ในแต่ละปีผู้ประกอบการค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาต่างพยายามศึกษาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาด เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพยากรณ์แนวโน้มสินค้าที่น่าจะเป็นที่สนใจและนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในอนาคต เช่นเดียวกันกับบริษัท Fresh Thyme Market ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคระดับพรีเมี่ยมเน้นสินค้าจากธรรมชาติ (Natural Products) และสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งสิ้นกว่า 70 แห่ง กระจายตัวใน 10 รัฐในเขตตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลทางการตลาดร่วมกับบริษัท SPINS ผู้วิจัยทางการตลาดเพื่อพยากรณ์แนวโน้มอาหารที่น่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปี 2568
โดยสามารถรวบรวมแนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่น่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปี 2568 ได้ทั้งสิ้น 10 เทรนด์ ดังนี้
1. สินค้าจากวัตถุดิบให้อรรถประโยชน์ (Functional Ingredients) ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับวัตถุดิบการผลิตที่ให้อรรถประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น สารโคลอสตรัม (Colostrum) ของเหลวที่ได้จากน้ำนมสัตว์หลังคลอดลูกเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสารโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์ชนิดดีเพื่อส่งเสริมระบบทางเดินอาหารและการย่อยอาหารของผู้บริโภค เป็นต้น
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: อาหารเสริมโคลอสตรัม (Symbiotics Colostrum Plus) โยเกิร์ตเสริมโพรไบโอติกส์จากนมมะพร้าว (Coconut Cult : Probiotic Coconut Yogurt) น้ำหมักเลมอน (Pure Memory Water) และ น้ำอัดลมเสริมอรรถประโยชน์ (Heywell: Functional Sparkling Water) เป็นต้น
2. สินค้าจากเห็ด (Evolution of Mushroom) เห็ดหลายประเภท เช่น เห็ดหลินจือไซบีเรียน (Chaga Mushroom) เห็ดหัวลิง (Lion’s Mane Mushroom) และเห็ดหางไก่งวง (Turkey Tail Mushroom) ให้อรรถประโยชน์ช่วยลดความเครียดแล้วยังช่วยลดการอักเสบ ช่วยลดความเหนื่อยล้า และช่วยส่งเสริมการนอนหลับในกลุ่มผู้บริโภค จึงน่าจะได้รับความนิยมในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น เส้นพาสต้า น้ำซุป และกาแฟสำเร็จรูป เป็นต้น
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: น้ำซุปสำเร็จรูปผสมเห็ด (Kettle & Fire Mushroom & Chicken Bone Broth) กาแฟผสมเห็ดสำเร็จรูป (Om Mushroom Coffee Blend) เป็นต้น
3. สินค้าเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ (Rise of Non-Alcoholic, Mood-Enhancing Beverages) เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น เครื่องดื่มจากคาวา (Kava) ซึ่งมีสารแมกนีเซียมที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีอารณม์ดี และเครื่องดื่มผสม สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดปัจจุบัน
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: เครื่องดื่มช่วยส่งเสริมอารมณ์ (Recess Mood), เครื่องดื่มเสริมพรีไบโอติกส์ (Kin Euphorics) และเบียร์ปราศจากแอลกอฮอล์ (Athletic Brewing Co. Non-alcoholic Hazy Ipa) เป็นต้น
4. สินค้าอาหารรสเผ็ด (Spicy Foods Takeover) ผู้บริโภคในตลาดสนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารรสชาติแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรสเผ็ดจากพริกต่างๆ เช่น พริกปีศาจ (Ghost Chilies) พริกชิเลเดอาร์โบล (Chillis De Arbol) และ พริกฆาลาเปญโญ (Jalapenos) รวมถึงกลุ่มสินค้าซอสพริกใหม่ๆ ที่น่าสนใจด้วย
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: ซอสพริก (Lola’s Hot Sauce และ STL Pure Heat) และพริกปีศาจแห้ง (That’s Tasty Dried Ghost Chiles) เป็นต้น
5. สินค้ารสมะม่วง (Mango-Everything (and Everywhere!)) ความนิยมรสชาติผลไม้เมืองร้อนโดยเฉพาะมะม่วงในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มไปจนถึงกลุ่มขนมขบเคี้ยว โดยปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากสารอาหารในมะม่วงซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อีกทั้ง ยังมีรสชาติหวานหอมอร่อยถูกปากผู้บริโภคด้วย
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ เครื่องดื่มชูกำลังจากมะม่วง (So Good So You Energy) และชาคอมบูชาเพิ่มพลังงานรสมะม่วง (Synergy Raw Mystic Mango Kombucha) เป็นต้น
6. สินค้าจากสารให้ความหวานจากธรรมชาติ (Nature’s Natural Sweeteners) ผู้บริโภคมีพฤติกรรมลดการบริโภคสารให้ความหวานจากน้ำตาลขัดสีและหันไปเลือกบริโภคสารให้ความหวานจากธรรมชาติมากขึ้นในปีหน้า เช่น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อมเมเปิล (Maple Syrup) และอินทผลัม (Dates) เป็นต้น
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ น้ำเชื่อมเมเปิล (Fresh Thyme Organic Maple Syrup) ช๊อคโกแลต สอดไส้เนยถั่วผสมอินทผลัม (Realsy Peanut Butter Cacao Dates) และกัมมีจากน้ำผึ้ง (Rebel Bee) เป็นต้น
7. สินค้ากระตุ้นการทำงานของสมอง (Boosting Brain Power) สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงระบบการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจ (Cognitive Function) ยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) แมกนีเซียม และกาบา (Gamma-Aminobutyric Acid หรือ GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทและช่วยผ่อนคลายเสริมสมาธิ
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ ขนมขบเคี้ยวเสริมสมาธิ (Pym Attention Chews) และอาหารเสริมแมกนีเซียม (Jarrow Formulas Magmind Dietary Supplement) เป็นต้น
8. สินค้าอาหารเกาหลี (We’re heading to Seoul) ความนิยมบริโภคอาหารเกาหลีในตลาดปัจจุบันจะช่วยผลักดันให้ความต้องการบริโภคสินค้ารสชาติเกาหลี เช่น ซอสพริก Gochujan และกิมจิ ขยายตัวมากขึ้น
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ ซอสพริก Gochujan (Ofood Gochujiang Korn Spicy Miso Sauce) และกิมจิ (Cleveland Kitchen Classic Kimchi) เป็นต้น
9. สินค้าเพื่อความยั่งยืน (Next-Gen Sustainability) ธัญพืช ผัก และผลไม้ที่เป็นผลผลิตจากกรรมวิธีการเพาะปลูกแบบควบคุมสภาพแวดล้อม (Controlled Environment Agriculture หรือ CEA) ซึ่งมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีหน้า อีกทั้ง ยังน่าจะขยายตัวไปสู่กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนตัวรายการอื่นด้วย เช่น ยาสระผม และกระดาษเช็ดทำความสะอาด
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: ขนมขบเคี้ยวจากธัญพืช (Purely Elizabeth Original Ancient Grain Granola) แชมพูก้อนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Brixy Shampoo Bar Citrus) และกระดาษเช็ดทำความสะอาดจากเยื่อไผ่ (Bim Bam Boo 100% Bamboo Kitchen Towels) เป็นต้น
10. สินค้าให้โปรตีน (Prioritizing Protein) นอกจากแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลแล้ว ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะหันไปเลือกบริโภคโปรตีนจากแหล่งอื่นด้วย เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต พาสต้า ซอสพาสตา และชีส เป็นต้น
ตัวอย่างสินค้าแนะนำ: เส้นพาสต้าจากถั่วลูกไก่ (Chickpea Penne Pasta) ข้าวโอ๊ตเสริมโปรตีน (Seven Sundays Wildberry Protein Oats) และเนื้อไก่งวงผสมชีส (Mighty Spark All Natural Queso Fresco & Jalapeno Turkey Patties) เป็นต้น
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าไทยที่มีศักยภาพส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงในแต่ละปี
โดยในระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 2.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.98 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สินค้าอาหารและเครื่องดื่มส่งออกที่สำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารทะเล ข้าว ธัญพืช อาหารแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป และน้ำผลไม้ เป็นต้น
ด้วยสภาวะแวดล้อมทางการค้าในสหรัฐฯ ที่แข่งขันกันมากขึ้น มีคู่แข่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาข้อมูลเทรนด์แนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวเพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันในอนาคต โดยเฉพาะเทรนด์สินค้าจากเห็ด สินค้ารสเผ็ด สินค้ารสมะม่วง สินค้าเพื่อความยั่งยืน และสินค้าให้โปรตีนซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความชำนาญในการผลิตสินค้าที่น่าสนใจเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ อยู่แล้วพอสมควร
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และสินค้าที่ให้อรรถประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น สินค้าช่วยผ่อนคลายความเครียด สินค้าช่วยเพิ่มสมาธิ สินค้าช่วยให้นอนหลับสบาย และสินค้าช่วยควบคุมน้ำหนักก็ยังคงเป็นที่นิยมและมีโอกาสทางการตลาดในสหรัฐฯ ต่อเนื่องในปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบัน นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัยด้านคุณภาพและราคาของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายในตลาดแล้ว ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าด้วย โดยผู้บริโภคมีพฤติกรรมนิยมตรวจสอบข้อมูลฉลากรายละเอียดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้ามากขึ้น และมักจะเลือกซื้อสินค้าที่ใช้วัตถุดิบและสารปรุงแต่งในการผลิตน้อยรายการตามกระแสนิยม “Minimally Processed Foods ” มากกว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบและสารปรุงแต่งหลายรายการ หรือ “Ultra -Processed Foods” เนื่องจากเชื่อว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบน้อยรายการจะส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภคและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว
แหล่งที่มา: Fresh Thyme Market Releases Second Annual Top 10 Food Trends for 2025
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก