ยุทธศาสตร์ชาติสาธารณรัฐเช็กด้านปัญญาประดิษฐ์ ปี 2030

รัฐบาลสาธารณรัฐเช็กได้อนุมัติยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงธุรกิจ การศึกษา และการบริหารสาธารณะ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกาศเมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐเช็ก (Ministry of Industry and Trade: MPO) กล่าวถึงลำดับความสำคัญและมาตรการที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของประเทศจนถึงปี 2030 ซึ่งองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการนำเสนอแผนปฏิบัติการต่างๆ เช่น โปรแกรมให้ทุนสนับสนุนใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนระบบปัญญาประดิษฐ์ “วิสัยทัศน์ของเราคือการให้สาธารณรัฐเช็กเป็นผู้ใช้และผู้สร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง ยุทธศาสตร์นี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนั้นและมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์ของปัญญาประดิษฐ์จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม” Mr.Jozef Síkela (นายโจเซฟ ซิเกลา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากล่าว

 

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ 7 ด้านที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ การศึกษา อุตสาหกรรม บริการสาธารณะ วิทยาศาสตร์ ตลาดแรงงาน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความไว้วางใจของสาธารณะ ในด้านการศึกษา เอกสารดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสนับสนุนการฝึกอบรม การเรียนรู้ และการป้องกันการกีดกันทางดิจิทัลในตลาดแรงงาน สำหรับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับแอปพลิเคชัน AI ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนในวงกว้าง MPO ได้หารือกับตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน “เราได้หารือออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางปฏิบัติจากประเทศเหล่านี้” Petr Očko ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและนวัตกรรมของ MPO กล่าว

 

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเทคโนโลยี AI ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำ AI ไปใช้ในภาคส่วนต่างๆให้ประสบความสำเร็จ และได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน โดย MPO ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารและการศึกษาเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ สำหรับการดำเนินการของรัฐบาลเช็กในการใช้ยุทธศาสตร์ AI แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI โดยการมุ่งเน้นทั้งการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพทั้งหมดของเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนี้

 

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน เห็นว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้จะส่งผลต่ออนาคตของตลาด แรงงานและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการทำงาน โดยงานมากถึงร้อยละ 50 อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรืออาจหายไปภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยงานประจำในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิต เกษตรกรรม และการขาย จะเป็นงานแรกที่เปลี่ยนไป แม้แต่งานที่ใช้ความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น ธนาคารและประกันภัย ก็มีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงระดับปานกลาง

 

ทั้งนี้ Ondrej Hanuš จาก ITjede.cz กล่าวว่า “รัฐบาลควรกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการอบรมหลักสูตร AI และบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องมีพนักงานที่เตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันความสนใจในหลักสูตรฝึกอบรมใหม่ที่เน้นทักษะเหล่านี้ยังคงน้อย” นอกจากนี้ Tomáš Dombrovský จาก Alma Career กล่าวว่ายังคงมีคนที่มีทักษะดิจิทัลไม่เพียงพอ แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้คนหลายแสนคนจะเข้ารับการอบรมหลักสูตรเหล่านี้” เขากล่าว “สถานการณ์ในตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป และความต้องการทักษะเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

บริษัทจัดหางานระหว่างประเทศ ManpowerGroup กล่าวกับ Expats.cz ว่า AI จะเปลี่ยนตลาดแรงงานของสาธารณรัฐเช็กด้วยการสร้างงานเฉพาะทางใหม่ๆ ที่แตกต่าง โดยเน้นที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี “ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลไปจนถึงวิศวกรเครื่องจักร ได้แซงหน้าอุปทานของบุคลากรที่มีคุณสมบัติไปมากแล้ว” โดยกระทรวงแรงงานประมาณการว่าภายในปี 2030 งานมากกว่าร้อยละ 90 จะต้องอาศัยทักษะดิจิทัลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 54 “คนงานมากถึง 2 ล้านคนจะต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพิ่มเติม”

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เติบโตและได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และนำมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด และการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตต่อไป

thThai