เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติอัจฉริยะ 2.0 (Smart Nation 2.0) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการชาติอัจฉริยะ ที่นายลี เซียน ลุง ได้ประกาศในปี 2557 โดยโครงการใหม่นี้มีการจัดสรรงบประมาณ 120 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ และจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อต่อสู้กับปัญหาอันตรายจากโลกออนไลน์
โครงการชาติอัจฉริยะ 2.0 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างความไว้วางใจ 2. การเติบโตและความเข้มแข็งของชุมชน และ 3. การพัฒนาทางดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของชาวสิงคโปร์โดยตรง ผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอนผ่านครูและบทเรียน การเพิ่มทักษะดิจิทัลให้แก่ชาวสิงคโปร์ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อของชุมชน
เงินทุนจะถูกจัดสรรให้กับโครงการ AI for Science ภายใต้มูลนิธิวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National Research Foundation) จะถูกนำมาเร่งการวิจัยในด้านชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวัสดุเชิงก้าวหน้า (Advanced Materials) เพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้าน AI ในกลุ่มนักวิจัยของสถาบันรัฐ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2568 โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะเริ่มสอนบทเรียน AI for Fun ซึ่งประกอบด้วยการเขียน Coding หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับเทคโนโลยี AI และเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต
รัฐบาลยังมีเป้าหมายเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะดิจิทัล แม้บริการสำคัญต่างๆ จะยังคงมีให้บริการที่เคาน์เตอร์อยู่ก็ตาม หน่วยงาน Council for Third Age (C3A) จะพัฒนาหลักสูตรมากกว่า 180 หลักสูตรเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเชี่ยวชาญในการตั้งค่าและใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะ การทำธุรกรรมและการสื่อสารออนไลน์ การค้นหาข้อมูล และการป้องกันความเสี่ยงออนไลน์ต่างๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากอันตรายบนโลกออนไลน์ แม้พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางออนไลน์ที่ประกาศใช้ในปี 2565 จะกำหนดให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักๆ ต้องลบเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น การส่งเสริมการฆ่าตัวตายหรือการก่อการร้าย แต่กฎหมายยังไม่ได้ระบุกรอบเวลาชัดเจนสำหรับการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การทำ Deepfake และการแชร์รูปภาพส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต พระราชบัญญัติโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 จะกำหนดให้ผู้ให้บริการคลาวด์และศูนย์ข้อมูลต้องรับผิดชอบมากขึ้น เนื่องจากการล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐานอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงทั้งสิงคโปร์และไทย ความก้าวหน้าด้าน AI ของสิงคโปร์นั้นเป็นผลมาจากการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องของรัฐบาลทั้งด้านเชิงนโยบายและงบประมาณ อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ โดยล่าสุดบริษัท OpenAI ผู้ผลิต ChatGPT มีแผนที่จะเปิดบริษัทในสิงคโปร์ภายในปีนี้
สำหรับประเทศไทย แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติของประเทศไทยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและนวัตกรรมของธุรกิจไทยอีกด้วย
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.businesstimes.com.sg/singapore/new-smart-nation-2-0-initiatives-include-s120-million-set-aside-ai-adoption