📰 ข่าวเด่นประจำเดือนสิงหาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
ประเทศสโลวีเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย เป็นสามประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคบอลข่านตะวันตก จึงเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับทั้งนักลงทุน ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ซึ่งการจะทำการค้านั้น จำเป็นต้องสำรวจแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในพื้นที่
ประเทศสโลวีเนียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2547 และใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2550 มีภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ทั้งทางถนนทางรถไฟ ท่าอากาศยาน และท่าเรือ รวมถึงการมีช่องทางทางพลังงานไฟฟ้าที่สมบูรณ์ครบวงจร
ในขณะที่ประเทศโครเอเชีย ที่เพิ่งได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2556 และเริ่มใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2566 มีภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์หลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถผลิตพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้เองส่วนหนึ่ง ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งน้ำ และพลังงานลม ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน รายได้ของหลักของโครเอเชียที่มีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คือการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เห็นได้จากโครเอเชียมีรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยวในสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสถานที่อันสวยงามต่างๆ ในหลากหลายเมืองในโครเอเชีย โดยเมื่อปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในโครเอเชียกว่า 20.6 ล้านคน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโครเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 3.99 ล้านคน
ส่วนประเทศเซอร์เบีย ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทว่าได้ยื่นใบสมัครสมาชิกสหภาพฯ เมื่อปี 2552 ได้รับสถานะผู้สมัครสมาชิกสหภาพฯ เมื่อปี 2555 และเริ่มเปิดการเจรจาแก้กฎหมายในประเทศให้เป็นไปตามระบบกฎหมายของสหภาพยุโรปกับคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปี 2558 ปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม 2567 เซอร์เบียเปิดการเจรจาไปแล้ว 22 หมวดจาก 35 หมวด เช่น การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กิจการต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจและการเงิน และสหภาพศุลกากร เป็นต้น ทว่าบรรลุการเจรจาสำเร็จเพียงแค่ 2 หมวด
อย่างไรก็ดี เซอร์เบียยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มประเทศในบอลข่านตะวันตกที่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาซิโดเนียเหนือ มอนเตเนโกร โคโซโว และเซอร์เบีย ภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจบริการ
ผลการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ของผู้บริโภคในประเทศสโลวีเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย ประจำปี 2567 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 17,000 คน จัดทำโดยบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางการตลาด Mediana Market ร่วมกับ Media Research Institute รายงานข้อมูลที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
ความสดใหม่ของสินค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคทั้งสามประเทศ
-
- ชาวสโลวีเนียให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และทำเลที่ตั้งของร้านที่สามารถเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกเป็นหลัก การที่ร้านค้ามีที่จอดรถที่สะดวกสบาย ได้รับการบริการที่ดี มีระบบสะสมแต้มเพื่อแลกส่วนลดราคา หรือการเป็นของสมนาคุณ รวมทั้ง การจำหน่ายสินค้าทั้งในรูปแบบเดิม และสินค้าที่ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น
- ชาวโครเอเชีย ให้ความสำคัญกับสินค้าราคาถูก และโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย
- และชาวเซอร์เบีย มีพฤติกรรมใกล้เคียงกับชาวโครเอเชีย คือเน้นสินค้าราคาถูก มีการจัดโปรโมชั่น และทำเลที่ตั้งของร้านที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก
2. สถานที่จำหน่ายสินค้ายอดนิยม
-
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสโลวีเนีย ประมาณ 88% และชาวโครเอเชีย ประมาณ 83% นิยมซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันที่ซูเปอร์มาร์เก็ต
- ในขณะที่ชาวเซอร์เบีย นิยมซื้อของจากร้านค้าในท้องถิ่น เช่น ตลาดสด ร้านขายเนื้อ และร้านค้าปลีกย่อยในตลาดใกล้บ้านบ่อยครั้ง เนื่องจากร้านเหล่านี้ มักจะจำหน่ายสินค้าราคาถูกกว่าสินค้าที่ชายในซูเปอร์มาร์เก็ต
3. ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสินค้าออกใหม่และโปรโมชั่นส่งเสริมการขายยอดนิยม
-
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งใน 3 ประเทศ รับข้อมูลโปรโมชั่นสินค้าผ่านแผ่นพับและใบปลิวจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยชาวโครเอเชียและสโลวีเนีย รับแผ่นพับโดยตรงจากซุปเปอร์มาเก็ต เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง ในขณะที่ชาวเซอร์เบียมักจะรับข้อมูลจากการแจกใบปลิวที่ร้านค้าสาขาในพื้นที่ซึ่งอยู่ในลักษณะตลาดท้องถิ่นมากกว่า
- ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้ผู้บริโภคจากทั้ง 3 ประเทศ เริ่มนิยมการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ โดยรับสื่อจากทางโทรทัศน์ วิทยุ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
4. สรุปลักษณะเด่นของพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศสโลวีเนีย โครเอเชีย และเซอร์เบีย ประจำปี 2567
พฤติกรรมการบริโภค | สโลวีเนีย | โครเอเชีย | เซอร์เบีย |
ความถี่ในการซื้อสินค้า | 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ | 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ | ทุกวัน |
ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า | คุณภาพสินค้า และทำเลที่ตั้งของร้านที่ไปสะดวก | ราคาถูก และโปรโมชั่นลดราคาสินค้า | ราคาถูก และการมีทำเลที่ตั้งของร้านที่สะดวก |
สถานที่จำหน่ายสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม | ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีที่จอดรถสะดวกสบาย ได้รับการบริการที่ดี และมีการสะสมแต้มสำหรับสมาชิกเพื่อแลกส่วนลด | ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีที่จอดรถสะดวกสบาย และได้รับการบริการที่ดี | ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกในชุมชน และตลาดสด มากกว่าอีกสองประเทศ |
ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสินค้า | ใบปลิวโฆษณาที่ผู้บริโภคได้รับโดยตรงจากการแจกในซูเปอร์มาร์เก็ต การรับผ่านทางไปรษณีย์ และเริ่มรับข้อมูลการโฆษณาผ่านทางสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ | ใบปลิวโฆษณาที่ผู้บริโภคได้รับโดยตรงจากการแจกในซูเปอร์มาร์เก็ต และเริ่มรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ | ใบปลิวโฆษณาที่แจกในร้านท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เริ่มมีการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้น |
💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭
กลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรกรรมได้เพียงพอกับประชากร มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนจากชาวต่างชาติ รวมทั้ง นักธุรกิจไทยที่ต้องการลงทุนในพื้นที่ และสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ โดยรอบได้ โดยมีต้นทุนไม่มากเท่ากับการนำเข้าจากไทยโดยตรง อย่างไรก็ดี อุปสรรคประการสำคัญ คือการหาแรงงาน เนื่องจากแรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะ และต้องการรายได้สูง เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อในยุโรป
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคของทั้งสามประเทศ ปัจจัยเรื่องรายได้ต่อหัวของประชากรมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้า เช่น ในพื้นที่ห่างไกลของเซอร์เบีย ยังคงนิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกในท้องถิ่น และตลาดสด เป็นต้น แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสามประเทศมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ผูกอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศมากนัก ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค ยังสามารถขายได้ในราคาที่ไม่เพิ่มขึ้นรุนแรงเหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ที่พึ่งพาปัจจัยภายนอกในสัดส่วนสูง
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์จึงมองว่า การจะนำเสนอสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดของทั้งสามประเทศ มีความจำเป็นที่ควรจะต้องสานสัมพันธ์กับบริษัทที่ค้าปลีกในท้องถิ่น บริษัทกระจายสินค้า และบริษัทที่ให้บริการขนส่งสินค้าข้ามชาติ เพราะปัจจัยหรือแนวโน้มการเลือกซื้อสินค้าของแต่ละพื้นที่มีความต่างกันไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากนักธุรกิจไทย ต้องการจะขยายตลาดมายังประเทศในภูมิภาคนี้ นอกจากจะต้องผ่านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปแล้ว ต้องมีการวางแผนทดลองตลาด มีรูปแบบการนำเสนอที่ผู้บริโภคตอบสนองอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถได้รับความสนใจ และความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าจากประเทศไทย ดังนั้น การมี Partner หรือหุ้นส่วนธุรกิจในพื้นที่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเข้ามาเปิดตลาดในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ หากมีบริษัทไทยที่ต้องการเข้ามาศึกษาแนวโน้มตลาด หรือสอบถามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ภูมิภาคบอลข่านตะวันตก สามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์
ที่มาของข้อมูล
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
30 สิงหาคม 2567