กระแสความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ทำให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งอาหาร และวัตถุดิบทางเลือกมากขึ้น

 

“Yoshinoya” ร้านข้าวหน้าเนื้อวัวรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีสาขารวมมากกว่า 2,700 แห่งทั้งในญี่ปุ่น และในต่างประเทศ เริ่มนำร่องใช้เนื้อนกกระจอกเทศเป็นวัตถุดิบอาหารในญี่ปุ่นกว่า 400 สาขา (จากทั้งหมด 1,200 สาขา) เพิ่มจากเนื้อวัว ไก่ และหมู จากการที่บริษัทฯ ตระหนักถึงปริมาณการบริโภคเนื้อวัวในประเทศจีน และแนวโน้ม การบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกซึ่งส่งผลให้ราคาเนื้อวัวปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรม และธุรกิจบริการอาหารส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นใช้เนื้อวัวนำเข้า เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อวัวแช่แข็งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ณ สิงหาคม 2567 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง

 

นกกระจอกเทศเป็นวัตถุดิบเนื้อสัตว์ทางเลือกที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าวัว และสุกร โดยเมื่อเทียบกับการเลี้ยงวัว ใช้ปริมาณอาหารสัตว์น้อยกว่าถึงร้อยละ 40 และปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน/ก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเครื่องสำอางได้อีกด้วย โดยกรดไขมันของนกกระจอกเทศมีองค์ประกอบใกล้เคียงกับของมนุษย์ ทำให้สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดีกว่าไขมันจากพืช ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงนกกระจอกเทศในญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีจำนวนเพียง 5,000 ตัว และการบริโภคมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 เทียบกับไก่ และวัว

 

ในการนี้ บริษัทฯ สร้างภาพลักษณ์เนื้อนกกระจอกเทศโดยตั้งราคาในระดับกลาง ในช่วงนำร่อง ราคาจำหน่ายชุดเซตข้าวหน้าเนื้อนกกระจอกเทศ “Limited edition” สูงกว่าเนื้อประเภทอื่น อยู่ที่ 1,683 เยน และเครื่องสำอางราคาระหว่าง 5,720 – 16,500 เยน โดยจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านค้าปลีก

——————————————————————————————————

 

ที่มา : https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC261GG0W4A820C2000000/

https://www.alic.go.jp/chosa-c/joho01_003883.html

thThai