ปี 2566 รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีรายได้ทางอ้อมจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สูง ถึง 625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การเติบโตนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของโลก ในการให้บริการด้านการแพทย์และดูแลสุขภาพในดูไบ ที่ได้รับการยอมรับจากคุณภาพและความโดดเด่นของวิชาชีพทางการแพทย์ต่างๆ ประกอบกับรัฐบาลดูไบให้ความสำคัญ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีศักยภาพในการเสริมความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจ พยายามวางยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พัฒนาตัวเองให้เป็น Medical hub แห่งใหม่ ที่จะสร้างอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจให้กับประเทศ
อ้างจากรายงานล่าสุดของ Dubai Health Authority (DHA) ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เชิงการแพทย์ในดูไบ ได้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 จำนวนของผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมารับบริการทางการแพทย์ในดูไบ และใช้จ่ายในด้านบริการทางการแพทย์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น มีความร่วมมือระหว่าง DHA กับพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก และโปรแกรมการรักษาผู้ป่วยของภาคการแพทย์เอกชน ความทุ่มเทในการมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับผู้ป่วยต่างชาติในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะดวกสบาย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและทันสมัยซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งความคิดริเริ่มเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายของวาระเศรษฐกิจของดูไบ D33 (Dubai Economic Agenda D33) เพื่อขยายเศรษฐกิจของดูไบเพิ่มเป็นสองเท่า ต้องการให้ดูไบเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวระดับโลก ภายในปี พ.ศ. 2576
ในปี 2566 ดูไบมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจำนวนกว่า 691,000 คนจากทั่วโลก โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์มากกว่า 280.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวน 674,000 ราย มูลค่าการใช้จ่าย 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีบทบาทสําคัญในการเพิ่ม GDP ดูไบโดยรวม ทั้งสามารถส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่สําคัญอีกหลายกลุ่ม อาทิ ภาคโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ที่พักต่างๆ ร้านอาหาร รถเช่า และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
ขณะที่ข้อมูลของ Dubai Digital Authority แสดงว่าร้อยละ 58 ของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นสตรี และสัดส่วนร้อยละ 42 เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวทางการแพทย์มาจากเอเชีย (ร้อยละ 33) ตามด้วยกลุ่มประเทศ GCC (ร้อยละ 28 ) ประเทศยุโรปและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ Commonwealth of Independent States: CIS ที่ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย มอลโดวา อาเซอร์ไบจาน คีร์กิซสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และยูเครน (ร้อยละ 23) เป็นที่น่าสังเกตุว่านักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวทั่วไปราวร้อยละ 35
บริการทางการแพทย์
ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ต้องการ ได้แก่
- ทันตกรรม (Dentistry) : ร้อยละ 29
• ผิวหนัง (Dermatology) : ร้อยละ 27
• นรีเวชวิทยา (Gynecology) : ร้อยละ 13
โดยมีความต้องการทางการแพทย์แบ่งตามภูมิภาคดังนี้
o ด้านผิวหนัง (Dermatology) : เอเซีย (33%) อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (28 %) ยุโรป (23 %)
o ด้านการทำทันตกรรม (Dental services): อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (48%) ยุโรป (20%) เอเซีย (19%)
o ด้านสูตินรีเวช (Gynecology services): กลุ่มประเทศเอเซีย (49%) ประเทศยุโรป (25%) อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (13%)
o ผ่าตัดกระดูกและข้อ (Orthopedic surgery) : อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (30%) เอเซีย (29 %) ยุโรป (24 %)
o ศัลยกรรมพลาสติก (Plastic surgery) : อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (43%) เอเซีย (21%) ยุโรป (21%)
o บริการตรวจรักษาทางด้านดวงตา (Ophthalmology services): เอเซีย (28%), อาหรับและ กลุ่มประเทศ GCC (27%) แอฟริกา (21%)
o การเจริญพันธุ์รักษาผู้มีลูกยาก (Fertility treatments) : เอเซีย (36%) อาหรับและกลุ่มประเทศ GCC (22%) ยุโรป (21%)
o การพักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ (Recuperation & recovery treatments) : ยุโรป (35 %) อาหรับและกลุ่มประเทศ (30 %) เอเซีย (21%)
สถิติข้างต้นย้ำถึงความน่าดึงดูดของดูไบในฐานะศูนย์กลางบริการดูแลสุขภาพเฉพาะทาง โดยดึงดูดผู้ป่วยจากทั่วโลกที่มองหาการรักษาและการดูแลคุณภาพสูงในสาขาวิชาการแพทย์ที่หลากหลายตามความต้องการของ แต่ละภูมิภาค ทั้งนี้นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของดูไบที่เดินทางไปใช้บริการมองหาทางเลือกการรักษาที่ไม่มีในประเทศ บางส่วนมองหาการรักษาที่รวดเร็วที่สุดไม่ต้องการจะรอคิว นอกจากพิจารณาเรื่องความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการรักษา มาตรฐานการดูแลพยาบาล ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเลือกประเทศจุดหมายปลายทางได้แก่ ความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีสายการบินเชื่อมทั่วทุกมุมโลก ขั้นตอนขอวีซ่าไม่ยุ่งยาก มีทางเลือกที่พักแบบต่างๆ และสำคัญเป็นเมืองแห่งการช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียง
ระบบสุขภาพ การพัฒนาและนวัตกรรม
ยูเออีให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนวัตกรรมในระบบสุขภาพ โดยมีการลงทุนในเทคโนโลยีการแพทย์และการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการดูแลสุขภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายส่วนสำคัญ
โรงพยาบาลรัฐบาล: ให้บริการสุขภาพราคาถูกแก่ประชาชนผ่านโรงพยาบาลและคลินิกของรัฐ แบ่งเป็น โรงพยาบาลภายใต้กระทรวงสาธารณสุขรัฐบาลกลาง โรงพยาบาลในเครือของกรมสุขภาพ (Health Authority) ของแต่ละรัฐ เช่น Abu Dhabi Health Services Company (SEHA), Dubai Health Authority มีการให้บริการ ที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูง รวมถึงการดูแลสุขภาพพื้นฐานและการรักษาที่ซับซ้อน โรงพยาบาลเหล่านี้ได้รับ การสนับสนุนจากรัฐบาลและมีค่าบริการที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ตัวอย่างของโรงพยาบาลรัฐบาลที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล Rashid โรงพยาบาล Dubai Hospital ในดูไบ โรงพยาบาล Al Qassimi ในรัฐชาร์จาห์
โรงพยาบาลเอกชน: มักจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นเครือข่ายสาขาของโรงพยาบาลของต่างประเทศ ค่าบริการสูงกว่าของโรงพยาบาลรัฐบาล ตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงที่เป็นสาขาของต่างประเทศ เช่น โรงพยาบาล Clemenceau Medical Center ภายใต้ Johns Hopkins Medicine International Hospital โรงพยาบาล King’s College Hospital โรงพยาบาล Cleveland Clinic Abu Dhabi และโรงพยาบาล Sheikh Khalifa Specialty ในรัฐราสอัลไคมาห์ ร่วมกับ Seoul National University Hospital ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น
ระบบประกันสุขภาพ: ยูเออีมีระบบประกันสุขภาพที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นโยบายหลักๆ คือการประกันสุขภาพของประชาชนและคนทำงาน การประกันสุขภาพเป็นข้อบังคับสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ประเทศนี้ ซึ่งทำให้ทุกคนมีความคุ้มครองทางการแพทย์พื้นฐาน
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของดูไบ มีแรงผลักดันจากเมกะเทรนด์สุขภาพและการที่ทั่วโลกหลายประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจสูงวัย (Sliver Economy) ชนชั้นกลางเติบโตและมีกำลังซื้อมากขึ้นทั่วโลก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก และหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผู้คนก็หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยมีโรงพยาบาลเอกชน เป็นภาคส่วนสำคัญรับนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง ได้เร่งปรับตัวทั้งการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี สอดรับกับ เทรนด์โลก ประกอบกับรัฐบาลยูเออีมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และการกระจายความเสี่ยงของประเทศ ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินการขยายขีดความสามารถในการผลิตภายในประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) โดยจะเป็นการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศและลดการนำเข้า
แต่สำหรับชาวอาหรับยูเออียังคงนิยมประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เนื่องจากราคาของการใช้บริการทางการแพทย์และใช้บริการอื่น ๆ ที่สมเหตุสมผล บุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลมีชื่อเสียง มีวัสดุอุปกรณ์ ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีมาตรฐานการรักษาระดับสากล นอกจากนี้ยังมีบริการกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีความงดงามทางธรรมชาติ รวมทั้งมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อจับจ่ายใช้สอยและพักผ่อน