เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy” ในจีน

เศรษฐกิจแฟนคลับ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ หมายถึงรูปแบบรายได้โดยอิงจากการเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างแฟนคลับกับบุคคลที่มีความน่าสนใจ (โดยปกติจะเป็นไอดอล คนดังในสาขาต่างๆ หรือ Virtual IP) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยการแปลงความชื่นชอบ การติดตาม(Royalty) และความเต็มใจของแฟนๆ ให้เป็นพฤติกรรมการบริโภคที่แท้จริง แกนหลักของเศรษฐกิจแฟนคลับอยู่ที่การสะสมและการใช้ “ทุนทางอารมณ์” กล่าวคือ บริษัทหรือบุคคลจะพึ่งพาพลังของชุมชนแฟนคลับ และการใช้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มดิจิทัล และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อเปลี่ยนการลงทุนทางอารมณ์ของแฟนๆ ให้เป็นมูลค่าแบรนด์ การขายสินค้า และการสมัครเป็นสมาชิกบริการ เป็นต้น

เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy” ในจีน

เศรษฐกิจแฟนคลับสามารถแบ่งเป็น เศรษฐกิจของแฟนคลับคนดัง เศรษฐกิจของแฟนคลับภาพยนตร์ เศรษฐกิจของแฟนคลับเกม เศรษฐกิจของแฟนคลับกีฬา เป็นต้น แต่ละกลุ่มเหล่านี้มีฐานแฟนคลับและการดำเนินธุรกิจที่เป็นเฉพาะ เศรษฐกิจของแฟนคลับคนดังส่วนใหญ่พึ่งพาเสน่ห์ส่วนตัวและอิทธิพลของดารา และสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดคอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง เศรษฐกิจของแฟนภาพยนตร์มุ่งเน้นไปที่ละคร ภาพยนตร์ และผลงานอื่นๆ และดึงดูดการบริโภคของแฟนคลับผ่านการผลิตและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ เศรษฐกิจของแฟนเกมขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์เกมและโต้ตอบกับแฟนคลับผ่านการขายเกม การซื้อขายอุปกรณ์ Virtual และกิจกรรมออฟไลน์ เศรษฐกิจของแฟนคลับกีฬาเกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬา ทีมกีฬา และนักกีฬา และบรรลุผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจผ่านการจำหน่ายตั๋วการชมการแข่งขันกีฬา สินค้ากีฬา และของที่ระลึก

เศรษฐกิจแฟนคลับสามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบธุรกิจโดยตรงและรูปแบบธุรกิจทางอ้อม รูปแบบธุรกิจโดยตรงส่วนใหญ่สร้างมูลค่าทางการค้าผ่านแฟนๆ ที่ซื้อสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การซื้ออัลบั้มเพลง ตั๋วภาพยนตร์ อุปกรณ์ประกอบเกม เป็นต้น รูปแบบธุรกิจทางอ้อม คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ผ่านการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของแฟนๆ เช่น โฆษณา ความร่วมมือของแบรนด์ กิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยการพัฒนาของโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์ เศรษฐกิจแฟนคลับ ยังแสดงให้เห็นแนวโน้มของการผสมผสานระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ โดยส่วนใหญ่แล้ว ออนไลน์ถือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารและการโต้ตอบแก่แฟนๆ ในขณะที่ออฟไลน์ก็มีการจัดงานแฟนมีตติ้งและการแจกลายเซ็นต์เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของแฟนคลับ

การพัฒนาของเศรษฐกิจแฟนคลับของจีน

การพัฒนาเศรษฐกิจแฟนคลับในประเทศจีนสามารถย้อนกลับไปในทศวรรษ 1990 เมื่อกลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่จะติดตามนักร้องและดาราภาพยนตร์ โดยเริ่มก่อตัวและค่อยๆ มีอิทธิพลทางด้านดนตรี ภาพยนตร์ เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความนิยมทางอินเทอร์เน็ตและการเติบโตของโซเชียลมีเดีย เศรษฐกิจแฟนคลับจึงมีลักษณะที่หลากหลาย ประมาณปี ค.ศ.2005 ด้วยการพัฒนาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Taobao เศรษฐกิจแฟนคลับ เริ่มถูกรวมเข้ากับอีคอมเมิร์ซ หลังจากปี ค.ศ.2010 ความนิยมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Weibo และ WeChat เศรษฐกิจแฟนคลับได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว แฟนๆ สามารถโต้ตอบกับดาราผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ต่างๆ และรูปแบบธุรกิจของเศรษฐกิจแฟนคลับมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการไลฟ์สด ระบบสมาชิก การระดมทุนของแฟนๆ เป็นต้น

เศรษฐกิจแฟนคลับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ห่วงโซ่ต้นน้ำของเศรษฐกิจแฟนคลับส่วนใหญ่ประกอบด้วยแพลตฟอร์มการสร้างและเผยแพร่เนื้อหา บริษัท ผู้ค้าแบรนด์ โซเชียลมีเดียและเอเจนซี่ การตลาดดิจิทัล ในด้านปลายน้ำ อิทธิพลของเศรษฐกิจแฟนคลับมีการพัฒนาที่แพร่หลายและลึกซึ้ง ในสาขาบันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ การถ่ายทอดสด พึ่งพาแฟนคลับโดยตรงเพื่อสร้างรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ด้านสาขากีฬาได้เปิดใช้งานกิจกรรมต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดสด การรับรองดาราและช่องทางอื่นๆ ดึงดูดกลุ่มแฟนๆ ในด้านเกมและแอนิเมชั่น มีโมเดลทางเศรษฐกิจแฟนคลับที่พึ่งพาไอดอลเสมือนจริงและตัวละครในเกม ขับเคลื่อนการซื้อในเกม กิจกรรมออฟไลน์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ การศึกษา การท่องเที่ยว กิจกรรมการกุศล ยังได้เริ่มแสวงหาเส้นทางบูรณาการของเศรษฐกิจแฟนคลับ เช่น การบรรยายของคนดัง เส้นทางการเดินทางของดารา โครงการการกุศล เป็นต้น ซึ่งได้มีการต่อยอดและขยายขอบเขตการใช้งานของเศรษฐกิจแฟนคลับต่อไปอย่างกว้างขวาง

ขนาดตลาดและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแฟนคลับในประเทศจีน

ในปี ค.ศ. 2021 ขนาดตลาดของเศรษฐกิจแฟนคลับของจีนมีมูลค่าเกิน 187.3 พันล้านหยวน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตสูงถึง 9.3% ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจแฟนคลับมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ถึง ค.ศ.2022 อัตราการเติบโตต่อปีของตลาดคงอยู่ที่ 5.03% และขอบเขตของเศรษฐกิจแฟนคลับขยายอย่างกว้างขวางไปยังสาขาดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรม และเกม จากสถิติของ Zhiyanzhan ขนาดตลาดของเศรษฐกิจแฟนคลับของจีนในปี ค.ศ. 2019 อยู่ที่ 166.151 พันล้านหยวน และในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ขนาดตลาดของเศรษฐกิจแฟนคลับของจีนอยู่ที่ 55.365 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.06%

ขนาดตลาดของเศรษฐกิจแฟนคลับของจีน

เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy” ในจีน

เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy” ในจีน

 

ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง

ด้วยภาพยนตร์และละครไทยปัจจุบันได้รับความนิยมในตลาดจีน ดาราวัยรุ่นไทยชื่อดังหลายรายมีฐานกลุ่มแฟนคลับเป็นจำนวนมากในตลาดจีน โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ดาราไทยได้เดินทางมาจีนเพื่อจัดงานแฟนมีตติ้ง เทศกาลดนตรี และกิจกรรมอื่นๆ ที่หลากหลาย ยกตัวอย่างหนังไทยเรื่องหลานม่า ที่เข้าฉายในจีนในเร็วๆ นี้ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมชาวจีนอย่างลึกซึ้งและซาบซึ้งใจ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำคะแนนได้สูงถึง 9.0 บนแพลตฟอร์มของจีน สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมชาวจีนอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นอุตสาหกรรมบันเทิงที่เกี่ยวข้องของไทยควรถือโอกาสที่ดีดังกล่าว เปิดตัวผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ชมชาวจีน เข้าใจความต้องการของแฟนๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายขึ้น และการพยายามศึกษาข้อมูลเทรนด์ความต้องการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับดังกล่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสามารถสอดแทรก Soft Power เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทยผ่านภาพยนตร์ หรือกิจกรรมต่างกับแฟนคลับเพื่อให้สามารถเข้าถึงและขยายตลาดในจีนได้เพื่มมากขึ้น

——————————————————–

แหล่งที่มา:

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1809700467155141565&wfr=spider&for=pc

https://app.xinhuanet.com/news/article.html?articleId=1a1f2f2aeff239e36bfd867829346c38

https://zhuanlan.zhihu.com/p/59409418

https://www.cifnews.com/tag/faneconomy

https://mp.weixin.qq.com/s?__biz=MzAxOTgwNDc5Ng==&mid=2650895728&idx=1&sn=a79fd34706072cd47e08f4d17

thThai