อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในเวียดนามจะมีมูลค่าพุ่งสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) คาดการณ์ว่า รายได้ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ในปี 2567 จะเติบโตร้อยละ 10.92 คิดเป็นมูลค่ากว่า 29,800 ล้านเหรียญสหรัฐการสํารวจโดยบริษัท Vietnam Report ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 พบว่าภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 62.5 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตร้อยละ 5-10 ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความเชื่อมั่นทางธุรกิจเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาด F&B โดยอัตราความเชื่อมั่นดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.6 เป็นร้อยละ 87.6

สัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมาจากสถานการณ์ทางการเงินของผู้บริโภค โดยผลการสํารวจพบว่า ผู้บริโภค ร้อยละ 52.7 เชื่อว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และร้อยละ 21.8 รายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีก 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ การมีผลใช้บังคับของกฤษฎีกา Decree No. 74/2024/ND-CP ว่าด้วยการควบคุมค่าจ้างขั้นต่ำในภูมิภาค ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 จะยังคงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดของชาวเวียดนาม

เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา ความกังวลของภาคธุรกิจเกี่ยวกับกำลังซื้อที่อ่อนแอ หรืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้ลดน้อยลงอย่างมาก โดยต่างหันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและสินค้าคงคลังจำนวนมากแทน ทั้งนี้ ภาคธุรกิจ F&B กว่าร้อยละ 72.2 กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในปีนี้ โดยอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 37.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 75 ในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่นอกจากจะให้ความสำคัญกับราคาและคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ความปลอดภัยด้านสุขภาพ และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรอีกด้วย โดยพวกเขามักจะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีแหล่งกำเนิดสินค้าที่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน กระแสความนิยมของอีคอมเมิร์ซและการช้อปปิ้งออนไลน์ยังได้เปลี่ยนวิธีการเข้าถึงสินค้า ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการลงทุนในช่องทางการขายแบบดิจิทัลเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ในรายงานยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในความชอบและความต้องการของผู้บริโภคทำให้ภาคธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่นในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความคาดหวังของตลาด และนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ภาคธุรกิจ F&B กว่าร้อยละ 44.4 กล่าวว่า สินค้าคงคลังจํานวนมากกำลังสร้างความท้าทายต่อบริษัท เนื่องจากความผันผวนของตลาดที่คาดเดาไม่ได้ บริษัทหลายแห่งจึงจัดเก็บสินค้าไว้เป็นจำนวนมากเพื่อรับมือกับการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทา และความผันผวนของการบริโภค ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อต้นทุนการจัดเก็บ การจัดการสินค้าคงคลัง และความเสี่ยงจากการลดมูลค่าของสินค้าเมื่อจัดเก็บไว้เป็นเวลานานเกินไป โดยเฉพาะสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น นอกจากนี้ สินค้าคงคลังที่มีจำนวนมากอาจทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ประสบความยากลำบากในการปรับกระบวนการผลิต และตอบสนองต่อแนวโน้มใหม่ของผู้บริโภคได้อย่างยืดหยุ่น

ถึงแม้ว่าจะมีความยากลำบากหลายประการ แต่ก็ยังมีแรงผลักดันมากมายที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจ F&B ในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาอีคอมเมิร์ซ และการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของการท่องเที่ยว

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่า มูลค่าของอุตสาหกรรม F&B ในเวียดนามปี 2566 มีประมาณ 28,568 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในด้านขนาดของตลาด ภาคใต้ของเวียดนามยังคงเป็นภูมิภาคที่มีร้านบริการอาหารและเครื่องดื่มกระจุกตัวมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือและภาคกลาง โดยเมืองชั้นนำในทั้งสามภูมิภาคคือ นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย และเมืองดานัง ในด้านรายได้ ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-Service Restaurants) จะมีรายได้มากที่สุด รองลงมาคือ ร้านเครื่องดื่ม ร้านอาหารที่จำกัดการให้บริการ (limited-service) และอาหารริมทาง (Street Food) ตามลำดับ ส่วนด้านแอปพลิเคชันธุรกิจออนไลน์และการจัดส่งออนไลน์ ปัจจุบันธุรกิจมากกว่าร้อยละ 91.8 มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อดำเนินธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม และร้อยละ 69.5 ของธุรกิจยอมรับว่าซอฟต์แวร์การขายที่มีประสิทธิภาพช่วยให้การดำเนินธุรกิจดีขึ้น แอปพลิเคชันดิจิทัลที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ซอฟต์แวร์การขาย เมนูอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ แอปพลิเคชันการดูแลลูกค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในเวียดนามยังเป็นบวก และมีเทรนด์ใหม่ ๆ มากมาย ผู้ประกอบการต้องเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของตลาดและคาดการณ์แนวโน้มที่สำคัญ เพื่อวางแผนโครงการดำเนินการรับมือที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

เวียดนามถือเป็นตลาดศักยภาพสูงสำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากเวียดนามมีประชากรจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นประชากรในวัยรุ่นและวัยแรงงานที่มีอัตราการบริโภคสูง ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในเวียดนามมีการแข่งขันที่รุนแรง และมีแนวโน้มธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปในตลาดเวียดนามจึงควรมีความยืดหยุ่นและติดตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเวียดนามอย่างใกล้ชิด

thThai