เมื่อต้นสิงหาคมที่ผ่านมานี้ บรรดาผู้ใช้ Instagram หลายล้านคนในตุรกีต่างงุนงงกับการประสบปัญหาในการเข้าถึงเนื้อหาและบริการของ Instagram (IG) จนต่อมาจึงได้ทราบว่า รัฐบาลตุรกีนั่นเองที่ได้ทำการแบน IG จึงทำให้ผู้ใช้ในตุรกีไม่สามารถใช้บริการได้ โดยในช่วงแรกได้มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลสั่งแบน IG ด้วยเหตุผลว่าปล่อยให้มีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมายของตุรกี เช่น เนื้อหาที่ทำให้ผู้คนคิดฆ่าตัวตาย เนื้อหาที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด เนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพแบบผิดๆ สื่อลามกอนาจาร การค้าประเวณี การพนัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ตั้งข้อสงสัยกับการแบนสื่อโซเชียลมีเดียดังกล่าวว่าแท้จริงแล้วมีนัยยะทางการเมืองอื่นๆ แอบแฝงอยู่หรือไม่ รวมทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจโดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือได้ออกมาเรียกร้องถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับอย่างมากจากคำสั่งแบน IG ของรัฐบาลในครั้งนี้

 

ต่อมาไม่กี่วัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของตุรกี นาย Omer Bolat ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของ AA เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่าการตัดสินใจแบนการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram อาจส่งผลเสียต่อ e-Commerce ว่า การทำธุรกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram หรือสื่อโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนั้น เป็นการดำเนินการโดยผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือแอปพลิเคชัน WhatsApp ซึ่งไม่นับเป็นธุรกิจ e-Commerce และไม่รวมอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

นาย Bolat ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ธุรกิจ e-Commerce ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น หมายถึงการกระทำการใดๆ ในเชิงพาณิชย์ของร้านค้าออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น Trendyol, Hepsiburada หรือ Yemeksepeti และธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการของตนเองในแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ และรวมไปถึงแม้แต่ผู้ค้าที่มีแพลตฟอร์มสำหรับการค้าขายออนไลน์ของตนเอง ซึ่งการซื้อขาย ต้องกระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นโดยไม่มีการเผชิญหน้าทางกายภาพของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หรือแม้แต่การใช้เครื่องมือสื่อสารโดยตรงอย่างโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ การที่สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง IG มีการอนุญาตให้บุคคลหรือธุรกิจสามารถโปรโมตสินค้าและบริการของตนเองได้โดยตรงยิ่งทำให้ชัดเจนว่าการตกลงซื้อขายในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ e-Commerce

 

นอกจากนี้ นาย Bolat ได้กล่าวโทษการซื้อขายสินค้าบนลื่อโซเชียลมีเดียว่า “การซื้อขายที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องทําให้รายได้ทางภาษีของประเทศลดลง” โดยนาย Bolat กล่าวเน้นย้ำว่า ยอดขายบน Instagram นั้นมักไม่ได้ถูกบันทึกและไม่มีการชำระภาษี “ผู้ขายเหล่านี้หาความได้เปรียบโดยการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับธุรกิจที่ปฏิบัติตามภาระผูกพันทางกฎหมาย และเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงผู้ขายเหล่านี้ได้โดยง่าย หากมีปัญหาก่อนหรือหลังการซื้อขายนั้น อาจทำให้ให้ผู้บริโภคประสบกับปัญหาและเป็นผู้เดือดร้อนได้” เขากล่าว

 

หลังจากการแบน IG ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมทั่วโลก และได้รับความนิยมสูงอย่างมากหรืออาจจะที่สุดในประเทศตุรกีเป็นเวลากว่าสัปดาห์ ต่อมา ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีได้ยกเลิกคำสั่งแบนดังกล่าว หลังจากที่ได้มีการเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ IG โดยนาย Abdulkadir Uraloglu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานของตุรกี ได้กล่าวถึงผลการเจรจาว่า ในนามของตุรกี เราได้แบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Instagram เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เนื่องจากนโยบายของแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเราตามกฎหมายเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม ซึ่งเราเพียงต้องการให้ Instagram เคารพกฎหมายของตุรกีด้วย โดยผลของการประชุมของเรากับทาง Instagram นั้น เราจะยกเลิกการแบนการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นดังกล่าวหลังจากความต้องการของเราได้รับการตอบรับแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกรอบของกฎหมายเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรม ซึ่งพวกเขาสัญญาว่าจะทํางานอย่างละเอียดในการกรองเนื้อหาให้มากขึ้น “เนื้อหาทั้งหมดที่มีการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนองค์กรก่อการร้าย เช่น PKK, PYD และ FETO โดยแพลตฟอร์มของ Meta นั้น จะต้องถูกลบทิ้ง ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครอง โดยใช้แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อการก่อการร้ายและเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ภายในกรอบของกฎระเบียบต่างๆ นี่เป็นความคืบหน้าที่สําคัญในการพัฒนาความปลอดภัยในตลาดดิจิทัลในตุรกี การปฏิบัติตามกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้ และการพัฒนากลไกการตรวจสอบที่เป็นธรรม และผมอยากจะแจ้งให้ทราบในโอกาสนี้ว่า เจ้าหน้าที่ของ Meta จะมีส่วนร่วมกับเรามากยิ่งขึ้น และจะมีการเยือนตุรกีของผู้บริหารระดับสูงของ Meta ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย” นาย Uraloglu กล่าว

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

สรุปว่าในครั้งนี้ สื่อโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดของตุรกีอย่าง Instagram ได้ถูกแบนโดยรัฐบาลตุรกีเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนจะยกเลิกการแบนและเปิดให้สามารถเข้าถึงได้อีกครั้ง และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามชี้แจงถึงสาเหตุของการแบนว่าเป็นเรื่องของอาชญากรรม แต่ประชาชนส่วนมากกลับมองว่าเหตุผลดังกล่าวไม่มีความสมเหตุสมผล เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจำกัดพื้นที่การแสดงออกของประชาชน จึงได้ความไม่พอใจต่อรัฐบาลในการออกคำสั่งแบนดังกล่าว รวมทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจโดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือได้ออกมาเรียกร้องถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับอย่างมากจากคำสั่งแบน IG ของรัฐบาลในครั้งนี้ จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลต้องออกมาดึงประเด็นเรื่องของการค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มว่าไม่อยู่ในกรอบกฎหมายของประเทศและยังเป็นการค้าขายแบบไม่เสียภาษีอีกด้วย

 

จากข้อมูลที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลตุรกีพยายามแบนสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเทศ โดยในปี 2008 ถึงปี 2010 ตุรกีเคยแบน YouTube มาแล้ว และถึงแม้จะยกเลิกการแบนแล้ว แต่จนถึงปี 2015 YouTube ก็ยังถูกจำกัดการเข้าถึงอยู่เนืองๆ นอกจากนี้ สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Wikipedia ก็เคยถูกแบนในปี 2014 และยังคงถูกจำกัดการเข้าถึงอยู่เป็นระยะ หรือแม้แต่ Twitter หรือ X ในปัจจุบัน ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงอยู่เรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลตุรกีมักจะใช้วิธีนี้ด้วยเหตุผลทางการเมือง และเพื่อควบคุมและตอบโต้การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สำหรับในครั้งนี้สุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่าย (รัฐบาลตุรกี และ Meta ผู้ให้บริการ Instragram) ก็สามารถเจรจากันได้ลงตัวและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

ที่มา: https://www.aa.com.tr/tr/ekonomi/instagramdan-dogrudan-iletisim-araclariyla-gerceklestirilen-satislar-e-ticaret-olarak-sayilmiyor/3295420#

thThai