ตุรกีเพิ่มภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์จากผู้ค้าปลีกต่างประเทศ เพื่อปกป้องผู้ค้าปลีกในประเทศจากบรรดายักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซระดับโลก
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ตุรกีได้ประกาศใช้กฎระเบียบด้านภาษีใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม โดยกฎระเบียบดังกล่าวระบุว่าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 30 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,100 บาท ที่สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จากผู้ขายในสหภาพยุโรปและจัดส่งทางไปรษณีย์หรือบริการจัดส่งด่วน จะต้องชำระภาษีศุลกากรเพิ่มเป็นร้อยละ 30 จากเดิมที่เรียกเก็บอยู่ที่ร้อยละ 18 และสำหรับสินค้าที่ซื้อจากประเทศอื่นๆ นอกสหภาพยุโรป เช่น จีน จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 60 โดยบางผลิตภัณฑ์ยังจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 20 ด้วย แต่ยังไม่ได้มีการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งนี้ มูลค่า 30 ยูโร ตามที่ระบุในกฎระเบียบดังกล่าวนั้น เป็นมูลค่าตามเพดานสูงสุดที่อนุญาตให้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยใช้การจัดส่งทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งถูกลดลงมาจากเดิมก่อนหน้านี้ได้มีการกำหนดเพดานมูลค่าสูงสุดดังกล่าวไว้ที่ 150 ยูโร (การสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเพดานที่กำหนดจะมีขั้นตอนการดำเนินการด้านภาษีที่ยุ่งยากขึ้นไปอีก) และยังเพิ่มข้อจำกัดเกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าที่สั่งซื้ออีกด้วยว่า หากมีน้ำหนักเกิน 30 กิโลกรัม จะมีการคิดค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของตุรกี นาย Ömer Bolat ได้ตอบโต้คำวิจารณ์ที่ว่ากฎระเบียบใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนของผู้บริโภค โดยระบุว่า จุดประสงค์คือเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในตุรกีจากคู่แข่งจากต่างประเทศ และต่อมากระทรวงการค้าได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้เป็นการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ผู้ผลิต และธุรกิจขนาดย่อมต่างๆ ตลอดจนสมาคมการค้าและอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำถึงข้อกังวลในการลดลงของยอดขาย การผลิต และการจ้างงานภายในประเทศ
ศาสตราจารย์ Binhan Elif Yilmaz จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล กล่าวว่า เป้าหมายหลักของมาตรการดังกล่าวนั้นคือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon และ Temu ของจีน โดยเมื่อคำนึงถึงสัดส่วนทางการตลาดในตุรกีสำหรับบริษัทเหล่านี้ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยแล้ว การเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้นแทบจะไม่มีผลกระทบสำคัญต่อรายได้ของประเทศ
“ภาษีศุลกากรมีสัดส่วนที่ค่อนข้างจำกัดในภาพรวมรายได้ของรัฐ” Yılmaz กล่าวกับ AGBI “เมื่อปีที่แล้ว รายได้ของรัฐมีสัดส่วนภาษีศุลกากรอยู่ที่ร้อยละ 3.16 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยในช่วงสามปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และกฎระเบียบนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของภาษีศุลกากรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นอาจไม่สามารถสร้างรายได้เข้ารัฐได้เป็นกอบเป็นกำมากนัก แต่ในด้านยอดขายของธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อย่างที่คาดไม่ถึง
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
เช่นเดียวกับทั่วโลก ในช่วงหลายปีมานี้การค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในตุรกีมีการเติบโตอย่างมาก คนตุรกีในปัจจุบันนิยมการจับจ่ายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าทั่วไป อาหาร บริการ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน รวมทั้งรัฐบาลเองก็มีนโยบายให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ
อีคอมเมิร์ซภายในประเทศอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามตลาดอีคอมเมิร์ซอย่าง ETBIS ที่มีบริษัทห้างร้านต่างๆ กว่าสี่หมื่นรายที่ลงทะเบียนไว้กับระบบ หรือการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจของเจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Amazon หรือ Temu ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้าออนไลน์ในประเทศอย่างแน่นอน Amazon (ตุรกี) ได้รับความนิยมจากผู้คนในตุรกีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจุดเด่นในเรื่องระบบ คุณภาพของสินค้า และการจัดส่งที่รวดเร็ว รวมทั้งบริการสตรีมมิ่งอย่าง Prime ที่พ่วงมาด้วย ส่วน Temu ที่ตอนนี้มีประเด็นเรื่องการแย่งส่วนแบ่งตลาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ก็กำลังสร้างปัญหาแบบเดียวกันกับผู้ค้าในประเทศตุรกี เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการออกกฎระเบียบด้านภาษีที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซใหม่ของตุรกีตามที่เนื้อข่าวได้นำเสนอ
เมื่อมองถึงเหตุผลด้านการปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศดังกล่าวข้างต้น บวกกับนโยบายหลักทางเศรษฐกิจของตุรกีในขณะนี้ที่มุ่งทำทุกวิถีทางที่จะสามารถลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ กฎระเบียบดังกล่าวก็ดูสมเหตุสมผล แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของตลาดตุรกีเองในขณะนี้คือ ผู้ค้าภายในประเทศเองต่างก็พากันตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นมากด้วยสภาวะเงินเฟ้อ มาตรการการปรับขึ้นภาษีศุลกากรดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภคซึ่งอาจสร้างกระแสความไม่พอใจในสังคมขึ้นได้
ที่มา: https://www.agbi.com/retail/2024/08/turkey-hikes-customs-duties-overseas-ecommerce-sales/