้ ยังมีแบรนด์สินค้าอาหาร Plant – based ยอดนิยมอื่นๆ ที่จำหน่ายในร้านค้าเฉพาะทาง (Specialist retailers) ได้แก่ Renée Voltaire, Promavel, Ecomil และ Allos เป็นต้น
4. กฎระเบียบ/มาตรการนำเข้า และมาตรฐานสินค้าที่ควรทราบ และต้องปฏิบัติตาม
สวีเดนเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จึงมีกฎระเบียบนำเข้าเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป โดยสามารถศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ที่ภาคผนวกแนบท้าย
5. ช่องทางการกระจายสินค้าที่อาหาร Plant – based
5.1 ซูเปอร์มาร์เก็ต mainstream และร้าน discount store: เป็นช่องทางการกระจายสินค้าที่มีสัดส่วนสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 65 ของช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหาร Plant – based ทั้งหมด โดยบริษัทค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ (retail sector) ในสวีเดนสามารถแบ่งออกเป็น 3 เครือใหญ่ได้แก่
(1) บริษัท ICA Gruppen AB ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ต ICA Sweden (1,267 สาขา) แบ่งออกเป็น Maxi ICA Stormarknad (88 สาขา) ICA Kvantum (130 สาขา) ICA Supermarket (423 สาขา) ICA nära (626 สาขา)
(2) บริษัท Coop มีซูเปอร์มาร์เก็ต Coop ในเครือจำนวน 819 สาขา และ
(3) บริษัท Axel Johnson มีซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือจำนวน 600 สาขา ประกอบด้วย Hemköp, Willys, Tempo, Urban Deli, Snabbgross, Eurocash, Handlar’n, City Gross และ Matöppet
ทั้งนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้า Vegan/Plant-based และแบ่งกลุ่มสินค้าชัดเจน เพื่อความสะดวกในการเลือกซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ต (private label) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจตลาดค้าปลีกออนไลน์ Hemköp และ Mathem ยังไม่มีการแบ่งสัดส่วนช่องทางสินค้าอาหาร Plant – based อย่างชัดเจน
5.2 ร้านค้าเฉพาะทาง (Specialist retailers): ช่องทางการจำหน่ายร้านค้าเฉพาะทาง (เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของทั้งหมดในสวีเดน อย่างไรก็ดี คาดว่าช่องทางการค้านี้จะไม่เติบโตมากนัก และคาดว่าจะไม่มีการการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางนี้ หากเปรียบเทียบกับการจำหน่ายสินค้า Plant – based ในซูเปอร์มาร์เก็ต mainstream ทั้งนี้ ร้านค้าปลีกเฉพาะทางนี้ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต แต่สั่งซื้อสินค้าผ่านบริษัทค้าส่ง/ผู้นำเข้า
ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้าน life พบว่า มีสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม Plant – based จำหน่ายจำนวน 29 รายการ เช่น เครื่องดื่ม Kombucha, Energy drink ลูกอม คุ้กกี้ ช็อกโกแลต เมล็ดเชีย (Chia) หมากฝรั่ง และน้ำมันกัญชง เป็นต้น โดยจัดจำหน่ายแบรนด์สินค้า Plant – based เช่น Varumärke, Betavivo, Better You, Biotta, Bjäst, Inika Superfoods, Life, Moonvalley, Peppersmith, Pureness, Renée Voltaire, True Gum และ Wellibites เป็นต้น ทั้งนี้ มีจุดเด่นของสินค้าคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เน้นสีสันสดใส และมีความทันสมัย ไม่เน้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิม (Traditional)

5.3 ผู้ให้บริการอาหาร (Catering & Food Service): ประกอบด้วย บริษัทที่จัดจำหน่ายสินค้าอาหารให้กับหน่วยงานรัฐบาล บาร์ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหาร Plant – based ทั้งหมด โดยปัจจุบันผู้ให้บริการอาหารเพิ่มเมนู อาหาร Vegan/Plant – based ในเมนู มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

6. บทวิเคราะห์โอกาสของสินค้าไทย
• กลุ่มสินค้าอาหาร Plant – based จากไทยสามารถพัฒนาได้หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน แกงแดง ผลไม้อบแห้ง อาหารแปรรูป ซอส และเครื่องปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องดื่ม น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว ขนมขบเคี้ยว และไอศกรีม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังมีช่องว่างทางการตลาดในสวีเดนสำหรับสินค้าใหม่ๆ จากผู้ประกอบการไทย
• สินค้าเครื่องปรุงรส หรือเครื่องแกงจากไทยหลายรายการอาจเป็นสินค้า Plant – based/Vegan อยู่แล้ว การขอใบรับรอง หรือการระบุการเป็นสินค้า Vegan อาจช่วยดึงดูดผู้บริโภคได้มากขึ้น
• กลุ่มสินค้า Plant – based ในตลาดสวีเดนที่พบเห็นยังชูจุดเด่นด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการชูจุดเด่นด้านการเป็นสินค้าอาหารออร์แกนิก ปราศจากกลูเต็น อาหารเพื่อสุขภาพ ปราศจากน้ำตาล ไม่มีส่วนผสมสังเคราะห์ นอกจากนี้ สินค้าส่วนใหญ่ยังเน้นความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต เช่น การช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ พลาสติกรีไซเคิล และผลิตภัณฑ์รีไซเคิลอื่นๆ เป็นต้น
• จากการสังเกตสินค้าพี่พบในตลาดค้าปลีกสวีเดน สินค้าอาหารกลุ่ม Plant – based มักมีตราสัญลักษณ์ออร์แกนิกควบคู่กันด้วย คือ ตราสัญลักษณ์ EU Organic logo และ KRAV และการใช้ตราสัญลักษณ์ The Nordic Keyhole scheme ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นสินค้าที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติดีต่อสุขภาพ การพัฒนาสินค้าเพื่อให้เป็นทั้งสินค้าออร์แกนิก อาหารเพื่อสุขภาพ และ Plant – based ควบคู่กันสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดได้
•นอกจากนี้ ยังสามารถรับจ้างผลิตสินค้าสำหรับเครือซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ private label

ภาคผนวก
1.กฎระเบียบที่บังคับใช้เป็นกฎหมาย
•สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดเกี่ยวกับสุขอนามัยของอาหารและอาหารสัตว์ ความปลอดภัยของผู้บริโภคและสุขภาพสัตว์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่า การนำเข้าทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของสหภาพฯ ซึ่งแนวทางในการควบคุมการนำเข้าจะแตกต่างกันไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์
• ในการนำเข้าอาหารของสหภาพฯ ผู้ประกอบธุรกิจอาหารจะต้องปฏิบัติตามหลักการด้านอาหารทั่วไปของกฎหมายอาหารที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบ Regulation (EC) No. 178/2002 of 28 January 2002 layind down the general principles and requirements of food law, establishing the European Food Safety Authority and laying down procedures in matters of food safety ซึ่งควบคุมการนำเข้าอาหารโดยทั่วไป
• หลักการทั่วไปและข้อข้อกำหนดหลักการทั่วไปและข้อกำหนดของอาหารและขั้นตอนด้านความปลอดภัยของอาหารภายใต้ Regulation (EC) No 178/2002 เช่น
o มาตรา 11 อาหารและอาหารสัตว์ที่นำเข้าและวางจำหน่ายในตลาดสภาพต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของกฎหมายเกี่ยวกับอาหารหรือเงื่อนไขที่ได้รับการยอมรับโดยสภาพ อย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับพ่อกำหนดอย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับข้อกำหนดภายใต้ความตกลงระหว่างสภาพกับประเทศผู้ ส่งออก ดังนั้นการนำดังนั้นการนำเข้าทั้งหมดต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากประเทศสมาชิกสหภาพ
o มาตรา 14 ข้อกำหนดข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาหาร เช่น ห้ามวางอาหารในตลาดหากไม่ปลอดภัยอาหารถือว่าไม่ปลอดภัยหากได้รับพิจารณาอย่างอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เหมาะสำหรับห้ามวางอาหารในตลาดหากไม่ปลอดภัยอาหารถือว่าไม่ปลอดภัยหากได้รับพิจารณาอย่างอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เหมาะสำหรับ การบริโภคของมนุษย์ในกรณีที่พบอาหารที่ไม่ปลอดภัยบางส่วนของล็อตจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาหารทั้งหมดในล็อตก็ไม่ปลอดภัยเช่นกันเว้นแต่จะมีการประเมินโดยละเอียด เป็นต้น
o มาตรา 18 การตรวจสอบย้อนกลับ กำหนดระบบในการตรวจสอบย้อนกลับตรห่วงโซ่การผลิต
o มาตรา 19 กำหนดความรับผิดชอบเกี่ยวกับผู้นำเข้าอาหารในการพิจารณาหรือมีเหตุผลที่จะเชื่อหากอาหารที่นำเข้ามานั้นเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของอาหารผู้นำเข้าเป็นผู้รับผิดชอบในการถอดอาหารที่เป็นปัญหาออกจากตลาดโดยทันทีและแจ้งหน่วยงานผู้มีอำนาจ
• กฎระเบียบการกล่าวอ้างทางโภชนาการและทางสุขภาพของสหภาพยุโรป (The nutrition and health claim regulation: NHCR) ว่าด้วยการใช้ข้อความสื่อสารเชิงพาณิชย์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือทางสุขภาพจากอาหาร โดยการกล่าวอ้างดังกล่าวจะต้องชัดเจน ถูกต้องและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ กฎระเบียบนี้มีผลบังคับใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสูง และสนับสนุนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดในสหภาพยุโรปถูกเผยแพร่ไว้ในภาคผนวกของกฎระเบียบ NHCR ส่วนการกล่าวอ้างทางสุขภาพต้องผ่านการประเมินผลทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป (EFSA) และได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อการกล่าวอ้างด้านสุขภาพที่ได้รับอนุญาตในสหภาพฯ
• ข้อกำหนดข้อกำหนดการติดฉลากบรรจุภัณฑ์
o ระเบียบในการให้ข้อมูลและติดฉลากอาหาร (Food Information Regulation) Regulation (EU) No. 1169/2011 of the European Parliament and of the Council of 25 October 2011 on the provision of food information to consumers) กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มต้องพิมพ์ข้อมูลที่จำเป็น (mandatory information) ประกอบด้วย (1) คุณภาพทางโภชนาการ (Nutrition value) (2) ระบุแหล่งประเทศที่มาของสินค้าอาหาร (mandatory country of origin labeling) (3) ระบุสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ (information on allergens) ลงบนฉลากของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป
o กฎระเบียบ Comission Implementing Regulation (EU) 2018/775 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 กำหนดให้ธุรกิจอาหารต้องติดฉลากอาหารตามประเทศต้นทาง หรือแหล่งที่มาของส่วนผสมหลักและบังคับใช้ควบคู่ไปกับกฎระเบียบข้อมูลอาหารของสภาพยุโรป (1169/2011) หากผลิตภัณฑ์ทำจากส่วนหลายชนิด ต้องระบุแหล่งที่มาสำหรับส่วนผสมที่เป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์มากกว่า 50%

• กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR: Deforestation – Free Products Regulations):
o กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยไม่อนุญาตให้มีการวางจำหน่ายสินค้าเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หรือป่าเสื่อมโทรม และมีการผ่อนผันให้สำหรับบริษัทขนาดเล็ก โดยจะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทขนาดเล็กตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป
o ข้อกำหนดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมือกับการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าผิดกฎหมายและจากการขยายตัวทางการเกษตร โดยครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 7 รายการ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ ถั่วเหลือง กาแฟ และโกโก้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งพิมพ์ และอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม เช่นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการตรวจสอบย้อนกลับถึงพื้นที่ที่ใช้ในการปลูกและเก็บเกี่ยว
o กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับภาคบังคับในช่วงการเก็บเกี่ยวและการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในสหภาพว่าสินค้าดังกล่าวไม่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมสภาพ รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอาทิ ตรวจสอบการเคารพสิทธิในฉันทานุมัติที่ได้รับการรับรู้บอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระของชนชาวพื้นเมือง โดยครอบคลุมทั้งสินค้าที่ผลิตในสหภาพฯ และสินค้าที่ผลิตในประเทศสาม
o คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดกลุ่มประเทศตามระดับความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งเป็นสามระดับ ได้แก่ สูง กลาง และต่ำ เพื่อเป็นการกำหนดระดับภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศสมาชิกฯ ในการตรวจสอบและควบคุมสำหรับแต่ละกลุ่มความเสี่ยงโดยเพิ่มระดับการตรวจสอบสำหรับในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และการตรวจสอบอย่างย่อสำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับการตรวจสอบของกลุ่มประเทศที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง (ทั้งนี้ ทุกประเทศจะจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลางเมื่อระเบียบมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดทำการจำแนกกลุ่มความเสี่ยงเสร็จ)
o กำหนดค่าปรับตามสัดส่วนของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าสินค้าโดยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของรายได้รายปีในสภาพของผู้ประกอบการรวมทั้งการไม่ให้เข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการเข้าถึงเงินทุนสาธารณะ
2.มาตรการที่ไม่ใช่ข้อบังคับเป็นกฎหมาย
มาตรการตามความสมัครใจที่ไม่ได้เป็นข้อบังคับที่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ plant-based food สามารถจัดหาได้ ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดผู้บริโภคเนื่องจากสะดุดตา และเป็นที่ยอมรับ เช่น
2.1 เครื่องหมาย V-label จัดทำโดยบริษัท V-Label GmbH โดยแบ่งเกณฑ์สินค้า plant-based ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ Vegan และ Vegetarian ปัจจุบันใช้ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เช่น สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย โครเอเชีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ชิลี เม็กซิโก สหรัฐ เอเชีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โอเชียเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกา และแอฟริกาใต้ ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครขอรับตราฯ สามารถดำเนินการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อขอรับตราได้ที่เวปไซต์ https://www.v-label.com/get-certified/ โดยบริษัท V-Label GmbH จะตรวจสอบข้อมูลบริษัท และสินค้าต่างๆ และตอบกลับในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ การขอรับตรา V-label มีค่าธรรมเนียมรายปี (annual licensing fee) และค่าตรวจสอบสินค้า (one-off inspection fee) ซึ่งราคาจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละกรณี รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ www.v-label.com
2.2 เครื่องหมาย KRAV จัดทำโดยบริษัท KRAV Ekonomisk förening ซึ่งเป็นตรารับรองสินค้าออร์แกนิกของสวีเดน ทั้งนี้ การขอรับตรา KRAV มีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันออกไปตามแต่ละกรณี รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ https://www.krav.se
2.3 เครื่องหมาย Keyhole จัดทำโดย The Swedish Food Agency (Livsmedelsverket) ซึ่งเป็นตรารับรองสินค้าอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น มีปริมาณน้ำตาล และ/หรือเกลือต่ำ มีปริมาณกาก และเส้นใยอาหารมาก เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีปริมาณไขมันน้อย และอื่นๆ โดยตราเครื่องหมายนี้ได้รับการยอมรับ และใช้ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิทัวเนีย และมาซิโดเนีย ครอบคลุมกลุ่มสินค้าจำนวน 32 กลุ่มในหมวดหมู่หลักเหล่านี้
• ผัก ผลไม้ เบอร์รี่ และถั่ว
• แป้ง ธัญพืช และข้าว
• ข้าวต้ม ขนมปัง และพาสต้า
• นม และผลิตภัณฑ์จากนม
• ชีส และผลิตภัณฑ์เทียบเท่า
• ที่ทำขนมปัง และน้ำมัน
• ปลา และผลิตภัณฑ์ประมง
• เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
• ผลิตภัณฑ์ผัก
• อาหารพร้อมรับประทาน
• น้ำสลัด และซอส

thThai