(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2567)
Musinsa แพลตฟอร์มแฟชั่นชั้นนำของเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนโกดังสินค้าเก่าแก่หลายสิบปี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งเขตซองซู (Seongsu) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงโซล ให้กลายเป็นร้านค้าออฟไลน์แห่งใหม่ล่าสุดสำหรับกลุ่มวัยรุ่นผู้รักแฟชั่น บริษัทฯ กำลังพยายามดึงดูดลูกค้าต่างชาติเพิ่มมากขึ้นด้วยแบรนด์ในประเทศ ซึ่งนำเสนอแฟชั่นแบบฉบับเกาหลีอย่างแท้จริง โดยได้เปิดร้านแห่งแรกในย่านที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงโซล
Musinsa Store Seongsu@Daelim Chango ถูกสร้างขึ้นที่โกดังแดลิม (Daelim Warehouse) ซึ่งเคยเป็นโรงสีข้าวที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 โดย Musinsa ยังคงรักษาวัสดุและโครงสร้างดั้งเดิมของโกดังเอาไว้ เพื่อเปิดให้ผู้คนได้เข้าเยี่ยมชม อิฐแดงเก่า ปูนที่ฉาบไม่เรียบ และคานเหล็กขึ้นสนิมค้ำยันเพดานจั่ว ทำให้พื้นที่ 704 ตารางเมตรของร้านค้าชั้นเดียวแห่งนี้ดูน่าทึ่งทั้งด้านนอกและด้านใน
โกดังดังกล่าวได้กลายมาเป็นแกลลอรี่ในปี 2016 ซึ่งสร้างกระแสฮือฮาและได้รับความนิยม จนได้รับชื่อว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของอดีตและปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของ Musinsa กล่าวว่า แกลเลอรี่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ย่านซองซูสามารถเจริญก้าวหน้าอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
Musinsa เช่าสถานที่และเริ่มปรับปรุงพื้นที่ในเดือนมิถุนายน บริษัทต้องการตีแผ่ประวัติศาสตร์และมรดกของสถานที่ดังกล่าว เพื่อสร้างความกลมกลืนกับการตกแต่งที่ทันสมัยของร้าน จึงเลือกเก็บป้ายเดิมของโกดังให้คงอยู่ภายนอกร้านเพื่อคงความดั้งเดิมเอาไว้ ร้านค้าออฟไลน์ในประเทศแห่งที่สามของบริษัทฯ สามารถเปิดขึ้นได้ เพราะย่านซองซูได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ จากข้อมูลของ Tourism Data Lab ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Open-source ออนไลน์ ซึ่งดำเนินการโดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี พบว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของชาวต่างชาติในย่านซองซูตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคมคิดเป็น 38,000 ล้านวอน (28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 เปอร์เซ็นต์จากปี 2566 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากลูกค้าในซองซูที่ซื้อของด้วยบัตรเครดิตในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าผู้หญิงเกาหลีในวัย 20 ปีเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 16.9
Musinsa กล่าวว่า แฟชั่นเกาหลีได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้าน Musinsa Store Hongdae ทางตะวันตกของโซล มีนักท่องเที่ยวร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ โดยร้อยละ 85 เปอร์เซ็นต์จากกว่า 100 แบรนด์ในร้านค้าออฟไลน์ของบริษัทเป็น แบรนด์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของบริษัทที่อยากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ K-fashion
ความเห็น สคต.
นอกจากการรูปแบบสินค้า คุณภาพ และราคาที่จับต้องได้จะเป็นปัจจัยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคแล้ว รูปแบบวิธีการนำเสนอสินค้า บรรยากาศและสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่วางขายสินค้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเชิญชวนผู้บริโภคให้เข้ามาชมสินค้าและอยากซื้อสินค้ามากขึ้น เกาหลีใต้นับว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ล้ำหน้าด้านแฟชั่นและการดีไซน์ นอกจากความสวยงามของสินค้าแล้ว ภาพลักษณ์โดยรวมของร้านค้าเป็นปัจจัยที่แบรนด์เกาหลีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การเลือกทำเลที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และปรับปรุงสถานที่โดยคงความเป็นแบบฉบับและเล่าต่อเรื่องราวของสถานที่แห่งนั้น เป็นการเพิ่มแรงดึงดูดและสร้างภาพจำของ แบรนด์ และทำให้สินค้าดูน่าสนใจในสายตาของผู้บริโภคได้มากขึ้น
สำหรับประเทศไทย มีอาคาร สถานที่ และย่านท่องเที่ยวมากมายที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การคำนึงถึงสถานที่ตั้งของร้าน การตกแต่งร้าน การใช้ Storytelling เพื่อนำเสนอที่มาและคอนเซ็ปต์ของสินค้า อาจช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค และสร้างการรับรู้แบรนด์ไทยได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ อาจนำไปปรับใช้ได้กับสินค้าทุก ๆ ประเภททั้งสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการต่างๆ
อนึ่ง ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์สินค้าแฟชั่นจากประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้ามาประชาสัมพันธ์สินค้าในเกาหลีใต้ในรูปแบบ Pop-up store ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเกาหลีใต้และย่านชอปปิงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเกาหลีนิยมพลุกพล่าน สินค้าแฟชั่นที่ผู้ประกอบการไทยนำมาแสดงและได้รับการตอบรับจากชาวเกาหลี ได้แก่ ชุดว่ายน้ำ ชุดอัดพลีท ชุดออกกำลังกาย เป็นต้น
********************************************************************