ภาพรวมตลาด

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลากหลายปัจจัย อาทิ พฤติกรรมการใช้จ่ายและความนิยมของผู้บริโภค การพัฒนาสินค้าเพื่อแข่งขันในตลาด รวมถึงเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ในการผลิต โดยขนาดของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ณ ปี 2565 มีมูลค่า 346.59 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.73 จากปีก่อนหน้า

 

ช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า

1. อาหาร

1.1 อาหารเส้น (Noodles)

    • สัดส่วนการค้าปลีกของอาหารเส้น (ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ในปี 2566 เมื่อพิจารณาตามช่องทางจำหน่ายสินค้าแล้ว ร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายอาหารเส้นสูงสุด ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 30.3) ตามด้วย ร้านค้าปลีกท้องถิ่น (ร้อยละ 22.6) ซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 22.4) และร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 16.1)
      • โดยประเภทของอาหารเส้นที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ อุด้ง (ร้อยละ 28.8) ตามด้วย บะหมี่เย็น (ร้อยละ 20.8) บะหมี่เกาหลีหรือ Kalguksu (ร้อยละ 15.2) และพาสต้า (ร้อยละ 7.7)

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

 

    • สำหรับสัดส่วนการค้าปลีกของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในปี 2566 พิจารณาตามช่องทางจำหน่ายสินค้า ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แบบซองและถ้วย) สูงสุด ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 29.1) ตามด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 23.0) ซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 21.7) และร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 15.7)
      • โดยประเภทของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองทั่วไป (ร้อยละ 41.7) ตามด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั่วไป (ร้อยละ 32.7) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสจาจังแบบซอง (ร้อยละ 9.6) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสบิบิมมยอนแบบซอง (ร้อยละ 7.5) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบิบิมมยอนแบบถ้วย (ร้อยละ 6.1)

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

 

1.2 ชุดอาหารพร้อมปรุง (Meal kit)

    • ในปี 2565 ชุดอาหารพร้อมปรุงในเกาหลีใต้ถูกจัดจำหน่ายทางออฟไลน์เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 79 และได้ขยายช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์เช่นกัน ในสัดส่วนร้อยละ 21
      • ในส่วนของการจำหน่ายทางออฟไลน์ สินค้าจะถูกจัดจำหน่ายไปยังช่องทางการจำหน่ายอาหาร (ร้อยละ 74.2) ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าท้องถิ่น ร้านค้าส่ง และร้านขายสินค้าลดราคา เป็นต้น
      • นอกจากนี้ ในช่องทางออฟไลน์ มีการกระจายสินค้าไปยังช่องทางจำหน่ายที่ไม่ใช่สำหรับอาหาร (ร้อยละ 3.8) และการจัดจำหน่ายโดยตรงจากผู้ผลิต (ร้อยละ 1)

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

    • การแข่งขันในตลาดสำหรับสินค้าชุดอาหารพร้อมปรุง (Meal kit) กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ผลิตและประเภทสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่ต่างเปิดตัวและพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ตนเองหรือ Private Brand (PB) รวมถึงติดตั้งมุมจำหน่ายชุดอาหารพร้อมปรุงโดยเฉพาะ
      • สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ Private Brand (PB) คิดเป็นร้อยละ 59.2 ของตลาดชุดอาหารพร้อมปรุงทั้งหมดของเกาหลีในปี 2565 ซึ่งมีสินค้าจาก Peacock (E-Mart) Signiture (Homeplus) Yorihada (Lottemart) Simply Cook (GS25) และ Convenient Restaurant (Ministop) เข้าร่วมตลาดนี้
    • สำหรับการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ทางออนไลน์ก็มีอัตราการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบายและความหลากหลายของสินค้า
      • การจำหน่ายชุดอาหารพร้อมปรุงผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Kurly มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 660 ในไตรมาสแรกของปี 2566

1.3 อาหารทางเลือก (Alternative foods)

    • อ้างอิงจาก Food Information Statistics System ในปี 2565 ระบุว่า เกาหลีใต้มีบริษัทอาหารทางเลือกทั้งหมด 239 บริษัท ประกอบด้วยผู้ผลิต 178 บริษัท (ร้อยละ 74.5) และผู้นำเข้า 61 บริษัท (ร้อยละ 25.5) รวมถึง อาหารทางเลือก อาทิ อาหารจากพืช อาหารจากแมลง เป็นต้น ทั้งสิ้น 1,028 ชนิด แบ่งออกเป็น 796 ชนิดที่ผลิตในประเทศ (ร้อยละ 77.4) และ 232 ชนิดที่นำเข้า (ร้อยละ 22.6)
      • สินค้าอาหารจากพืชในเกาหลีสามารถแบ่งได้ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ เนื้อจากพืช ผลิตภัณฑ์นมจากพืช อาหารทะเลจากพืช และสินค้าอื่นๆ ที่ทำจากพืช อาทิเช่น ซอสปรุงรส อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม
      • นอกจากนี้ ยังมีอาหารจากแมลงในรูปแบบต่างๆ อาทิ อาหารเสริม ชนิดผงหรือแป้ง และขนมทานเล่น รวมถึง อาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยงและอาหารหมักจุลินทรีย์
    • Korea Rural Economic Institute คาดการณ์ว่า ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในรูปแบบ B2C จะมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.8 และรูปแบบ B2B จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 ในปี 2569
      • ในส่วนของ B2C จะมีการกระจายสินค้าไปยังหลายช่องทาง ประกอบด้วย ช่องทางออนไลน์ (ร้อยละ 16.3) การนำเข้าโดยตรง (ร้อยละ 11.6) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 9.5) ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 7.9) ร้านขายของชำ (ร้อยละ 7.7) และร้านค้าแบบดั้งเดิม (ร้อยละ 5.6)

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

1.4 ขนมทานเล่น (Snacks)

    • ตลาดขนมทานเล่นของเกาหลีใต้ในปี 2565 ขยายตัวถึงร้อยละ 20.8 และมีมูลค่า 1.446 ล้านล้านวอน และ คาดว่ามูลค่าของตลาดขนมทานเล่นจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2566 ด้วยผลิตภัณฑ์รูปแบบแปลกใหม่และกิจกรรมกลางแจ้งที่เพิ่มขึ้น อาทิ การตั้งแค้มป์
    • ในปี 2565 ขนมทานเล่นถูกจัดจำหน่ายผ่านช่องทางทางออฟไลน์ (ร้อยละ 97.4) เป็นหลักและทางออนไลน์ (ร้อยละ 5.3) ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 2 เท่าตัวจากร้อยละ 2.5 ในปี 2561

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

    • ช่องทางจำหน่ายขนมทานเล่นออฟไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 32.2) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 22.5) ร้านค้าท้องถิ่น (ร้อยละ 20.9) ซึ่งมีอัตราเติบโตของยอดจำหน่ายสูง รองลงมาด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 13.7) ร้านค้าปลีกทั่วไป (ร้อยละ 10) และห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 0.6)
      • ยอดจำหน่ายสินค้าของร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงสินค้าได้ง่าย มีกิจกรรมส่วนลดราคาสินค้า และขนาดสินค้าที่เหมาะสมกับการบริโภคในครัวเรือนเดี่ยว
      • สินค้าขนมทานเล่นในลักษณะ Private Brand (PB) จากร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

2. เครื่องดื่ม

    • ตั้งแต่ปี 2561 ตลาดเครื่องดื่มมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี และมีมูลค่าถึง 10.31 ล้านล้านวอนในปี 2565
    • แบ่งมูลค่าการจำหน่ายตามประเภทของเครื่องดื่มได้ ดังนี้ กาแฟบรรจุในขวดและกระป๋อง 3.17 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 30.8) โดยมีมูลค่าสูงสุด ซึ่งชาวเกาหลีนิยมในการดื่มกาแฟ ตามด้วย เครื่องดื่มอัดลม มูลค่า 2.63 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 25.5) เครื่องดื่มรสชาติต่างๆ เช่น น้ำข้าว หรือเครื่องดื่มที่ทำจากน้ำหัวเชื้อ มูลค่า 1.17 ล้านล้านวอน (ร้อยละ 11.4) ชา มูลค่า 7.16 แสนล้านวอน (ร้อยละ 6.9) น้ำผักและผลไม้มูลค่า 4.36 แสนล้านวอน (ร้อยละ 4.2) และนมถั่วเหลืองมูลค่า 4.33 แสนล้านวอน (ร้อยละ 4.2)
    • ปัจจุบัน เครื่องดื่มที่ใส่ใจกับสุขภาพ เช่น ไม่ใส่น้ำตาล เริ่มมีมากขึ้น

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

    • ในส่วนของการจำหน่าย ในปี 2565 ร้อยละ 84.5 ของเครื่องดื่มถูกจำหน่ายผ่านทางออฟไลน์ และร้อยละ 15.6 เป็นการจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์
      • การจำหน่ายเครื่องดื่มทางออฟไลน์มีอัตราลดลงร้อยละ 2.3 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2561
      • ในทางกลับกัน การจำหน่ายผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ต่อปี เป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผู้บริโภคใช้บริการช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์เป็นหลัก
      • การจำหน่ายในรูปแบบ B2C มีสัดส่วนร้อยละ 75-80 และจำหน่ายผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ (ร้อยละ 1) ร้านค้าท้องถิ่น (ร้อยละ 15.7) ไฮเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 11.3) ซูเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 8.7) ร้านค้าปลีกทั่วไป (ร้อยละ 7.7) และห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 0.6) รวมถึงทางออนไลน์ และร้อยละ 20-25 เป็นการจำหน่ายในรูปแบบ B2B ให้กับผู้ประกอบการและผู้จัดจำหน่าย

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเกาหลีใต้

 

การจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์ในเกาหลี

  • e-Commerce ของเกาหลีใต้ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความสะดวกสบาย ประเภทสินค้าและบริการ ได้ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไป
  • การเติบโตของช่องทางออนไลน์ อาทิ Coupang Kurly SSG ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ของไฮเปอร์มาร์เก็ต และ Direct Mall ของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ว่า สามารถอำนวยความสะดวกสบายในการเข้าถึงผ่านมือถือและขั้นตอนการชำระเงินได้ รวมถึง ระบบการจัดส่งที่รวดเร็ว เช่น การจัดส่งตอนเช้าหรือการจัดส่งในวันเดียวกัน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เผยว่า การทำธุรกรรมผ่านทาง e-Commerce มีมูลค่า 228.6 ล้านล้านวอนในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 จากปีก่อนหน้า ซึ่งมูลค่าของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์มีมูลค่าถึง 29.84 ล้านล้านวอน
  • ด้วยข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของการจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ของเกาหลี อาทิ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดเก็บภาษี ส่งผลให้การขยายตลาดของสินค้าไทยในเกาหลีใต้โดยตรงยังคงดำเนินไปได้ยาก ดังนั้น การร่วมมือระหว่างผู้นำเข้าเพื่อขยายการตลาดทางช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Coupang Naver Shopping Gmarket และ 11st จึงเป็นวิธีการเข้าตลาดเกาหลีที่มีศักยภาพ

 

ความเห็นสำนักงานฯ การจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของเกาหลีใต้ ยังคงมีสัดส่วนที่สูงในการจำหน่ายผ่านช่องทางออฟไลน์ โดยเป็นช่องทางกระจายสินค้าแบบการตลาดดั้งเดิม เช่น ร้านค้าปลีกในแต่ละท้องถิ่น และร้านสมัยใหม่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ชื่นชอบความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการรับสินค้า

 

สำหรับการขยายโอกาสของสินค้าส่งออกไทย ปัจจุบัน ผู้บริโภคเกาหลีรับรู้และเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยอยู่แล้ว โดยสินค้าไทยมีวางจำหน่ายทั้งทางช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ของเกาหลี การเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ การร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงในการสร้างการรับรู้สินค้าไทย การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตรงกับเทรนด์ตลาด การควบคุมคุณภาพการผลิต การร่วมมือกับผู้นำเข้าเกาหลีเพื่อขยายช่องทางจำหน่ายจึงเป็นวิธีที่มีศักยภาพเพื่อขยายการรับรู้ต่อสินค้าไทยได้อย่างดี อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เกาหลีได้ตรวจพบสารปนเปื้อนในสินค้าที่จำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ของต่างประเทศ แม้ยังไม่มีรายงานพบสารปนเปื้อนในอาหาร แต่คาดได้ว่าการตรวจสินค้าจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและผู้นำเข้าเกาหลีต่อไป

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

16 สิงหาคม 2567

ที่มาข้อมูล:

(1) Noodle Market Trend, 2023.12, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(2) 2023 Meal Kit Status, 2024.05.20, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(3) 2023 Alternative Food Status, 2024.05.20, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(4) 2023 Snacks Status, 2024.05.20, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(5) 2023 Beverage Status, 2024.05.20, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

thThai