บริษัท Schenker ทำธุรกิจด้านการขนส่งในภูมิภาคยุโรป มาตั้งแต่ปี 1987 กำลังจะถูกกลืนหายไปภายหลังจากที่บริษัท DSV คู่แข่งจากเดนมาร์กได้เข้ามาครอบครองบริษัทฯ ตามแผนที่วางไว้ โดยนาย Jens Lund ผู้บริหารของ DSV ได้ออกประกาศผ่านการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “ในอนาคตบริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจของ Schenker ภายใต้ชื่อ DSV และจากประสบการณ์ที่เรามี เห็นว่า การจะใช้แบรนด์คู่ขนานต่อไปนั้นอาจไม่เหมาะกับเรา” ซึ่งหลังจากที่ DSV เข้าควบรวมกิจการบริษัทขนส่ง Panalpina สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์เมื่อ 5 ปีก่อน DSV ก็ทำการทาสียานพาหนะและเปลี่ยนป้ายบริษัท รวมถึงรถที่ได้มาใหม่ทั้งหมด โดยทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า DSV จะเข้าซื้อกิจการ DB Schenker ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Deutsche Bahn ในราคา 14.3 พันล้านยูโร ซึ่งว่ากันว่า มีการเซ็นสัญญาเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภายหลังการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับการรถไฟ และกระทรวงคมนาคมของรัฐบาลกลางเยอรมันในด้านกรรมสิทธิ์ ก็คาดว่า การซื้อขายก็จะแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2025 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า คณะกรรมการกำกับดูแลการรถไฟจะเห็นด้วยกับการซื้อขายตามแผนดังกล่าวหรือไม่ นาย Martin Burkert ประธานสหภาพแรงงานการรถไฟ (EVG – Die Eisenbahn- und Verkehrsgewerkschaft) กล่าวว่า “นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับเราอีกเรื่องก็คือ แผนการใช้จ่ายของบริษัท และเหนือสิ่งอื่นใด วิธีการรักษาตำแหน่ง และการจ้างงาน รวมถึงปัจจัยระบบประกันสังคม โดยภายหลังจากการตรวจสอบและพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้นอย่างรอบคอบแล้ว เราก็จะร่วมกันลงคะแนนเรื่องดังกล่าวภายใต้กลุ่มสมาชิกสหภาพฯ ต่อไป” นาย Lund กล่าวว่า ด้านผู้ซื้อคณะกรรมการกำกับดูแลได้อนุมัติข้อตกลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติเพิ่มเติมจากที่ประชุมสามัญของ DSV เนื่องจากได้มีมติในที่ประชุมเรื่องการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น DSV จึงสามารถชนะผู้ประมูลรายที่ 2 ที่เหลือนั่นคือ CVC บริษัทลงทุนทางการเงินไปอย่างสวยงาม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงรัฐบาลฯ และองค์กรธุรกิจต่างก็มองเห็นว่า ข้อเสนอของ DSV เป็นข้อเสนอที่ “ดีกว่า” นอกจากนี้ ตามกระบวนการประเมินมูลค่า ณ เวลาที่ปิดการประมูลรายได้ก็ยังสูงกว่าคู่แข่งอีกด้วย ตามข้อมูลจากแวดวงการเจรจา แม้ว่า CVC จะมีข้อเสนอที่ต่ำกว่าคู่แข่งเล็กน้อย แต่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน Verdi อีกหนึ่งสหภาพฯ ของ Schenker โดยเมื่อ Deutsche Bahn ขาย Schenker ให้กับ DSV สหภาพฯ Verdi กลัวว่า จะมีการลดการจ้างงานอย่างหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกบริหาร คาดว่า DSV ต้องการที่จะลดพนักงานระหว่าง 1,600 – 1,900 ตำแหน่ง ลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวนาย Lund เองก็ได้กล่าวยืนยันกับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt เช่นกัน
แน่นอนแผนการควบรวมกิจการครั้งนี้ ได้ส่งผลให้แผนกบริหารได้รับผลกระทบ เพราะก็มีการจ้างพนักงานแผนกบริหารแบบซ้ำซ้อน บริษัท DB Schenker ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Essen นาย Lund ผู้บริหารหลักของ DSV กล่าวว่า “เราหวังว่า จะสามารถรับมือกับการลดตำแหน่งการจ้างงานให้ผ่านความผันผวนตามปรกติในการควบกิจการได้” หากมีการเลิกจ้างเราก็จะหาทางร่วมมือกับสหภาพแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยในบริบทนี้นาย Lund เห็นว่า Schenker ได้วางแผนที่จะลดตำแหน่งงาน 800 – 900 ตำแหน่งในเยอรมนีอยู่แล้ว ปัจจุบัน DB Schenker มีพนักงาน 72,700 คน โดยประมาณใน 130 ประเทศ เรียกได้ว่าบริษัท DB Schenker เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำของโลก Deutsche Bahn แจ้งว่า เมื่อรวมรายได้ ดอกเบี้ย ที่คาดหมายจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการขายบริษัท Schenker ออกไปธุรกิจของบริษัทมีมูลค่า 14.8 พันล้านยูโร โดยประมาณ โดยจุดประสงค์หลักในการขายบริษัทลูก Schenker ในครั้งนี้คือ ต้องการลดหนี้ของบริษัท Deutsche Bahn บริษัทของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันรายได้จากการขาย Schenker ออกไปเกือบทั้งหมดจะนำไปชำระหนี้ของบริษัทแม่ หากยังมีเงินเหลือในภายหลัง Deutsche Bahn ก็มีแผนที่จะนำเงินที่เหลือไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบดิจิทัล นาย Richard Lutz ผู้บริหารของ Deutsche Bahn ประกาศว่า เป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่การปรับปรุง (1) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (2) การดำเนินงานด้านรางรถไฟ และ (3) ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ของบริษัท
ในฐานะเจ้าของคนใหม่ของ DB Schenker บริษัท DSV ออกมากล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะลงทุน 1 พันล้านยูโร โดยประมาณทั่วเยอรมนีในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า จุดมุ่งหมายคือ ต้องการสร้างงานในประเทศเยอรมนีในระยะยาว และตามข้อมูลของ DSV บริษัท DSV และ Schenker สามารถบรรลุผลประกอบการรวมที่ 293 พันล้านโครเนอเดนมาร์ก (ประมาณ 39 พันล้านยูโร) และมีพนักงานประมาณ 147,000 ตำแหน่ง ใน 90 ประเทศ นาย Lund คาดว่าไม่น่าจะมีข้อกำหนดใด ๆ จากหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดในการขายบางส่วนของบริษัท Deutsche Bahn อันเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการเป็นพิเศษ และยังได้กล่าวว่า “เรามีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลก 6 – 7% ” เขาอธิบาย ในตลาดแต่ละแห่งเราแทบจะมีส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 20% เขากล่าวย้ำว่า “เราจึงมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก” บริษัท DSV แจ้งว่า บริษัทน่าจะต้องใช้เวลา 2 – 3ปี ในการบูรณาการบริษัท DB Schenker เขาสู่ DSV โดยนาย Lund กล่าวว่า “เรามีงานหนักรอเราอยู่” นอกจากนี้เขายังหวังอีกว่า เขาน่าจะสามารถรักษานาย Jochen Thewes ผู้บริหารของ Schenker เอาไว้ได้ นาย Lund ซึ่งเป็นคนที่มาจากคาบสมุทรจัตแลนด์ในเดนมาร์ก และสามารถพูดภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วกล่าวว่า “คุณ Thewes เป็นผู้บริหารทีมที่ดี” นาย Volker Wissing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเยอรมนีออกมาแสดงความยินดีกับการแยกธุรกิจด้านลอจิสติกส์ออกจากธุรกิจรถไฟของบริษัทได้ นาย Wissing นักการเมืองพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) กล่าวว่า “เป้าหมายของเขาในขณะนี้ คือ ทำให้บริษัท DB AG มุ่งเน้นธุรกิจไปยังธุรกิจหลักของบริษัทนั่นก็คือ การดำเนินการด้านการรถไฟในประเทศเยอรมนี การขาย Schenker ออกไป จะถือเป็นก้าวสำคัญที่ถูกต้องในการเดินไปในทิศทางดังกล่าว” เพื่อที่จะปรับโครงสร้างให้ตอบสนองความต้องการที่นาย Wissing เรียกร้องอยู่ในขณะนี้ บริษัท Deutsche Bahn จะต้องปรับตำแหน่งตัวเองในเชิงเศรษฐกิจและโครงสร้าง เงินที่ได้มานี้จึงช่วยได้มากในการลดหนี้ของบริษัทลง คณะกรรมาธิการบริษัท Deutsche Bahn ออกมาเคลียร์เส้นทางการเจรจาขายในช่วงปลายปี 2022 ในเวลานั้นตัวแทนของคณะรัฐบาลออกมาแย้งว่า บริษัทที่กำลัง “ป่วย (Deutsche Bahn)” ควรมุ่งความสนใจไปยังธุรกิจหลักในเยอรมนีก่อน ตัวอย่างเช่น การลงทุนของบริษัท Schenker ในทวีปเอเชียไม่สอดคล้องกับภาพดังกล่าว
ในทางกลับกัน Deutsche Bahn ขาย Schenker หมายถึงการสูญเสียแหล่งกำไรที่สำคัญที่สุดไปด้วย ขณะนี้ การที่ Deutsche Bahn ตัดสินใจทำข้อตกลงดังกล่าวก็เพราะต้องการซื้อเวลาเท่านั้น ภายในปี 2027 Deutsche Bahn วางแผนว่า จะเริ่มกลับมาทำกำไรอีกครั้ง แม้ว่าจะปราศจาก Schenker ก็ตาม ภายใต้แรงกดดันจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) ภายในปี 2026 ธุรกิจรถไฟบรรทุกสินค้าที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตมานานหลายปีติดต่อกันจะต้องเริ่มกลับมาทำกำไรอีกครั้ง เพราะตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา ห้ามมิให้มีการชดเชยความสูญเสียทางธุรกิจกับธุรกิจอื่น ๆ ของ Deutsche Bahn ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า นาย Frank Schäffler นักการเมืองด้านงบประมาณของพรรค FDP เองก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ Deutsche Bahn เร่ง “กำจัด” DB Cargo ออกไป” การประกอบธุรกิจขนส่งทางไกลของ Deutsche Bahn จะต้องซื้อรถไฟอินเตอร์ซิตี – เอ็กซ์เพรส (เยอรมัน: ICE) และในเวลาเดียวกันต้องประหยัดเงินหลายพันล้าน นอกจากนี้เครือข่ายรางรถไฟที่ทรุดโทรมควรจะได้รับการปรับปรุงใหม่ และภายใน 3 ปี Deutsche Bahn น่าจะสามารถบรรลุความต้องการด้านการตรงต่อเวลาในการเดินทางระยะไกลได้ถึง 80% ซึ่งน่าจะมีการลดการจ้างงานลงอย่างน้อย 30,000 ตำแหน่ง (จากทั้งหมด 200,000 ตำแหน่ง) โดยเฉพาะตำแหน่งงานในภาคการบริหาร ในช่วงทศวรรษที่ 1930 บริษัท Schenker ถูกซื้อโดย Reichsbahn ในปี 1991 Bundesbahn ก็แยกตัวออกจากบริษัท Schenker อีกครั้ง จนกระทั่งบริษัทถูกซื้อกลับมาอีกครั้งโดย Deutsche Bahn ในปี 2002 ในเวลานั้นมีแนวคิดก็คือ การส่งต่อโยกย้ายสินค้า และรางขนส่งสินค้าควรจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่ความหวังว่าจะสามารถประหยัดเงิน และขยายผลประโยชน์ของลูกค้ากลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจรถไฟบรรทุกสินค้า ในแวดวงคนวงในของบริษัท Schenker เองก็เห็นว่า ความร่วมมือกับ Deutsche Bahn ถูกมองว่าเป็นภาระมากกว่า ซึ่งท้ายที่สุดการลงทุนโดย Deutsche Bahn กับ Schenker ในฐานะบริษัทขนส่งสินค้าก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงดังความหวังที่ตั้งไว้ในอดีต Schenker
จาก Handelsblatt 4 ตุลาคม 2567