กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้เผยแพร่ร่างมติของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามถึงปี 2573 และวิสัยทัศน์ปี 2588” ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามอย่างก้าวกระโดด ทั้งด้านการผลิตและปริมาณการซื้อรถยนต์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายรถยนต์เป็น 1 – 1.1 ล้านคันภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มียอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 302,000 คัน และมีอัตราการครอบครองรถยนต์ 63 คันต่อประชากรเวียดนาม 1,000 คน

ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ประหยัดน้ำมัน รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด และรถที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานยั่งยืนใหม่ ๆ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าอัตราการเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนาม เฉลี่ยร้อยละ 14 – 16 และมียอดขายรถยนต์ประมาณ 1 – 1.1 ล้านคัน ภายในปี 2573

เวียดนามคาดว่าภายในปี 2573 จะมียอดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศระหว่าง 600,000 – 700,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2588 ตลาดรถยนต์จะเติบโตในอัตราร้อยละ 11 – 12 ต่อปี และมียอดรวมรถยนต์อยู่ที่ 5 – 5.7 ล้านคัน โดยเฉพาะการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green vehicle) ที่คาดว่าจะมียอดรวมอยู่ที่ 4.3 – 4.4 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 – 85 ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งตามสถิติของสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ระบุว่าเวียดนามมีการผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 460,000 คันต่อปี โดยเป็นรถบรรทุกและรถโดยสารจำนวน 215,000 คัน และรถยนต์ขนาดกลาง จำนวน 200,000 คัน

ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวเวียดนามมีเป้าหมายการส่งออกรถยนต์เพื่อการขนส่ง ส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์ให้ได้มูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าจะเริ่มต้นการผลิตส่วนประกอบสำคัญหลายส่วนในระบบส่งกำลัง และเครื่องยนต์ โดยจะมีกำลังการผลิตร้อยละ 55 – 60 ในแง่ของมูลค่าส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ ภาคส่วนรถยนต์ของเวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นซัพพลายเออร์ส่วนประกอบและชิ้นส่วนระดับโลกและระดับท้องถิ่นที่สำคัญภายในปี 2588 โดยมุ่งหวังที่จะกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมและตอบสนองความต้องการในประเทศสำหรับชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตและประกอบรถยนต์ได้ร้อยละ 80-85 และให้ความสำคัญต่อการพัฒนารถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามจะมุ่งเน้นการพัฒนารถยนต์ประเภทต่าง ๆ เช่น รถบรรทุกและรถโดยสารที่มีที่นั่งมากกว่า 10 ที่นั่ง รถบรรทุกการเกษตรขนาดเล็กสำหรับงานในชนบท รถโดยสารขนาดกลาง และรถตู้ระยะสั้น ในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคล จะเน้นที่รถยนต์ขนาดเล็ก ประหยัดเชื้อเพลิง ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สำหรับรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 9 ที่นั่ง ส่วนรถยนต์ที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น รถโม่ปูน รถบรรทุกน้ำมัน รถทหาร และรถสำหรับงานเกษตรอเนกประสงค์ จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของอุตสาหกรรมด้วย นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแผนที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อผลิตส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ เช่น ระบบขับเคลื่อน ระบบส่งกำลังเครื่องยนต์ และตัวถังรถยนต์ เพื่อทำให้ประเทศมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และในประเทศได้

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้เสนอแผนการจัดตั้งศูนย์ออกแบบและผลิตรถยนต์ในทั้งสามภูมิภาคของเวียดนาม โดยมีการพัฒนาแผนงานการเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และให้ความสําคัญกับนโยบายสําหรับการผลิต การประกอบ และการนําเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น สถานีชาร์จ สถานีบริการน้ำมัน หม้อแปลงไฟฟ้า และระบบมาตรฐานทางเทคนิค ตลอดจนนำเสนอชุดนโยบายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีการบริโภคพิเศษ และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสําหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รวมทั้ง ให้การสนับสนุนค่าจอดรถของลูกค้าและภาษีสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้แหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

(แหล่งที่มา https://tuoitrenews.vn/ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

เวียดนามเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทยในอาเซียน โดยในระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา (2564 – 2566) สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปยังเวียดนามคือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบแต่เนื่องจากนโยบายมาตรการจูงใจทางภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของรัฐบาลเวียดนามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และพฤติกรรมของผู้บริโภคเวียดนามที่เริ่มนิยมซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากไทยไปยังเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เวียดนามอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มยอดการผลิตและยอดขายรถยนต์ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ฯ

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์เวียดนามมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลางที่มีกำลังซื้อดีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และบางส่วนหันไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันตามความนิยมดั้งเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถ การลดภาษีนำเข้า รวมทั้งได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามในอนาคตอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ประเภทดังกล่าวมายังเวียดนาม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในเวียดนามอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไปยังเวียดนามในอนาคต

thThai