OPEC มองเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แข็งแกร่งจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว

ตามรายงานขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum Exporting Countries : OPEC) คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการผลิต

จากรายงานตลาดน้ำมันรายเดือน (Monthly Oil Market Report : MOMR) ประจำเดือน ส.ค. 2567 โดยกลุ่ม OPEC เน้นย้ำถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจยูเออีอย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ     ที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI)  ในเดือน มิ.ย. 2567 เพิ่มขึ้นมาจากการสูงขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ก๊าซ และเชื้อเพลิงอื่นๆ  ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของดัชนีราคาผู้บริโภค

เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการเป็นรายปีขยายตัว 6.7% และขยายตัว 6.6% จากเดือน พ.ค. อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารและเครื่องดื่มยังคงค่อนข้างทรงตัว ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.3% ในเดือน พ.ค. เป็น 2.4% ในเดือนมิ.ย.

CEPA
ในระดับนานาชาติ ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Central Bank) ได้ลงนามในข้อตกลงแลกเปลี่ยนสกุลเงินกับประเทศเอธิโอเปีย เซเชลส์ และอินโดนีเซีย ข้อตกลงเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างธุรกรรมข้ามพรมแดนและปรับปรุงความร่วมมือระบบการชําระเงิน นอกจากนี้ ยูเออีได้บรรลุความก้าวหน้าในการเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership agreement: CEPA)  กับประเทศตุรเคีย และมอริเชียส เพื่อยกเลิกภาษีศุลกากรและส่งเสริมการค้า ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและ การทูตระหว่างยูเออีและแอฟริกา

การคาดการณ์ของ IMF

มุมมองเชิงบวกของ OPEC ต่อเศรษฐกิจของยูเออี สอดคล้องกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ของ      กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูเออีในปี  2567  จะเติบโตร้อยละ 4 IMF ระบุว่าการเติบโตนี้เกิดจากกิจกรรมที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง การผลิตและการบริการทางการเงิน และยังชี้ให้เห็นว่าความต้องการที่แข็งแกร่งของอสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศ ประกอบกับสถานะความปลอดภัยของยูเออี ได้ผลักดันให้ราคาบ้านและค่าเช่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มสภาพคล่องในประเทศ นอกจากนี้ยังได้คาดการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเออีว่าจะได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของ GDP กลุ่มไฮโดรคาร์บอนเพิ่มเติม ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตน้ำมันดิบหลังการปรับโควตา OPEC+ ของยูเออี

ทั้งนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ขณะที่การเกินดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูง โดยในปี 2567 คาดว่ารัฐบาลจะเกินดุลทั่วไปประมาณร้อยละ 5 ของ GDP และหนี้สาธารณะคาดว่าจะลดลงอีกเหลือร้อยละ 30% ของ GDP  ปัจจุบัน

สถานการณ์น้ำมัน

ราคาน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนีน้ำมันดิบหลักทุกดัชนีชี้วัดระดับพรีเมี่ยม (Spot Premium) ที่ปรับตัวสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มอุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น

แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกดังกล่าว แต่ OPEC ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการน้ำมันดิบ ทั่วโลกในปี 2567 โดยอ้างถึงข้อมูลที่ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีแรก และท่ามกลางความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ  อุปสงค์ที่ชะลอตัวในจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ และ OPEC ยังปรับลดการคาดการณ์สำหรับปีถัดไปด้วย ที่สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลก

นโยบายเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์ที่มีจุดเน้นชัดเจนเหมาะสมกับบริบททั้งภายในและนอกประเทศ โดยยูเออีได้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สามารถวางตำแหน่งประเทศไว้อย่างแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันก็แสวงหาการเติบโต โดยการกระจายเศรษฐกิจของตนให้หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก

ความคิดเห็นของ สคต.ดูไบ

จากสถิติการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (15 ประเทศ) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีการส่งออกไปยูเออีมูลค่าสูงสุด 1,725 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+5.27%) หรือสัดส่วนร้อยละ 30 ที่ไทยส่งออกไปภูมิภาคตะวันออกกลาง มีสินค้าไทยหลายรายการที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง ปลากระป๋อง เครื่องจักรและส่วนประกอบ โทรศัทพท์มือถือ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้า และกระดาษ เป็นต้น

เพื่อส่งเสริมในด้านการเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของสินค้าไทยนำเข้าสู่ยูเออี สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีแผนดำเนินโครงการต่างๆ ในยูเออี อาทิ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ      เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริม Soft Power สร้างกระแสความนิยม “อาหารไทย” ผ่านกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ตรา Thai SELECT และร้านอาหารที่ได้รับตรา Thai SELECT และเสริมการจัดกิจกรรมด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย ผ่านแนวคิดด้าน อาหาร มวย ประเพณีไทย ภาพยนตร์ และแฟชั่น ที่จะเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจสินค้าอาหารไทยและสินค้าอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้โครงการ SMEs Pro-active ในการเข้าร่วมแสดงสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี งานแสดงสินค้าอาหาร Organic งานแสดงสินค้าอาหารขบเคี้ยวและขนมหวาน งานแสดงสินค้าเครื่องสำอาง เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมและผลักดันให้การส่งออกสินค้าต่างๆของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดยูเออีในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 อย่างมีนัยสำคัญ

 

————————————————-

 

thThai