1. ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของสินค้าไลฟ์สไตล์ในอิตาลี
สินค้าไลฟ์สไตล์ของอิตาลีมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมและศิลปะที่ยาวนานตั้งแต่สมัยยุคโรมันโบราณที่มีการผลิตสินค้าหรูหรา เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น เพื่อสะท้อนความมั่งคั่งและอำนาจของชนชั้นสูง ต่อมาในสมัยยุคเรเนซองส์ถือเป็นช่วงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านแฟชั่น การตกแต่งภายใน และศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากล ในศตวรรษที่ 20 อิตาลีกลายเป็นผู้นำด้านการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ แบรนด์ชั้นนำ เช่น Gucci, Fendi, Armani, Prada, Versace, Valentino เป็นต้น สินค้าเครื่องหนังจากอิตาลีเป็นที่รู้จักในด้านความประณีต คุณภาพสูง และเทคนิคการฟอกหนังที่ทันสมัย สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้ามีการนำเสนอดีไซน์ที่มีความทันสมัยและสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของผู้สวมใส่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการแฟชั่นและการออกแบบระดับสากล ปัจจุบันอิตาลียังคงเป็นผู้นำด้านแฟชั่นและการออกแบบ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาวัสดุ กระบวนการผลิต และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลักษณะเฉพาะและจุดเด่นของสินค้าไลฟ์สไตล์อิตาลี ได้แก่ 1) คุณภาพและการออกแบบ 2) การใช้วัสดุและเทคโนโลยี และ 3) การนำเสนอและการตลาด
2. ระบบนิเวศ (Ecosystem) การพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ของอิตาลี
2.1 วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (Brand identity) มีการผสมผสานวัฒนธรรมและจุดเด่นของแต่ละภูมิภาค ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค และมีคุณภาพสูง ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ประเทศ (Country Image) ผ่านทางสินค้าได้เป็นอย่างดี
2.2 ภาคเอกชน เครือข่ายผู้ประกอบการของอิตาลีมีความเข้มแข็งอย่างมากตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค ผู้ผลิตในอิตาลีมักมีการทำงานและแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน โครงสร้างการผลิตของอิตาลีมีลักษณะเฉพาะตัว อาศัยการผลิตในรูปแบบคลัสเตอร์ ตั้งแต่กลุ่มบริษัทขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่ยึดห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นเป็นหลัก
2.3 ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งในอิตาลี มีหลักสูตรด้านการออกแบบแฟชั่น และศิลปะที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการทั่วโลกในการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์
2.4 ภาครัฐ อิตาลีให้ความสำคัญกับการปกป้อง คุ้มครอง สินค้าที่ผลิตในอิตาลีเป็นอย่างมาก โดยจัดตั้งกระทรวงวิสาหกิจและการผลิตในอิตาลี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น ดีไซน์ และอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อิตาลีมีความสามารถในการแข่งขันเป็นหลัก โดยปี 2565 อิตาลีขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ DOP และ IGP มากกว่า 845 รายการ ถือว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของยุโรป อิตาลีได้จัดตั้ง Italian Trade Agency ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของอิตาลี
2.5 องค์กรอิสระ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศ สนับสนุนศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยให้ทุนสนับสนุนและโอกาสในการแสดงผลงาน ซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตของวงการการออกแบบในอิตาลี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศในเวทีนานาชาติ
3. สถิติการค้าระหว่างประเทศสินค้าไลฟ์สไตล์
3.1 อิตาลีส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ไปโลก ปี 2566 มีมูลค่า 45,454.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+1.55%) โดยตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ฝรั่งเศส 2) เยอรมนี 3) สหรัฐอเมริกา 4) สวิสเซอร์แลนด์ และ 5) จีน สำหรับปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 39,936.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสัดส่วนการส่งออกของสินค้าไลฟ์สไตล์ของอิตาลีในประเทศแถบเอเชียขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง เนื่องจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าวและความนิยมสินค้าต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์
3.2 ไทยนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์จากอิตาลี ปี 2566 มีมูลค่า 720.408 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (+13.28%) โดยมีสัดส่วนนำเข้าของรองเท้าและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่สินค้าไลฟ์สไตล์อื่น ๆ มีสัดส่วนคงที่ สำหรับปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 362.303 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์สินค้าจากอิตาลีเพิ่มมากขึ้น
3.3 ไทยส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ไปโลก ปี 2566 มีมูลค่า 10,750.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (-11.33%) โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มสิ่งทอมากที่สุด คิดเป็น 56.11% สำหรับปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มี มูลค่า 5,415.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระตุ้นความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ สินค้าไทยยังคงได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ การออกแบบที่โดดเด่นและเน้นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการขยายตัวของช่องทางการขายออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายบางประการ เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว นอกจากนี้ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศผู้ผลิตรายอื่น ๆ ก็เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยต้องพิจารณาและปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของการส่งออกอย่างยั่งยืน
4. การส่งเสริมสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยในปัจจุบัน
4.1 ตลาดในประเทศ ได้แก่ 1) การจัดงานแสดงสินค้า อาทิ งาน Style Bangkok 2) การสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ โครงการ SMEs Pro-active ที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ การอบรมด้านการตลาด และการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและการตลาด การประกวดรางวัล DEmark เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าของตนเอง เป็นต้น
4.2 ตลาดต่างประเทศ ได้แก่ 1) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลก อาทิ งาน Salone del Mobile ในอิตาลี งาน Maison&objet ในฝรั่งเศส งาน Tokyo Gift Show ในญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้พบกับลูกค้าต่างประเทศและขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยสู่สากล 2) ส่งเสริมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon, Alibaba, Lazada, Meisterstrasse เป็นต้น ในการจำหน่ายสินค้าไทยในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต่างประเทศสามาถเข้าถึงสินค้าไทยได้ง่ายขึ้น 3) ความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ การเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและร่วมออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคต่างประเทศ
5. ข้อเสนอแนะการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทย
5.1 การยกระดับคุณภาพและการออกแบบ ได้แก่ 1) การพัฒนาฝีมือช่างและนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการควรสร้างโปรแกรมฝึกอบรมที่ครอบคลุมเทคนิคดั้งเดิมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือและการออกแบบที่ทันสมัย และ 2) การวิจัยและพัฒนาวัสดุ โดยผู้ประกอบการควรลงทุนในการวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
5.2 การสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ ได้แก่ 1) การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ ควรพัฒนาแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ไทยให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างชัดเจน และ 2) การเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคและทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ
5.3 การตลาดสร้างสรรค์ ได้แก่ 1) การตลาดออนไลน์ เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย การทำ SEO และการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก และ 2) จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์
5.4 การสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยง ได้แก่ 1) การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร รวมถึงการร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และ 2) ขอการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรอิสระ เช่น การขอทุนสนับสนุนและการเข้าร่วมกิจกรรมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
5.5 การศึกษาและการพัฒนาทักษะ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม ในการพัฒนาหลักสูตรการออกแบบและการผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 2) การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ ให้กับนักออกแบบและช่างฝีมือให้มีความรู้และทักษะที่ทันสมัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในวงการสินค้าไลฟ์สไตล์ การพัฒนาแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน และ 3) การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ในการผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล การลดการใช้พลาสติก และการเลือกใช้วัสดุจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และควรให้ความสำคัญกับการออกแบบสินค้าที่มีความยั่งยืน ใช้งานได้นาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือ รีไซเคิลได้
5.6 การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดโลก ได้แก่ 1) การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก และ 2) การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยในตลาดโลก
6. ความคิดเห็น
6.1 การพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จำเป็นต้องเน้นที่การยกระดับคุณภาพและการออกแบบ การสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ การสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยง การศึกษาและการพัฒนาทักษะ การพัฒนาแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดโลก ด้วยการนำแนวทางจากอิตาลีมาปรับใช้ไทยสามารถสร้างสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้
6.2 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน ให้การสนับสนุนและนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ในอิตาลีต่อเนื่องมาโดยตลอด อาทิ งานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์นานาชาติ Salone del Mobile และเทศกาล Milan Design Week ณ เมืองมิลาน งานแสดงสินค้ารองเท้า Expo Riva Schuh ณ เมือง Riva Del Garda งานแสดงสินค้ากระเป๋าและเครื่องหนัง Mipel ณ เมืองมิลาน เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้สินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

thThai