แผนที่จีนตะวันตก
(แหล่งที่มา : https://hynews.zjol.com.cn
ปรับโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู)
แนวคิดการบริโภคและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ของจีนจะมีความแตกต่างกันไปตาม ภูมิประเทศและเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ เมื่อพิจารณาผู้บริโภคในพื้นที่ตอนในและภาคตะวันตกของจีนจะพบว่า ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองมีแนวคิดและพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากผู้บริโภคที่อยู่ในชนบทมากพอสมควร ดังนี้
- ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันตกของจีน ดังนั้น จึงทำให้ผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ดี มีคุณภาพและราคาสูง ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นดังนี้
1.1 นิยมบริโภคสินค้าและกล้าใช้เงิน ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ชอบชีวิต Slow -life และมีความผ่อนคลาย จึงไม่ได้นำเงินที่หามาได้เก็บไว้ทั้งหมด แต่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ดื่ม กินและเที่ยว ที่สามารถสร้างความสุขให้กับตนเอง
1.2 บริโภคสินค้าตามความรู้สึกและตัดสินใจเร็ว ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าตามความรู้สึกของตนเองและตัดสินใจซื้อสินค้าค่อนข้างเร็ว โดยสิ่งสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือ สิ่งที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก อาทิ สีสัน บรรยากาศ ภาษา และภาพลักษณ์ เป็นต้น ดังนั้น ธุรกิจหรือแบรนด์ที่ต้องการขยายตลาดในพื้นที่ดังกล่าว จึงไม่ควรละเลยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าว
ย่านการค้า Taikoo Li นครเฉิงตู
(แหล่งที่มา : www.sohu.com/a/446411784_456189)
1.3 มีความอยากรู้อยากเห็น และความภักดีในตราสินค้าไม่สูง ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ส่วนใหญ่ค่อนข้างอยากรู้อยากเห็น ชอบความคึกคัก และชอบสิ่งแปลกใหม่ เห็นได้จากการรุมล้อมซื้อสินค้าในศูนย์การค้าต่างๆ หรือการเข้าไปต่อคิวซื้อสินค้าที่มีคนต่อคิวจำนวนมาก นอกจากนี้ หากมีสินค้าแปลกใหม่เข้าสู่ตลาด ผู้บริโภคในท้องถิ่นก็จะลองซื้อไปบริโภค และอาจเปลี่ยนสินค้าไปเรื่อยๆ หากมีสินค้าใหม่ที่ดีกว่า จึงทำให้ความภักดีที่มีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งค่อนข้างต่ำ
ตลาดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร (แหล่งที่มา : www.cqrb.cn)
1.4 นิยมบริโภคเป็นครอบครัว ผู้บริโภคในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่งที่มีครอบครัว จะนิยมบริโภคร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดตามเทศกาลต่างๆ จะออกไปทานข้าวนอกบ้าน ไปช้อปปิ้งกันทั้งครอบครัว และไปเที่ยวนอกเมืองกันเป็นครอบครัว เป็นต้น
1.5 ค่อนข้างยอมรับวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ยอมรับสินค้าที่เป็นของต่างชาติได้ง่าย อีกทั้งยังเห็นว่าสินค้านำเข้าและสินค้าแบรนด์ต่างชาติมีคุณภาพสูง และคุ้มค่าที่จะซื้อสินค้าเหล่านี้ จึงทำให้สินค้านำเข้ากลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคท้องถิ่น
- ผู้บริโภคในเขตชนบท เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่าผู้บริโภคในเมือง ดังนั้น จึงทำให้ผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างระมัดระวังกับการบริโภค โดยมีลักษณะพิเศษดังนี้
2.1 ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมูลค่าสอดคล้องกับการใช้สอย กล่าวคือ เนื่องจากผู้บริโภคที่อยู่ในชนบทส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่สูง จึงค่อนข้างเลือกบริโภคสินค้าที่มีราคาสอดคล้องกับประโยชน์ที่จะได้รับ และคิดว่าแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ใช้สอยของสินค้า ดังนั้น ธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงค่อนข้างแข่งขันกันด้วยความคุ้มค่าของสินค้า
2.2 ค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา ความอ่อนไหวต่อราคาของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองกับชนบทมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคในพื้นที่ตอนในและภาคตะวันตกของจีนที่อยู่ในชนบทส่วนใหญ่จะค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา จึงมีพฤติกรรมเปรียบเทียบราคาสินค้าจากหลายๆ ร้าน และคิดทบทวนถึงความคุ้มค่าของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ
2.3 ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เล่าต่อจากปากต่อปาก โดยการเล่าต่อจากปากต่อปากมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในเขตชนบาทไม่น้อย โดยเฉพาะในขณะที่ผู้บริโภคยังไม่มีข้อมูลของสินค้าและยังไม่เข้าใจรายละเอียดของสินค้าเท่าที่ควร ดังนั้น ความเห็นที่ได้จากญาติ เพื่อน เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน จึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
พื้นที่ทางตะวันตกของจีนมีประชากรจำนวนมาก (ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐบาลจีนในปี 2564 ประชากรชาวจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกอยู่ที่ประมาณ 380 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27.12 ของประชากรทั้งหมดของจีน) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนตะวันตกได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และความต้องการต่อสินค้าและบริการต่างๆ ของผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับปานกลางกำลังเติบโตอย่างเรื่อยๆ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีคุณภาพดี ความเป็นแบรนด์ และมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2566 ผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายใช้สอยในย่านการค้าถนนชุนซีในนครเฉิงตูมีจำนวนสูงถึง 110 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 (YoY) และเกิดมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 89 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 (YoY) ขณะที่ในช่วงวันหยุดปีใหม่ของปี 2567 ยอดขายห้างสรรพสินค้าทั้งหมดในย่านการค้าเจียฟ่างเปยของนครฉงชิ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.35 (YoY) ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การบริโภคในพื้นที่จีนตะวันตกมีศักยภาพค่อนข้างสูงและยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
กรกฎาคม 2567
แหล่งข้อมูล :
https://www.toutiao.com/article/7324238879207866917?
source=m_redirect&wid=1721790986000