เคนยาห้ามนำเข้าน้ำตาลจากนอกกลุ่มการค้า Comesa และ EAC กระทบการส่งออกไทย

เมื่อวันอังคาร (10 ก.ย. 2567) ที่ผ่านมา เคนยาได้ออกกฎห้ามการนำเข้าน้ำตาลจากนอกกลุ่มตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Comesa) และกลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าระดับภูมิภาค 2 กลุ่ม โดยอ้างถึงการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในท้องถิ่น

 

นายแอนดรูว์ คารันจา (Andrew Karanja) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ของเคนยา กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยาว่า ผลผลิตน้ำตาลในท้องถิ่นดีขึ้น โดยคาดว่าประเทศจะผลิตได้มากกว่า 800,000 เมตริกตันในปีนี้

 

นาย Karanja ยังกล่าวเสริมว่า รัฐบาลจึงไม่ได้ขยายระยะเวลาการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศนอกกลุ่มการค้า Comesa และ EAC โดยเขาสังเกตว่า ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา (2021-2024) เคนยาผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 700,000 เมตริกตันต่อปีจากโรงงาน 16 แห่ง โดยการผลิตสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 800,000 เมตริกตันในปี 2022

 

อย่างไรก็ดี นาย Karanja สังเกตว่าปี 2023 เป็นปีที่ไม่ปกติ โดยเริ่มจากภัยแล้งรุนแรงซึ่งส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง จำเป็นต้องนำเข้าจำนวนมากเพื่อปิดช่องว่างด้านอุปทานในประเทศ

 

โดยเขาเปิดเผยต่อว่า การบริโภคน้ำตาลทรายเฉลี่ยต่อปีในเคนยาอยู่ที่ประมาณ 950,000 เมตริกตันต่อปี โดยปริมาณที่ขาดแคลนได้รับการชดเชยด้วยการนำเข้าจากประเทศ Comesa และ EAC ภายใต้พิธีสารการค้าที่มีอยู่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศเคนยาได้อนุญาตให้มีการนำเข้าน้ำตาลจากนอกภูมิภาคเหล่านี้เป็นการชั่วคราว เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากราคาที่สูง เขากล่าวเสริมว่าการนำเข้าจาก Comesa และ EAC ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยมาตรการป้องกันน้ำตาลซึ่งมีกำหนดจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

 

นอกจากนั้น ยังเน้นย้ำว่าเคนยาได้ส่งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการลักลอบขนน้ำตาลผิดกฎหมายผ่านพรมแดนที่มีการลักลอบนำเข้าไม่ว่าจะเป็นทางชายแดนยูกานดา หรือ แทนซาเนีย ที่มักมีการลักลอบการนำเข้ามา และยังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพิธีสารการค้าเสรีที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาที่มีอยู่

 

ความเห็นของ สคต.

ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลทรายมาเคนยา ในลักษณะเป็น Spot lot หรือ ขึ้นอยู่กับตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด โดยที่ผ่านมา จะมีการส่งออกมาประมาณ 90-40 ตันในทุกๆปี โดยในช่วงปี 2563-2567 (2020-2024) นั้น พบว่า มีการส่งออกมามูลค่าดังนี้

 

ปี 2563 จำนวน 38 ตัน มูลค่าประมาณ 37.42 ล้านบาท

ปี 2564 ไม่มีการส่งออก

ปี 2565 จำนวน 90 ตัน มูลค่าประมาณ 1,708 ล้านบาท

ปี 2566 จำนวน 42 ตัน มูลค่าประมาณ 776 ล้านบาท

ปี 2567 จำนวน 39 ตัน มูลค่า 273 ล้านบาท

 

สคต. มีความเห็นว่า มาตรการนี้ เป็นการช่วยเหลือโรงงานและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และผลิตน้ำตาลในประเทศ หากมีความต้องการนำเข้า ก็จะนำเข้าเป็นช่วงเวลาแล้วแต่ตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด  อย่างไรก็ดี แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความต้องการจะปกป้องผู้ผลิตในประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่ทำให้ การส่งออกของไทยในอนาคตอาจจะทำได้ยากลำบากมากขึ้น ตามสถานการณ์การผลิตและราคาในประเทศตามที่ได้แจ้งในข้างต้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตน้ำตาลและผู้ส่งออก ควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มักแจ้งว่า มีโควต้านำเข้าสินค้าหรือแจ้งว่ามีความสามารถในการนำเข้ามาได้ เนื่องจาก มักมีผู้ใช้ช่องว่างที่ว่านี้ หลอกลวงและลักลอบการนำเข้าสินค้าน้ำตาลที่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ในประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค  ซึ่ง สคต. จะได้รายงานสถานการณ์เมื่อรัฐบาลของเคนยาหรือประเทศใกล้เคียงมีการออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าน้ำตาลนี้ ในโอกาสต่อไป

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai