สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ว่าสาธารณรัฐอิรักได้กลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลห้ามปลูกข้าวมาเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากขาดแคลนน้ำ และอยู่ในระหว่างการทดสอบพันธุ์ข้าวที่ใช้น้ำน้อยกว่าพันธุ์ที่ปลูกโดยทั่วไป นาย Mahdi Sahar Al-Jubouri รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ อิรัก กล่าวว่ารัฐบาลได้จัดสรรพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร (58 ตารางไมล์) สำหรับการปลูกข้าวในฤดูกาลนี้ คาดว่าผลผลิตจะได้ประมาณ 150,000 ตัน เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ขึ้นจากปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว และแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำไหลมาจากประเทศตุรเคียเพิ่มมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอิรักออกคำสั่งห้ามปลูกข้าวเป็นเวลาสองปี แต่อนุญาตให้ปลูกข้าวบนพื้นที่เพียง 5 ถึง 10 ตารางกิโลเมตรต่อปี อันเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้แม่น้ำสายหลักในประเทศ (ไทกริสและยูเฟรทีส) มีปริมาณน้ำลดลง จากการสร้างเขื่อนที่ต้นแม่น้ำใน ตุรเคียและอิหร่าน การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ปริมาณน้ำาฝนที่ลดลง รวมทั้งปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศอื่น ๆ
อิรักเป็นหนึ่งในประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผลแห้ง เกษตรกรดูดน้ำจากอ่างเก็บน้ำบนแม่น้ำไทกริส ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญที่สุดของอิรักไปใช้ทำการเกษตร ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำลดลงเรื่อย ๆ
การผลิตและการนำเข้า
หลายสิบปีที่ผ่านมาอิรักปลูกข้าวเองเป็นส่วนใหญ่ สามารถส่งออกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ รวมทั้งอิรักเคยเป็นผู้ส่งออกอินทผลัมรายใหญ่ที่สุดของโลก จนกระทั่งประสบปัญหาดินเค็ม ระบบชลประทานที่ไม่ดี ภัยแล้ง และความขัดแย้งที่ยาวนานหลายทศวรรษ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทำให้ประเทศกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดโลก ปัจจุบันอิรักเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าข้าวและข้าวสาลี 10 อันดับแรก
ของโลก โดยนำเข้าเพื่อใช้ในโครงการปันส่วนอาหารขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตผู้ปกครองประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน โดยเจ้าหน้าที่ของ Grain Board หน่วยงานรับผิดชอบการนำเข้าธัญญพืชกล่าวเสริมว่า ปีนี้อิรักยังคงต้องนำเข้าข้าวปริมาณประมาณ 1.25 ล้านตันเท่ากับปีที่แล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ
ข้าวพันธุ์ลูกผสม
การปลูกข้าวในอิรักโดยปกติจะเริ่มในเดือนมิถุนายนและสิ้นสุดด้วยการเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ Amber และพันธุ์ Jasmin ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งความหมายคำว่า Amber ในภาษาอาระบิกหมายถึงกลิ่นหอมมากคล้ายน้ำหอม เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เกษตรชาวอิรักได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ Ghiri ซึ่งเป็นข้าวลูกผสม (Hybrid Rice) ระหว่างข้าวสายพันธุ์แท้ Amber และสายพันธุ์ Jasmine ทดลองปลูกโดยใช้ระบบให้น้ำแบบสเปร์ย์ แทนการปลูกข้าวแบบน้ำขัง ในฤดูกาลนี้ได้ปลูกข้าว Ghiri ในแปลงทดลองขนาดเล็ก หลังจากได้รับการทดสอบที่สถานีวิจัย Al-Mishkhab เมื่อปีที่แล้ว และมีแผนที่จะขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นในฤดูกาลหน้า
รัฐบาลมีเป้าหมายให้การทำเกษตรเปลี่ยนจากวิธีการชลประทานดั้งเดิมแบบน้ำขัง ไปใช้ระบบชลประทานแบบคงที่ ใช้เครื่องหว่านเมล็ดเชิงกล เกษตรกรที่ใช้วิธีการเกษตรสมัยใหม่ เช่น ระบบชลประทานแบบสปริงเกอร์ จะได้รับแรงจูงใจคล้ายกับการสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวสาลี เช่น การยกระดับราคาสินค้าเกษตร
สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวปี 2567 นี้ กระทรวงเกษตรอนุญาตให้ปลูกข้าวใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด Najaf, Diwaniyah, Muthanna, Dhi Qar และ Babel สำหรับจังหวัด Najaf ได้รับการจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด บนพื้นที่ประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 37 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรทั่วประเทศ โดยพันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวพันธุ์ Amber ข้าวพันธุ์ Jasmine และข้าวพันธุ์ Euphrates
คณะกรรมาธิการด้านน้ำ การเกษตร และลำคลองของรัฐสภาอิรักระบุว่า ฝนที่ตกชุกในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา รวมถึงสัญญานจากรัฐบาลตุรเคียที่จะปล่อยจากแม่น้ำไทกริส แม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งมีต้นกำเนิดจากตุรเตีย ทำให้อิรักสามารถฟื้นฟูการปลูกข้าวในอิรักได้มากขึ้น ปีต่อไปจะให้ความสำคัญกับการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ อาทิ ระบบน้ำหยดช่วยให้สามารถปลูกข้าวได้มากกว่าหนึ่งรอบ รากข้าวจะไม่จมอยู่ใต้น้ำ ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยและลดปริมาณน้ำที่ซึมลงสู่ดิน ลดผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อม เพราะการปลูกข้าวแบบน้ำขังก่อให้เกิดปริมาณก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้มากถึง 25% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศีกษาทดลอง คาดว่าจะสามารถขยายพื่นที่เพาะปลูกถึง 1000 ตารางกิโลเมตร
ความเห็นของ สคต. ดูไบ
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาควบคุมเงินสํารองของอิรักมากกว่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านรายได้จากน้ำมันและธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ สิ่งที่ทําให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้นคือนักวิเคราะห์ระบุว่ารัฐบาลอิรักในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่เบื้องหลังได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและกลุ่มอื่นๆ ที่ประสงค์จะควบคุมเศรษฐกิจอิรักรวมถึงธนาคารที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งฟอกเงินส่งให้อิหร่านและกลุ่มอื่นๆมาเป็นเวลานาน
ตามรายงานของ Reuters เมื่อต้นปีนี้ว่าสํานักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury Department’s Office of Foreign Assets Control) ได้สั่งห้ามธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง (ปีก่อนหน้าห้ามธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง) ในอิรักซื้อขายเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการลักลอบนำเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯไปยังอิหร่าน ข้อจำกัดนี้ส่งผลกระทบนำเข้าสินค้าและสั่งซื้อข้าว
การค้าข้าวระหว่างไทย-อิรัก
ในช่วงปี 2565-2566 ไทยส่งออกข้าวไปอิรักมีปริมาณและมูลค่ามากอันดับแรก ต่อมาในปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) ปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ประเภทข้าวที่ใช้ส่งออก ได้แก่ ข้าวขาว (สัดส่วน 98.5%) ข้าวหอมมะลิ (สัดส่วน 1.5%) โดยมีรายละเอียดการส่งออกดังนี้
ไทยส่งออกข้าวไปอิรัก | 2565 | 2566 | 2566 (ม.ค. – พ.ค.) | 2567 (ม.ค. – พ.ค.) |
มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ | 657 | 419 | 282 | 227 |
อัตราการขยายตัว (%) | 411.49 | -36.16 | 67.26 | -19.44 |
ปริมาณ : ตัน | 1,600,163 | 853,784 | 592,733 | 363,438 |
อัตราการขยายตัว (%) | 458.37 | -46.64 | 42.96 | -38.68 |
ที่มา: กรมศุลกากร โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
————————————-