ตามระเบียบการนำเข้าของศุลกากรไต้หวัน ไต้หวันไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนช่วงล่างของรถยนต์ (Chassis) จากจีน อย่างไรก็ดี มีผู้นำเข้าในไต้หวันใช้วิธีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งคัน (Completely Knocked Down) มาประกอบในไต้หวัน แล้วจำหน่ายโดยระบุว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตภายในไต้หวัน ทำให้ MG ซึ่งเคยเป็นแบรนด์รถยนต์อังกฤษที่ถูก Take Over โดยบริษัทจีน สามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ของไต้หวันได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ล่าสุด กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันออกมาตรการใหม่ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวันสำหรับรถยนต์แบรนด์ทุนจีนหรือต่างประเทศ ซึ่งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนและนำเข้ามาประกอบในไต้หวัน

ในปี 2566 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไต้หวันมีจำนวนรวม 476,987 คัน ถือเป็นปริมาณที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยรุ่นที่มียอดขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ Toyota Corolla Cross (จำนวน 37,412 คัน) , Toyota RAV4 (จำนวน 18,387 คัน) และ Toyota Town Ace (จำนวน 18,259 คัน) ในขณะที่ MG HS เป็นรถยนต์ขายดีอันดับ 8 ด้วยจำนวน 11,710 คัน มากกว่า Tesla Model Y ซึ่งอยู่ในอันดับ 10 ด้วยจำนวน 9,697 คัน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน เห็นว่ากรณีที่ MG ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนมากถึงร้อยละ 95 แต่กลับระบุว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตในไต้หวันนั้น ถือว่าไม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไต้หวัน จึงกำหนดให้แบรนด์รถยนต์ที่เป็นแบรนด์จีน เช่น BYD, Geely หรือแบรนด์ต่างประเทศที่มีทุนจีนเป็นเจ้าของ เช่น MG, Volvo หรือแบรนด์ที่ทุนจีนร่วมทุนกับต่างประเทศ เช่น BEIJING-HYUNDAI รวมถึงแบรนด์รถยนต์ต่างประเทศที่ผลิตในประเทศจีน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป หากต้องการวางจำหน่ายในตลาดไต้หวัน จะต้องมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในไต้หวันในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้เป็นขั้นบันได โดยในปีแรกจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ปีที่ 2 ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และปีที่ 3 เป็นต้นไปต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 สำหรับรถยนต์รุ่นที่มีการเริ่มวางจำหน่ายไปแล้ว จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในปีแรก ปีที่ 2 ต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และปีที่ 3 เป็นต้นไปต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 เช่นกัน หากสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด รัฐบาลจะไม่อนุญาตการออกป้ายทะเบียนรถยนต์ใหม่ให้  ซึ่งหลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันได้ประกาศมาตรการใหม่ เป็นต้นมา China Motor ซึ่งเป็นผู้นำเข้าแบรนด์ MG ชี้ว่า บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศอยู่แล้ว เดิมทีคาดว่าภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 จะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในไต้หวันในสัดส่วนร้อยละ 15-20 แต่การประกาศบังคับใช้มาตรการใหม่อย่างกะทันหัน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถเตรียมการแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้ เช่นเดียวกับบริษัท Yulon Motor ที่เป็นตัวแทนและเป็นผู้ผลิตรถยนต์  Nissan ในไต้หวัน ซึ่งมีแผนจะนำเข้ารถยนต์แบรนด์จีน คือ MAXUS เข้ามาสู่ตลาดไต้หวัน ก็อาจจะต้องเลื่อนแผนการดำเนินธุรกิจในส่วนนี้ออกไปก่อน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญของไต้หวันชี้ว่า แม้จะดูเหมือนว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ MG ที่เป็นแบรนด์ซึ่งทุนจีนเป็นเจ้าของ แต่ในระยะยาวแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ต่างประเทศอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ด้วย เช่น Ford, Nissan, Honda, Toyota เป็นต้น ที่ต่างก็มีการนำเข้ารถยนต์รุ่นที่ผลิตในจีน หรือใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีน ก็จะถูกข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนของชิ้นส่วนที่ผลิตภายในไต้หวันมาใช้บังคับด้วยเช่นกัน

ที่มา: BNEXT Media / Central News Agency / Yahoo! News (August 9-13, 2024)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

การประกาศบังคับใช้มาตรการสำหรับรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนจีนในการผลิตในครั้งนี้ ไม่ได้ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศอื่นนอกจากจีน และการที่ปัจจุบัน ไทยถือเป็นฮับสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในส่วนของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งการที่รัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมและยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะกลายเป็นแหล่ง Supply ชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในไต้หวันต่อไป

thThai