สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2567
สถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแคนาดา ปี 2567
แคนาดามีนโยบายและความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ที่เกิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์โดยภาครัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Zero-emission vehicles (ZEVs) สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กทั้งหมดภายในปี 2578 และตั้งเป้าหมายระยะสั้น ให้ยอดจำหน่ายรถไฟฟ้ามีสัดส่วน
ร้อยละ 20 ภายในปี 2569 และอย่างน้อยร้อยละ 60 ภายในปี 2573 รวมถึงมีเป้าหมายการเป็นผู้นำระดับโลกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย
ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานสถิติแคนาดาในไตรมาสแรกของปี 2567 พบว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) และรถยนต์ Hybrid ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม แนวโน้มจากตัวเลขสถิติบ่งชี้ว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในแคนาดาได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตามรายงานของ S&P Global Mobility พบว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามี
ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมประมาณร้อยละ 20 จากยอดขายรถยนต์ทุกประเภทติดต่อกันมาเป็นเวลาสามไตรมาสล่าสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก
ไตรมาสแรกของปี 2566 ร้อยละ 15 โดยการจำหน่ายรถยนต์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ภายใน 1 ปี เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแคนาดา ดังนี้
1) อุปสรรคต่อรถยนต์ไฟฟ้า (Barrier to EV)
จากตัวเลขสถิติในแคนาดาพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของการจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4 จากปี 2565 อย่างไรก็ตาม Niel Hiscox ประธานบริษัท Clarify Group Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยยานยนต์ในแคนาดากล่าวว่า ความท้าทายคือการก้าวข้ามกลุ่มลูกค้ากลุ่มแรกๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงขึ้น เพราะราคารถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่ารถใช้น้ำมัน รวมถึงค่ามัดจำ ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรถ จะส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ซื้อ
ตามรายงานล่าสุดปี 2567 ของบริษัท J.D. Power ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำวิจัยและให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลสำรวจที่มีผู้ทำแบบสอบถามจำนวน 3,000 รายในแคนาดา พบว่ามีความสนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลดลง โดยพบว่าร้อยละ 11 จากจำนวนผู้สำรวจ กล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันต่อไป ซึ่งลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับระยะทางการขับขี่ที่จำกัด (Range Anxiety) ราคาที่สูงกว่า และการขาดแคลนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
จากข้อมูลเดือนมิถุนายน ปี 2567 ของหน่วยงาน NRCan (Natural Resource Canada) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าปัจจุบันผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าในแคนาดาสามารถเข้าถึงพอร์ตชาร์จสาธารณะได้เพียง 27,181 พอร์ต ที่ตั้งอยู่ในสถานีชาร์จสาธารณะ 11,077 แห่งทั่วประเทศทั่วแคนดาเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งจากการเปรียบเทียบราคาระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์น้ำมัน พบว่ารถ EV ยังคงมีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ตัวอย่างเช่น Hyundai Kona มีราคาต่างกันระหว่างรุ่น EV (43,899 เหรียญแคนาดา) และรุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน (22,099 เหรียญแคนาดา) ถึงประมาณ 21,000 เหรียญแคนาดาหรือประมาณ 567,000 บาท
2) การแข่งขันที่สูงจากรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศจีน
จากข้อมูลของหัวหน้าฝ่ายข้อมูลและการวิเคราะห์ของบริษัท Adamas Intelligence กล่าวว่า จีนซึ่งเป็นผู้ผลิต EV รายใหญ่ที่สุดในโลก กำลังครอบงำอุตสาหกรรม EV ทั่วโลกทั้งในด้านยอดจำหน่ายและเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญของรถไฟฟ้า เนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุนบางประการ เช่น ความสามารถในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าจาก Economy of Scale การมีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่า (การผลิตแบตเตอรี่) รวมถึงความหลากหลายของประเภทรถยนต์ ตอบโจทย์สำหรับทุกกลุ่มผู้ซื้อ
โดยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Seagull ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่เปิดตัวโดยผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน BYD เมื่อปี 2566 สามารถตั้งราคาจำหน่ายได้ต่ำเพียง 13,000 เหรียญแคนาดา (351,000 บาท) เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้ารุ่น Chevrolet Bolt ที่ขายในราคามากกว่า 50,000 เหรียญแคนาดา (ราคาแพงกว่าเกือบ 4 เท่า) ตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่าต้นทุนการผลิตต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการ รวมถึงความจริงที่ว่าประเทศจีนขุดแร่โลหะและแร่ธาตุจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ EV เช่น ลิเธียมและโคบอลต์ อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสถานีชาร์จแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศในปี 2566 ร้อยละ 60 ของรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่ขายทั่วโลกผลิตที่ประเทศจีน
3) การเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้า (Tariff Hikes)
ประเทศแคนาดาพยายามเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อที่จะเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า เพราะในประเทศมีแร่ธาตุสำคัญมากมายที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ประกาศสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนร่วมกันของบริษัทญี่ปุ่น อาซาฮี คาเซอิ และบริษัทฮอนด้า
แม้ว่าปัจจุบันแคนาดายังไม่มี EV ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรถยนต์จีนเพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา (ยกเว้นการนำเข้าและจำหน่ายTesla และ Polestar 2 บางรุ่นที่ผลิตในจีน) ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีสำหรับ EV ที่นำเข้าจากจีน จากร้อยละ 25 ไปจนถึงร้อยละ 100 ในขณะที่ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของแคนาดา ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ชองปาญ กำลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีและข้อจำกัดทางการค้ากับ EV จากจีน
ความเคลื่อนไหวของนโยบายดังกล่าวอาจช่วยสร้างสมดุลระหว่างการผูกขาดเชิงกลยุทธ์ของจีนในตลาด EV โดยจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ EV ที่ผลิตในประเทศหรือตัวเลือกการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคุ้มค่า อย่างไรก็ดี หากไม่มีระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับรถยนต์ไฟฟ้า อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ความเห็นของ สคต.
แคนาดาเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลแคนาดามีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถใช้น้ำมันไปยังรถไฟฟ้า มีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม การกำหนดนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมของไทยและแคนาดามีความคล้ายคลึงกัน อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยในปี 2565 แคนาดาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับ 8 ของโลก ไทยอันดับที่ 16 ทั้งสองเป็นฐานการผลิตที่ไม่มีแบรนด์รถเป็นของตนเอง การผลิตรถยนต์ในประเทศจะเน้นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากนโยบายและมาตรการของแคนาดาเพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย อาทิ การส่งเสริมนวัตกรรมในการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในประเทศ การใช้นโยบายส่งเสริมการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การผลิตพลังงานสะอาด
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)