เนื้อหาสาระข่าว: ตัวเลขการนำเข้าสิ่งทอในเดือนกรกฎาคมที่มาจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ ได้เผยให้เห็นชัดเจนว่า หลังจากการระบาดของโควิด-19 บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ตระหนักว่า การพึ่งพาแหล่งเดียวในการจัดหาสินค้าไม่ใช่กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดอีกต่อไป

ข้อมูลการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมแสดงถึงการเติบโตที่ดี โดยการขนส่งเครื่องนุ่งห่มจากทุกแหล่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบรายปี ถึง 2.5 พันล้านเทียบเป็นตารางเมตร (SME – หน่วยวัดปริมาณผ้าเทียบเป็นตารางเมตรเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกันเพราะแหล่งข้อมูลจากบางแหล่งอาจใช้หน่วยเป็นหลา) จีนซึ่งเป็นผู้จัดหาเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐฯ มีการขนส่งเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบรายปีในเดือนกรกฎาคม มี 1.1 พันล้าน SME ส่วนเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับรองลงมาก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 มี 385 ล้าน SME แต่ที่น่าสนใจคือ จากผู้จัดหาเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่สิบอันดับแรกของสหรัฐฯ มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่ประสบปัญหาลดลง ได้แก่ บังกลาเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดหาเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับสาม ที่ลดลง 2.2% เหลือ 217 ล้าน SME และเม็กซิโกซึ่งลดลง 5.4% เหลือ 51 ล้าน SME เมื่อพิจารณาถึงการลดลงของบังกลาเทศ ตัวเลขดังกล่าวไม่น่าประหลาดใจเนื่องจากความไม่สงบในประเทศขณะนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงงานผลิตเสื้อผ้าจำนวนประมาณ 130 แห่งในบังกลาเทศถูกปิดตัวลงเนื่องจากการประท้วงของแรงงานที่เรียกร้องค่าแรงสูงขึ้นและการค้างจ่ายค่าแรงโดยนายจ้าง รายงานข่าวท้องถิ่นระบุว่าการประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลรักษาการกำลังยากลำบากมาก เพราะกำลังดิ้นรนเพื่อรักษาเสถียรภาพหลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยนักศึกษา ขณะนี้รัฐบาลรักษาการกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของแรงงาน ในขณะที่ต้องรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยไปด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว องค์กร 9 แห่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ร่วมกันเสนอคำแนะนำในการจัดหาเครื่องนุ่งห่มอย่างรับผิดชอบในบังกลาเทศ ท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับการค้างจ่ายและการลดค่าแรง ก่อนหน้านี้ UNI Global Union และ IndustriALL ได้เรียกร้องให้แบรนด์แฟชั่นกว่า 200 แบรนด์รักษาการมีส่วนร่วมในบังกลาเทศ และยืนยันคำสั่งซื้อเครื่องนุ่งห่มเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถรักษาอนาคตทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยได้ Dr. Sheng Lu ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาด้านเครื่องนุ่งห่มจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ให้ความเห็นว่า “การนำเข้าจากบังกลาเทศในเชิงปริมาณลดลงร้อยละ 2.2 และในเชิงมูลค่าก็ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบปีต่อปี การลดลงนี้เป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งถึงผลกระทบด้านลบที่ความไม่สงบและความไม่มั่นคงในบังกลาเทศมีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในฐานะศูนย์กลางการจัดหาเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ เนื่องจากบังกลาเทศเป็นแหล่งจัดหาเครื่องนุ่งห่มประเภทพื้นฐาน การหาทางเลือกจากประเทศเอเชียใกล้เคียงจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก”ตัวเลขการนำเข้าตอกย้ำข้อสังเกตดังกล่าว โดยการขนส่งสินค้าจากแหล่งจัดหาในเอเชียหลายประเทศมีการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนกรกฎาคม โดยกัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในสิบประเทศ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4% เป็น 112 ล้าน SME ขณะที่อินโดนีเซียมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เป็น 85 ล้าน SME อินเดียมีการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็น 115 ล้าน SME และปากีสถานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เป็น 63 ล้าน SME

ในขณะเดียวกัน ในกลุ่มประเทศแหล่งจัดหาในอเมริกากลาง ฮอนดูรัสมีปริมาณการจัดส่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยฮอนดูรัสมีการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศผู้จัดหาเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่สิบประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 รวมเป็น 73 ล้าน SME นอกจากนี้ยังมี นิคารากัวมียอดจัดส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ในเดือนกรกฎาคม รวม 54 ล้าน SME

Dr. Sheng Lu แสดงความเห็นว่า “การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 2024 เติบโตอย่างไม่คาดคิด อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงอยู่ที่การเติบโตนี้จะยั่งยืนได้นานแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม 2024 มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากปรับตามปัจจัยฤดูกาลแล้ว การนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2024 ทั้งปริมาณและมูลค่า เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 จากเดือนมิถุนายน ที่น่าสนใจคือ ยอดค้าปลีกเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2024 แทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ยังลดลงเล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผล แต่การนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ อาจเป็นผลมาจากความเร่งรีบของบริษัทแฟชั่นในการนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีศุลกากรในอนาคต”

ผู้นำเข้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของสหรัฐฯ เปลี่ยนพฤติกรรมการจัดหาสินค้า

หลังจากโควิด-19 ผ่านไปไม่นาน ในช่วงปีหรือสองปีแรก ที่มีกระบวนการจัดหาวัตถุดิบทั่วโลกมีการปรับตัวครั้งใหญ่ โดยการจัดหาสินค้าจากจีนลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ต้องพยายามอย่างหนักที่จะฟื้นตัวจากปัญหาที่มีการปิดโรงงานจำนวนมาก การจัดส่งที่ล่าช้า และต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น

เหตุการณ์นี้ได้สอนบทเรียนที่ร้ายแรงแต่ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ไว้ ทำให้เกิดยุคใหม่ของการจัดหาสินค้า ที่บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ จำต้องลดการพึ่งพาแหล่งสินค้าจากจีนลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ และเริ่มสำรวจทางเลือกจากแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งยังคงจัดหาจากจีนอยู่ เพราะด้วยต้นทุนที่ต่ำและประสิทธิภาพการผลิตสูง ทำให้จีนไม่สามารถหายไปจากตลาดได้อย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม 2024 จีนมีส่วนแบ่งการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 24.6 และโดยสัดส่วนเชิงปริมาณมีร้อยละ 41.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งคู่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตัวเลขการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในช่วงครึ่งปีแรกของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า สินค้าจากจีนมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบปีต่อปี ในเดือนมิถุนายน ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของเครื่องนุ่งห่มจากจีนลดลงอีก เหลือเพียง 1.76 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาถูกที่สุดในบรรดาผู้จัดหาสินค้าเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ ของสหรัฐฯ 10 อันดับแรกโดยมีราคาถูกกว่าประเทศที่ถูกที่สุดอันดับต่อไปอย่างเอลซัลวาดอร์ถึงร้อยละ 37 ซึ่งมีราคา 2.80 เหรียญสหรัฐ

ผลลัพธ์ล่าสุดที่บ่งชี้ถึงการเติบโตในทุกด้าน แสดงให้เห็นว่าราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป แน่นอนว่าราคายังคงมีความสำคัญ แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนจนต้องประสบปัญหากันทั่วหน้า รวมถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างรุนแรง เช่น วิกฤตทะเลแดง บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ในสหรัฐฯ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการเร่งกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตมาใกล้บ้านมากขึ้น และนอกจากนี้แล้ว เมื่อรวมเอาเรื่องที่ระดับอุปสงค์ของสินค้าพื้นฐานและสินค้าที่ผลิตจำนวนมากลดลงด้วย จึงส่งผลให้กลยุทธ์การจัดหาสินค้าของบริษัทเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

Dr. Sheng Lu ชี้ว่า “แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าบริษัทในสหรัฐฯ กำลังดำเนินการสวนทางกับความพยายามในการลดความเสี่ยง แต่ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นที่ยังคงอยู่ของจีนในฐานะผู้จัดหาเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนมีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดหาให้กับบริษัทแฟชั่นในสหรัฐฯ ได้อย่างมาก ด้วยการใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์และประสิทธิภาพการผลิตที่สูง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บริษัทในสหรัฐฯ สามารถย้ายคำสั่งซื้อกลับมาที่จีนได้อย่างง่ายดายหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้บริษัทขยายการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซและส่งสินค้ามูลค่าต่ำไปยังตลาดตะวันตก การเพิ่มขึ้นของสินค้าขนาดเล็กเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎ de minimis และนำไปสู่มาตรการการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นที่มุ่งเป้าไปยังสินค้าจีน”

บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าขนส่ง ค่าแรง ฯลฯ ของสหรัฐฯ นั้นสูงมาก จำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่มีราคาต้นทุนต่ำเพื่อจะมาขายในราคาที่รับได้ในตลาด แล้ววันหนึ่งจีนก็เปิดประเทศแล้วตอบโจทย์ได้ตามที่วาดหวังไว้ บรรดาแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกจากทั่วโลกก็แห่กันมาใช้บริการการผลิตในจีน พอมาถึงวันนี้วันที่สภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลกเกิดตึงเครียด วันที่สหรัฐฯ ต้องการตีตัวออกห่างจากจีน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะทุกมุมเมืองทุกแหล่งจับจ่ายในสหรัฐฯ ล้วนเต็มไปด้วยสินค้าราคาถูกมากจากจีน หากสหรัฐฯ จำเป็นต้องปิดประเทศไม่รับสินค้าจากจีนแบบเฉียบพลัน สหรัฐฯ คงไม่อาจหนีวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดนับจากประเทศสหรัฐฯ กำเนิดขึ้นมากันเลยก็เป็นไปได้ แต่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก็เป็นหัวเชื้อที่เร่งให้บรรดาแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ต้องมองหาแหล่งทดแทนแหล่งผลิตจากจีน เรื่องราคานั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดตามที่บทความนี้กล่าวไว้ก็จริง แต่ก็เป็นเงื่อนไขต้นๆ ในการคัดเลือกแหล่งผลิตทดแทนอยู่ดี อย่างน้อยบรรดาแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกก็ไม่ได้คาดหวังว่าแหล่งผลิตระดับรองๆ ลงมาจะต้องสู้กับราคาของจีนได้ แต่ยังต้องแข่งกันเองอยู่ดี ไม่มีทางเลือกอื่น ปัจจัยลบในประเทศบังกลาเทศซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้ารายสำคัญในตลาดโลก ส่งผลร้ายต่อธุรกิจตน แต่เปิดโดกาสให้แหล่งผลิตอื่นๆ ได้ชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นกันบ้าง

บทเรียนสำคัญที่ทำให้บรรดาแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ จำต้องสั่งสินค้าจากหลายๆ แหล่งก็คือช่วงเกิดโรคระบาด ซึ่งเมื่อต้นทางปิดประตู Lock Down ก็เดือดร้อนกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบรรดานักธุรกิจใหญ่เหล่านี้ก็คงเรียนรู้การบริหารจัดการความเสี่ยงกันมาอย่างดีแล้ว แต่ราคาที่เย้ายวนของแหล่งผลิตในจีน ก็ชนะปัญญาและความรู้ที่มีไปจนได้ แม้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการจัดตำแหน่งให้จีนเป็นคู่อริทางการค้าและการพัฒนาเทคโนโลยีรายใหญ่นั้นจะลดความรุนแรงลง แต่บรรดาแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกก็จะไม่พยายามฝากชีวิตไว้กับแหล่งที่เย้ายวนอย่างจีนเพียงแหล่งเดียวอีกต่อไป และจำต้องเปิดใจรับสนนราคาที่สูงขึ้นในระดับหนึ่งให้ได้

การแข่งขันเรื่องราคาคงเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการไทยจะยังคงต้องบริหารจัดการต้นทุนการผลิตของตนให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม การเลี่ยงการทารุณกรรมต่อสัตว์ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องใช้ทุกโอกาสที่จะสื่อสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยได้ดำเนินการไปเพื่อการนี้ (ถ้ามี) ให้เข้าหูผู้ซื้อด้วย โดยเฉพาะสิ่งทีสามารถยืนยันได้ด้วยเอกสารหรือการตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ค่อนข้างจะมีใจเอนเอียงเห็นดีเห็นงามกับแนวทางนี้ และหลายๆ ผลสำรวจก็ชี้ว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแนวคิดเช่นนี้แม้จะราคาแพงกว่าด้วย

อีกประเด็นที่อยากย้ำเตือนก็คือการขายสินค้าแบบ Door2Door ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สหรัฐฯ ยังไม่ได้ปิดช่องทาง De Minimis กับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น จนผู้ผลิตจีนพากันมาถล่มใช้กันมากมายกลายเป็นค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐเทียบชั้นกับ Amazon.com ไปแล้วอย่างน้อยก็ 2 ราย และประตูเช่นนี้ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกปิดวันใดวันหนึ่งในอีกไม่นานนัก อยากให้เลือกใช้กันมากขึ้น

*********************************************************

ที่มา: GloblaData
เรื่อง: “Explainer: Sourcing diversification pays off for US apparel brands and retailers”
โดย: Hannah Abdulla
สคต. ไมอามี /วันที่ 13 กันยายน 2567
thThai