ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นเป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม ASEAN+3

 

 

 

ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนบวก 3 (ASEAN+3) ทั้งในปีนี้ถึงปี 2568 โดยได้รับแรงผลักดันจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง โดยสำนักวิจัย ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) ยังคงคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 6.1 ในปี 2567 และร้อยละ 6.3
ในปี 2568

นาย Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ AMRO ระบุว่าการคาดการณ์ของฟิลิปปินส์นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเราคาดว่าจะมีการเติบโตจะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งจะขยายตัวจากร้อยละ 5.6จากปีที่ผ่านมา โดยเสริมว่าสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายลงทุนของรัฐบาลซึ่งเราคาดว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ รวมถึงภาคบริการการส่งออก โดยประมาณการของ AMRO อยู่ที่เป้าหมายร้อยละ 6-7 ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในปี 2568 ยังต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 6.5 – 7.5 ซึ่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ AMRO เสริมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งรวมถึงสมาชิก จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ AMRO คาดการณ์การเติบโตของฟิลิปปินส์ ตามหลังเพียงเวียดนาม (ร้อยละ 6.2) และนำหน้ากัมพูชา (ร้อยละ 5.6) และ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 5.1) จีน (ร้อยละ 5) มาเลเซีย (ร้อยละ 4.7) ลาว (ร้อยละ 4.5) บรูไนดารุสซาลาม (ร้อยละ 4) ฮ่องกง (ร้อยละ 3.3) ไทย(ร้อยละ 2.8) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 2.5) สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.4) เมียนมา (1.8%) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 0.5) ตามลำดับ โดยการเติบโตของฟิลิปปินส์คาดว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ของภูมิภาค ASEAN+3 ที่ ร้อยละ 4.2 ในปีนี้ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ที่ร้อยละ 4.4 AMRO เสริมว่าการเติบโตของภูมิภาคจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของการค้าระหว่างประเทศ อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องจากมีนโยบายที่ผ่อนคลายวีซ่าในบางประเทศ สำหรับปี 2567 การคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาค ASEAN+3 ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 (จากร้อยละ 4.3 ) ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของการเติบโตทั่วโลก

นาย Allen Ng นักเศรษฐศาสตร์จาก AMRO ให้ความเห็นว่าภูมิภาค ASEAN+3 มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวของการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีความต้องการจากทั่วโลกสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะผลักดันการส่งออกของภูมิภาค ASEAN+3 โดยยังมีข้อบ่งชี้ว่าในอนาคตจะมีความต้องการสินค้าที่หลากหลายนอกเหนือจากเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะเกิดการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในภูมิภาค เสริมด้วยแรงกดดันด้านต้นทุนที่ผ่อนคลายลงเช่นกัน เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าในภูมิภาคเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ AMRO จะปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับอาเซียน ลงเหลือร้อยละ 4.7 ในปีนี้ จาก (ร้อยละ 4.8 ) อย่างไรก็ตาม ได้มีปรับเพิ่มการคาดการณ์ในปี 2567 เป็นร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 4.8 นาย Allen Ng เสริมว่าการบริโภคภาคครัวเรือนในเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอาเซียนจะยังคงแข็งแกร่งโดยได้รับแรงสนับสนุนจากสภาวะการจ้างงานที่ดี รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ด้านอัตราเงินเฟ้อ

AMRO ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ไว้ที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2567 และร้อยละ 3.1 ในปี 2568 ท่ามกลางความคาดหวังว่ารัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป

นาย Hoe Ee Khor ระบุว่าหากอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มลดลงจะเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก ซึ่ง BSP ได้เริ่มการผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในเดือนสิงหาคมลงที่ 25 bps ถึงร้อยละ 6.25 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ที่ร้อยละ 6.5 และจะเป็นครั้งแรกที่ BSP ลดอัตราดอกเบี้ยในรอบเกือบ 4 ปี อีกด้วย โดย AMRO ได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของ ASEAN+3 (ไม่รวมลาวและเมียนมา) ลงเหลือร้อยละ 1.9 ในปีนี้ (จากร้อยละ 2.1) นาย Hoe Ee Khor เสริมว่าการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 สะท้อนถึงผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด ราคาสินค้าอาหารที่ลดลง และการลดลงของอัตราเงินเฟ้อที่นำเข้า โดย AMRO ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับ ASEAN+3 (ไม่รวมลาวและเมียนมา) ไว้ที่ร้อยละ 2.3 ในปี 2568 ซึ่งโดยรวมแล้วแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีสำหรับภูมิภาคอาเซียน และสอดคล้องกับการคาดการณ์พื้นฐานกับการปรับตัวของแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลก

ความเสี่ยงในอนาคต           

AMRO ได้ระบุความเสี่ยงที่สำคัญหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์การเติบโตพื้นฐานในปีนี้และปีหน้า เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน รวมถึงความผันผวน
ในตลาดการเงิน

นาย Hoe Ee Khor ให้ความเห็นว่าเมื่อมองอนาคตนั้นมีความไม่แน่นอนกับแนวทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้น และมีความเป็นไปได้ในการปรับนโยบายทางการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดและเพิ่มแรงกดดันทางการเงิน ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินของภูมิภาค นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และค่าขนส่งทั่วโลก เนื่องจากสภาพอากาศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในภูมิภาคได้ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน นาย Hoe Ee Khor เสริมว่านโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจขยายตัวภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับภูมิภาคนี้ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump ซึ่งเป็นที่รู้จักจากนโยบายประชานิยมและการกีดกันทางการค้า เตรียมเผชิญหน้ากับรองประธานาธิบดี นาง Kamala Harris ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยจากการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ AMRO ระบุว่าการขยายตัวของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น การเก็บภาษีศุลกากรสากลสำหรับสินค้านำเข้า อาจส่งผลให้การเติบโตของภูมิภาคลดลงได้เกือบร้อยละ 1 และส่งผลให้การเติบโตของภูมิภาคต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย (ไม่นับปีที่มีการแพร่ระบาดของ COVID ในปี 2563 และ 2565) ในขณะเดียวกันในระยะยาว ภูมิภาค ASEAN+3 จะเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุและความล้มเหลวในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มของการกระจายตัวของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มที่จะส่งผลเสียต่อการเติบโตในระยะยาวของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้า โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ AMRO ระบุว่า วงจรการผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก ตลอดจนมาตรการของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลกระทบที่ดีในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจะตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World

 

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

  • เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยฟิลิปปินส์ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายลงทุนของรัฐบาลซึ่งเราคาดว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ ร่วมถึงภาคบริการการส่งออกการเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานช่วยหนุนการเติบโต ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ ในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการลดลงของเงินเฟ้อและอาจส่งผลดีต่อความสามารถของธนาคารกลางในการลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยรวมแนวโน้มเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก จะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยมาตลาดฟิลิปปินส์ เพื่อปรับแผนและกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป————————————————–สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ

    ตุลาคม 2557

thThai