Shrinkflation คือสถานการณ์เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคมีขนาดลง แต่ราคายังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น โดยมักเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะเงินเฟ้อที่หดตัว เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในตลาดค้าปลีกแคนาดาสามารถพบเห็นสินค้าหลายรายการมีการลดขนาดลงไปมากกว่าร้อยละ 25

 

ซึ่งองค์กรไม่แสวงหากำไรจากชุมชมนครโทรอนโต  ได้สุ่มสำรวจข้อมูลสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 60 รายการจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 20 หมวด อาทิ อาหารเด็กทารก เครื่องดื่ม ชีส ขนมขบเคี้ยว ซอส เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป ผลไม้ ถั่ว ฯลฯ ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีกรายใหญ่ 3 แห่ง คือ ห้าง Metro ห้าง No Frills และห้าง Walmart พบว่า สินค้ามากกว่าร้อยละ 50 ของสินค้าที่สุ่มสำรวจมีภาวะ shrinkflation โดยสินค้าหมวดที่มีการปรับลดขนาดแต่คงราคาเดิมมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันและน้ำตาลสูง อาหารเด็กทารก ขนมคุ้กกี้ช็อกโกแล็ต นักเก็ตไก่ทอดแช่แข็ง และน้ำผลไม้บรรจุในถุง pouch

 

โดยคุณ Rachel Lee and คุณ Michael Harker หัวหน้าทีมสำรวจสินค้า เผยว่า หากพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มีภาวะ shrinkflation สูงสุด จะอยู่ในกลุ่มอาหาร 5 หมวด โดยจำแนกได้ ดังนี้ 1. หมวดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและน้ำตาลสูง (-9.2%)  2. อาหารสำหรับเด็กและทารก  (-8.3%)  3. ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก ปีกไก่แช่แข็ง (-5.9%)   4. เนื้อสัตว์แปรรูป (-5.9%)  5. น้ำมัน ไขมันไม่อิ่มตัว (-5.6%)

 

นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอาหารหมวดอื่นๆที่พบภาวะ shrinkflation ในตลาดค้าปลีกแคนาดา อาทิ น้ำมันและไขมันอิ่มตัว (-4.2%) ผักประเภทที่มีแป้งสูงหรือ starchy vegetables (-3.7%) ชีส (-3.7%) ซอสและเครื่องปรุง  (-3.5%) เนื้อแดง (-3.3%) โยเกิร์ต (-2.2%)

"Shrinkflation" พบสินค้าขนมหวานลดปริมาณมากสุดในตลาดแคนาดา

หากพิจารณาระบุเป็นรายสินค้าที่มีการลดขนาดสินค้าในราคาเดิม คือ น้ำผลไม้บรรจุในถุง pouch ตรา Gogo Squeez (-25%) นักเก็ตไก่ทอด ตรา Janes (-21%) บิสกิตรสช็อกโกแล็ต ตรา Our Finest (-20%) สโม็คแฮม ตรา Great Value (-17.6%) น้ำมันพืช ตรา Crisco (-16.9%)  อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการสุ่มสำรวจอาหาร พบว่า อาหารบางหมวดไม่อยู่ในภาวะ shrinkflation อาทิ เครื่องดื่ม ผักใบเขียว แอ้ปเปิ้ล ถั่วและธัญพืช อาหารทะเล ขนมขบเคี้ยว (เช่น มันฝรั่งทอด)

 

ด้าน Sridhar Moorthy ศาสตราจารย์จากภาควิชาการตลาดมหาวิทยาลัย Toronto’s Rotman School of Management กล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนมากมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าในบรรจุภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้อยลงมากกว่าสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น จึงเป็นเหตุให้แบรนด์สินค้าหลายแรนด์เลือกที่จะใช้เทคนิคการตลาด Shrinkflation” ในภาวะวิกฤติค่าครองชีพเงินเฟ้อเช่นทุกวันนี้

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ เมื่อภาวะ Shrinkflation เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นมากขึ้นท่ามกลางสินค้าปลีกในแคนาดา จนเริ่มกลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมากขึ้นว่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคไปหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้ผู้บริโภคจะยอมรับกับ Shrinkflation ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ในระยะยาวอาจส่งผลให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าแบรนด์เอาเปรียบ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ไปซื้อสินค้าแบรนด์อื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว หากผู้ประกอบการจะนำเทคนิค Shrinkflation มาใช้ ก็ควรที่จะต้องใช้อย่างโปร่งใสและจริงใจต่อลูกค้ามากที่สุด เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของแบรนด์และความรู้สึกของลูกค้าไว้ โดยควรพิจารณาปรับเปลี่ยนอย่างรอบคอบ พร้อมหาเทคนิคลูกเล่นด้านบรรจุภัณฑ์เข้ามาสร้างจุดเด่นให้กับสินค้านั้นแทนการลดปริมาณเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแอบแฝงของการขึ้นราคาสินค้ามากเกินไป จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านลบต่อแบรนด์ตนเองและภาพรวมการค้าของไทยในอนาคตได้


 

thThai