(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2567)
เมื่อไม่นานมานี้ ผลไม้เคลือบน้ำตาลอย่าง “ถังหูลู่” และขนมเกาหลีในตำนานที่เป็นเยลลี่ที่ทำจากถั่วแดงอย่าง “ยางแกง” คือตัวเลือกยอดฮิตสองอันดับแรกสำหรับทาสรักขนมหวานในเกาหลี ด้วยสีสันสดใสและรสชาติแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ถังหูลู่ได้รับความโด่งดังในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม จนทำให้ใครหลายๆ คน ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่าง เจนนี่ BLACKPINK โพสต์คลิปวิดีโอที่ตนเองทำขนมหวานยอดฮิตนี้ทานเองที่บ้าน และสำหรับขนมยางแกงที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเพลง “Bam Yang Gang” (sweet, chestnut, jelly) ของศิลปินเกาหลีชื่อดัง “BIBI” ที่ปล่อยมาในเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้นครองท็อปชาร์ตในสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มนานหลายสัปดาห์
แต่ล่าสุด กลุ่มคน Millenials และ Gen Z ชาวเกาหลีใต้เริ่มหันไปให้ความสนใจขนมหวานชนิดใหม่ เช่น ช็อคโกแลตดูไบ ไอศกรีมโยเกิร์ต และครูกี้ (Crookie) ซึ่งเป็นขนมที่เกิดจากการรวมกันระหว่างครัวซองต์และคุกกี้ เพื่อเติมเต็มความต้องการในของหวานของตนเอง
ช็อคโกแลตดูไบ เป็นขนมช๊อคโกแลตที่ด้านในสอดไส้ด้วยถั่วพิสตาชิโอและคาตาฟีทอด ซึ่งเป็นขนมอบขึ้นชื่อจากตะวันออกกลางและเมดิเตอเรเนียน กลายเป็นปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดีย โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากแชร์วิดีโอของตนเองขณะลิ้มลองช็อคโกแลตแสนอร่อยชนิดนี้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากขนมหวานยี่ห้อ Fix Dessert Chocolatier จากประเทศดูไบ ซึ่งร้านเบเกอรี่และโรงงานทำขนมในเกาหลีใต้มีการนำสูตรมาปรับเปลี่ยนตามแบบฉบับของตนเอง เพื่อให้รสชาติถูกปากชาวเกาหลีมากขึ้น โดยช็อกโกแลตนี้สามารถหาซื้อได้ในร้านขายช็อกโกแลต โฮมเมดและร้านสะดวกซื้อทั่วไปในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความต้องการการบริโภคช็อกโกแลตดูไบมีมากกว่าจำนวนสินค้าในตลาดหลายเท่า ร้านสะดวกซื้อ CU ซึ่งปกติขายช็อกโกแลตนี้ในราคา 4,000 วอนหรือราว 3 ดอลลาร์ เปิดเผยว่าขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสินค้าขาดแคลนในคลังอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ ช็อกโกแลตดูไบจึงถูกขายในราคา 6,000-10,000 วอนที่ตลาดดังกึน ซึ่งเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
การตามล่าหาช็อกโกแลตนี้ส่งผลให้หลายคนหันไปซื้ออุปกรณ์ทำช็อกโกแลตเองทางออนไลน์ หรือหันไปหาทางขนมอื่นๆ เช่น คุกกี้ช็อกโกแลตสไตล์ดูไบ ฟีน็องซีเย และเค้กสี่เหลี่ยมหรือเค้กรูปไข่ โดยความต้องการนี้ก่อให้เกิดการดีดตัวขึ้นของราคาถั่วพิสทาชิโอเป็นสองเท่าในเกาหลี จากราคา 30,000 วอนต่อกิโลกรัม เป็นมากกว่า 50,000 วอนต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเทรนด์ขนมหวานยอดฮิตคือ ไอศกรีมโยเกิร์ต ที่เสิร์ฟพร้อมท็อปปิ้งต่างๆ เช่น ผลไม้ ชีส ไปจนถึงเมล็ดธัญพืช ไอศกรีมโยเกิร์ตสุดแสนน่ากินนี้กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียหลังจากที่อินฟลูเอนเซอร์และคนดังหลายคน ไม่เว้นแม้แต่ แฮวอน แห่งวง NMIXX ได้อัปโหลดโพสต์เกี่ยวกับท็อปปิ้งที่พวกเขาชื่นชอบเพื่อชักชวนให้เหล่าผู้ติดตามได้ไปลิ้มลองความอร่อยนี้ด้วย
เนื่องจากโยเกิร์ตมีโปรตีนและแคลเซียมสูง จึงถูกเชื่อว่าเป็นขนมที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับขนมหวานชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในแบรนด์ไอศกรีมที่โด่งดังมากที่สุดในเกาหลีอย่าง Yaojung จึงนำประโยชน์นี้มาใช้เป็นจุดแข็งในการโปรโมตไอศกรีมของตนเอง จนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลาย โดยในปี 2567 ร้าน Yaojung ได้ขยายสาขาเพิ่มทั่วประเทศเป็น 350 แห่ง จาก 166 แห่งในปี 2566
ครูกี้จากฝรั่งเศส หรือครัวซองต์โปะด้วยคุกกี้ช็อกโกแลตชิปด้านบน ก็กำลังได้รับความนิยมในเกาหลีเช่นกัน หลังจากถูกเผยแพร่ในแพลตฟอร์มวิดีโอของจีนอย่าง TikTok ขนมชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเชฟขนมหวาน Stéphane Louvard ในปี 2565 และได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ครูกี้ ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในขนมอบยอดนิยมมากที่สุดในร้านเบเกอรี่และคาเฟ่ของเกาหลีไปเป็นที่เรียบร้อย สืบเนื่องจากการที่ครัวซองต์และคุกกี้เป็นขนมที่พวกเราคุ้นเคยกันอยู่แล้วและให้ความรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้รับประทาน ยิ่งพอรวมทั้งครัวซองต์และคุกกี้มาอยู่ด้วยกันในครูกี้แล้ว ทำเอาทาสรักขนมหวานชาวเกาหลีแห่กันไปลิ้มลองที่ร้านเบเกอรี่และคาเฟ่หลายแห่ง
ในขณะที่ “ครอฟเฟิล” (Croffle) หรือขนมลูกครึ่งระหว่างครัวซองต์และวาฟเฟิล และ “ครุงจี” (Crungji) หรือครัวซองต์บิสกิต ยังคงครองใจชาวเกาหลี ครูกี้ก็กำลังทวีความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในวงการขนมเกาหลีเช่นเดียวกัน โดยแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูล Black Keywe เผยว่าผู้ใช้บริการของเว็บไซต์ Naver มีการค้นหาคำว่า ครูกี้ไปแล้วมากกว่า 53,000 ครั้ง ระหว่างวันที่ 19 มีนาคมและ 17 เมษายนในปีนี้
ความเห็น สคต.
เทรนด์ขนมหวาน เช่น ช็อคโกแลตดูไบ ไอศกรีมโยเกิร์ต และครูกี้ กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเกาหลี ส่งผลให้ส่วนผสมของขนมบางชนิดขาดตลาดหรือมีราคาสูงขึ้น เช่น ถั่วพิสตาชิโอ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อทดแทนวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวเกาหลี โดยเน้นการขยายการส่งออกของถั่ว ผลไม้ทั้งแบบสดและแบบแปรรูป หรือสินค้าทางเกษตรอื่นๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าศักยภาพจำนวนมากที่มีคุณภาพสูง มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งกรรมวิธีในการปลูกก็มีความทันสมัยและปลอดภัย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้ไปยังตลาดเกาหลีใต้
นอกจากการเติมเต็มส่วนผสมที่ขาดไปในตลาดแล้ว ผู้ประกอบการไทยบางรายที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตขนมหวานยังสามารถเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมขนมหวานเกาหลีได้โดยตรง ด้วยการผลิตของหวานต่างๆ ในแบบฉบับของประเทศไทย โดยรวมถึงขนมหวานของไทยเอง เช่น ขนมครก สังขยา เป็นต้น และส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเทรนด์รักสุขภาพ ด้วยการใช้น้ำตาลจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่า ความน่าสนใจ และความสามารถในการแข่งขันให้ขนมหวานของไทยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า เทรนด์ความนิยมขนมในเกาหลี มักจะเกิดจากผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้เริ่มแนะนำ ทำให้เกิดกระแสลองรับประทานตามมา จนทำให้เกิดความนิยมอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ดังนั้น การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้สินค้าไทยสามารถเจาะตลาดเกาหลีได้อย่างดี
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล