จากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจแฟชั่นของหอการค้าแฟชั่นอิตาลี (Camera Nazionale della Moda Italiana) คาดการณ์ว่า ปี 2567 อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี ได้แก่ สิ่งทอ แฟชั่น และเครื่องประดับ กำลังชะลอตัวลง โดยมีผลประกอบการ มูลค่า 97.7 พันล้านยูโร หดตัวลง 3.5% (ปี 2566 มีมูลค่า 101.3 พันล้านยูโร) ซึ่งมาจากความต้องการภายในประเทศลดลง ในขณะที่ การส่งออกมีมูลค่า 93.7 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งการชะลอตัวของอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี มาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าแฟชั่นของโลก ได้แก่ Kering และ LVMH ความต้องการบริโภคสินค้าแฟชั่นในจีนลดลง (เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสินค้าแฟชั่นอิตาลีอันดับต้น) การเผชิญกับต้นทุนด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น อันสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงราคาพลังงานและวัตถุดิบ ซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มากไปกว่านั้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความตึงเครียดด้านการเลือกตั้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ตั้งแต่การเลือกตั้งยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลียังคงชะลอตัว โดยมีมูลค่าการซื้อขาย ลดลง 6.1% โดยมีสัญญานการชะลอตัวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วง 6 เดือนหลังของ ปี 2566 โดยไตรมาส 1 ของปี 2567 หดตัวลดลง 7.4% และไตรมาส 2 หดตัวลดลง 4.7% โดยอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แฟชั่นหลัก เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าเครื่องหนัง เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น และส่วนที่ 2 แฟชั่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สินค้าความงาม แว่นตา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องประดับเครื่องแต่งกาย เป็นต้น โดยไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายของแฟชั่นหลัก หดตัวลดลง 10% และ 6.7% ตามลำดับ ในขณะที่ แฟชั่นที่เกี่ยวข้อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.9% และ 3.2% ตามลำดับ โดยการหดตัวลดลงของแฟชั่นหลัก เกิดจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากการปรับขึ้นราคาของสินค้า/บริการในประเทศ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องหันมาลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่ การส่งออกสินค้าแฟชั่นหลัก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2%
หอการค้าแฟชั่นอิตาลี ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีได้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 เห็นได้จากปี 2566 ที่มูลค่าการซื้อขายสินค้าแฟชั่น Made in Italy ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2563 และขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับปี 2548 ดังนั้น ในปี 2567 จึงถือเป็นปีแห่งความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่มั่นคงและแน่นอน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยมูลค่าการซื้อขายของ
อุตสาหกรรมแฟชั่นในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2567 ยังคงสูงกว่ามูลค่าก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขยายตัวถึง 11% อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของ ปี 2567 การส่งออกสินค้าแฟชั่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าแฟชั่นที่เกี่ยวข้อง (สินค้าความงาม แว่นตา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องประดับเครื่องแต่งกาย) ซึ่งสร้างสมดุลให้กับสินค้าแฟชั่นหลัก (สิ่งทอ เสื้อผ้าเครื่องหนัง เครื่องหนังและรองเท้า) หดตัวลดลง 3.8% โดยการส่งออกไปยังจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17% (ถึงแม้จีนยังคงประสบปัญหาด้านภาคอสังหาริมทรัพย์) หรือคิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านยูโร สำหรับฝรั่งเศสซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลี มีการเติบโตอยู่ที่ 2.8% ในขณะที่ การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 33.7% ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรายชื่อแหล่งส่งออกสินค้าแฟชั่นของอิตาลีที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในส่วนของการนำเข้าสินค้าแฟชั่นในอิตาลีค่อนข้างซบเซา โดยแฟชั่นหลัก หดตัวลดลง 8.9% ซึ่งเกิดจากความต้องการลดลงของประเทศนอกสหภาพยุโรป (-13.5%) และในส่วนแฟชั่นที่เกี่ยวข้อง หดตัวลดลง 3.5% โดยความต้องการลดลงของประเทศนอกสหภาพยุโรป (-6.1%)
ดังนั้น ในปี 2567 คาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของตลาดแฟชั่นในประเทศที่คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2567 โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2567 ได้แก่ แบรนด์ระดับกลางและกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าแฟชั่นทั้งในอิตาลีและทั่วโลก รวมถึงภาระที่จะต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งและวัตถุดิบ กฎระเบียบข้อบังคับใหม่ของยุโรปเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อผู้ผลิตก็มีความท้าทายเป็นอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้มีใช้บังคับในประเทศอื่นที่มีการผลิตสิ่งทอที่สำคัญ ได้แก่ ตุรกี จีน และเวียดนาม
ถึงแม้สถานการณ์อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลี ปี 2567 อาจจะยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ากิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นในอิตาลี ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสความต้องการให้กับภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นั้นก็คือ การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ที่สำคัญระดับโลก Milan Fashion Week ณ เมืองมิลาน (ถือเป็นเมืองแห่งแฟชั่นที่สำคัญอันดับต้นของโลก) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) จัดขึ้นโดยหอการค้าแฟชั่นอิตาลี ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ควบคุม ดูแล ประสานงาน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลี และรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นในเมืองมิลาน โดย Milan Fashion Week คอลเลคชั่นสุภาพสตรี จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ (คอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว) และกันยายน (คอลเลคชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน) ดึงดูดผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบมืออาชีพ ผู้ซื้อ โชว์รูม ผู้นำด้านกระแสแฟชั่น สื่อมวลชน และผู้ชมที่มีความสนใจ โดยมีการนำเสนอ คอลเลคชั่นของนักออกแบบ แนวโน้ม/ทิศทางของอุตสาหกรรมแฟชั่น และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม โดย Milan Fashion Week เป็นส่วนหนึ่งของ Big Four ซึ่งก็คือ สัปดาห์ที่สำคัญที่สุด 4 แห่ง สำหรับโลกแห่งแฟชั่น ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันในเมืองหลวงที่สำคัญของโลก ได้แก่ นิวยอร์ก ลอนดอน มิลาน และปารีส
โดยงาน Milan Fashion Week 2024 ที่ผ่านมา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-23 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นครั้งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากถือเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากสำหรับห่วงโซ่อุปทานสิ่งทอ แฟชั่น และเครื่องประดับ ซึ่งนำเสนอคอลเลคชั่น Spring/Summer 2025 โดยสัปดาห์ Milan Fashion Week 2024 มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายกว่า 173 แบรนด์/กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเดินแบบออฟไลน์และออนไลน์ของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและแบรนด์น้องใหม่ 65 แบรนด์ การจัดแสดงผลงานการออกแบบของแบรนด์อิตาลีและนานาชาติ 75 แบรนด์ กิจกรรมพิเศษ 33 กิจกรรม โดยเป็นครั้งแรกที่แบรนด์แฟชั่นไทย SIRIVANNAVARI ได้รับการคัดเลือกจากหอการค้าแฟชั่นอิตาลีให้เป็น 1 ใน 21 แบรนด์ ในการจัดแสดงผลงานการออกแบบของแบรนด์ที่ไม่เคยเข้าร่วมงาน Milan Fashion Week มาก่อน โดยในวันที่ 18 กันยายน 2567 แบรนด์ SIRIVANNAVARI ได้นำเสนอผลงานคอลเลคชั่น Spring/Summer 2025 สำหรับสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ยุคเรเนซองส์) ของอิตาลี ซึ่งเป็นยุคที่มีความโดดเด่นในการเชิดชูความงามของสรีระของสุภาพสตรี การออกแบบคอลเลคชั่นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมพลังให้ผู้หญิงด้วยการใช้เทคนิคที่พิถีพิถันกับเนื้อผ้าที่สะท้อนถึงความสง่างามของประติมากรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ณ Residenza Duomo ซึ่งติดกับมหาวิหาร ดูโอโม่ เมืองมิลาน ซึ่งในวันดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงเสด็จเข้าร่วมกิจกรรมและพบปะกับบุคคลสำคัญในแวดวงแฟชั่นของอิตาลีและต่างชาติ สื่อมวลชนชั้นนำ ผู้นำกระแสด้านแฟชั่น และผู้ซื้อในอิตาลี โดยมีผู้เข้าร่วมชมการจัดแสดงดังกล่าว มากกว่า 200 คน
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1.อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศโดยพบว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลับมาเป็นปกติ ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีก็ค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั่วโล ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคในอิตาลีเองเริ่มชะลอ/ลดการจับจ่ายซื้อสินค้า ฟุมเฟือยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายของอุตสาหกรรมแฟชั่นในประเทศปี 2567 อาจยังคงหดตัวเล็กน้อย โดยไทยส่งออกสินค้าแฟชั่นมาอิตาลีหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสินค้าแฟชั่นที่ไทยส่งออกมายังอิตาลีเป็นอันดับต้น ๆ ปี 2567 (มกราคม – สิงหาคม) ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมายังอิตาลี มีมูลค่า 228.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.04% ในขณะที่ สินค้าสิ่งทอ มีมูลค่า 63.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 11.26% ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ควรติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีอย่างใกล้ชิด
2. การเข้าร่วมจัดแสดงผลงานแฟชั่นใน Milan Fashion Week 2024 ของแบรนด์แฟชั่นไทย SIRIVANNAVARI ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแฟชั่นไทยและเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นของยุโรป ซึ่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ถือเป็นแบรนด์เดียวของไทยที่ได้รับการคัดเลือกในการเข้าร่วมงานดังกล่าว และถือเป็นการเปิดประตูแฟชั่นระดับโลกให้กับแบรนด์ไทยอื่น ๆ ที่มีศักยภาพและพร้อมในการก้าวเข้าสู่วงการตลาดแฟชั่นระดับนานชาติอย่างอิตาลี
3. อุตสาหกรรมแฟชั่นอิตาลีถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาอย่างยาวนาน การที่แบรนด์แฟชั่นไทยได้มีโอกาสจัดแสดง Presentation ณ งานแฟชั่นระดับโลกได้นั้น ถือเป็นการยกระดับวงการแฟชั่นไทยให้เข้าสู่ตลาดแฟชั่นชั้นนำระดับโลก และปรากฏสู่สายสื่อมวลชน แฟชั่นสไตล์ลิสต์ และเหล่าแฟชั่นอินฟลูเอ็นเซอร์จากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นของไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ให้มีศักยภาพเทียบเท่ากับแบรนด์ชั้นนำในตลาดแฟชั่นระดับโลกอีกด้วย
——————————————————————-
ที่มา: 1. หอการค้าแฟชั่นอิตาลี
2. https://www.milanofinanza.it/fashion/la-moda-italiana-frena-fatturato-a-6-e-outlook-al-ribasso-3-5-202409161850202841?refresh_cens
3. La moda italiana frena: nel 2024 tornerà sotto i 100 miliardi (-3,5%) – Il Sole 24 ORE
4. Al via la settimana della moda, al centro le sfide di un’industria cruciale ma in cerca di nuova identità – Il Sole 24 ORE
5. รูปภาพประกอบจากเว็บไซต์หอการค้าแฟชั่นอิตาลี, Tom Podmore on Unsplash และ IG Sirivannavari_shop