(ที่มา : สำนักข่าว Pulse โดย Maeil Business News Korea ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2567)

ในปีนี้ อุตสาหกรรมค้าปลีกของเกาหลีใต้อยู่ในช่วงการเพิ่มจำนวนขึ้นสูงของสินค้าราคาถูกมาก โดยมีสินค้าครอบคลุมหลายประเภท ตั้งแต่เบียร์ ขนมขบเคี้ยว และผักต่างๆ จำหน่ายในราคา 1,000 วอน หรือประมาณ 0.74 เหรียญสหรัฐฯ

 

CU หรือร้านสะดวกซื้อซึ่งบริหารโดยบริษัท BGF Retail Co. ประกาศว่า บริษัทจะนำเสนอสินค้าประเภทผัก ได้แก่ หัวหอม ต้นหอม หัวไชเท้าสไลด์ แครอท และเห็ดนางรมหลวง ในราคา 990 วอนในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของ CU ที่สินค้าของสดจำหน่ายในราคาต่ำกว่า 1,000 วอน ซึ่งผักราคาดีต่อใจนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับศูนย์กระจายสินค้าเกษตรที่มีเครื่องจักรอัตโนมัติ 20 เครื่อง รวมถึงแขนหุ่นยนต์ (Robot Arms) ที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 10 นอกจากนี้ ขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เล็กที่ออกแบบมาสำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิก 1 และ 2 คน ก็มีส่วนในการช่วยลดต้นทุน ทั้งนี้ CU ได้วางจำหน่ายเต้าหู้ราคา 1,000 วอนในเดือนสิงหาคมภายใต้แบรนด์ของตนเอง ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมียอดขายมากกว่า 110,000 ชิ้น ในเวลาเพียง 50 วัน

 

จากความสำเร็จดังกล่าว ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เจ้าอื่นๆ เช่น GS25 7-Eleven และ Emart24 ก็ตัดสินใจวางจำหน่ายสินค้าในราคา 1,000 วอนในปีนี้เช่นกัน เช่น ถั่วงอกราคา 1,000 วอนของ GS25 กลายเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งในหมวดผักไม่นานหลังจากเปิดตัวในเดือนกรกฎาคม และยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน นอกจากนี้ เบียร์ราคา 1,000 วอนของ 7-Eleven ยังสร้างความฮือฮาในตลาดด้วยเบียร์ BURGE MEESTER จากสเปน และเบียร์ Praga Fresh จากเดนมาร์ก ซึ่งทั้งสองชนิดมีราคา 1,000 วอนต่อกระป๋องขนาด 500 มล. โดยขายได้ 200,000 และ 250,000 กระป๋องตามลำดับภายในเวลา 5 วันหลังเริ่มวางจำหน่าย

 

ไม่เพียงเท่านั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์ม e-commerce ต่างให้ความสำคัญกับการตลาดราคา 1,000 วอนเป็นอย่างมาก อาทิ Emart ที่มีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ผักปริมาณเล็กภายใต้แบรนด์ Haru Vegetables ในปี 2565 และปัจจุบันจำหน่ายสินค้ามากกว่า 20 รายการ รวมถึงหัวหอม ต้นหอม กระเทียมปอกเปลือก และไข่ ในราคา 990 วอนต่อชิ้น

 

ในส่วนของ Homeplus พบว่า เบียร์ Titan ซึ่งถูกวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคมในราคา 1,000 วอนต่อกระป๋องขนาด 500 มล. มียอดขายเติบโต โดยเบียร์ล็อตแรกจำนวน 70,000 กระป๋องขายหมดภายในสามวันหลังจากเปิดตัว และมียอดขายสะสมรวมถึง 300,000 กระป๋องภายในต้นเดือนตุลาคม

 

SSG.com แพลตฟอร์มออนไลน์ของ Shinsegae Group นำเสนอผักที่ต้องใช้ปรุงอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ กระเทียมปอกเปลือก ต้นหอม หัวหอม เห็ดนางรม พริกชี้ฟ้าเขียวเผ็ด (Cheongyang chili pepper) และพริกเขียวแตงกวา (Cucumber pepper) พร้อมด้วยสลัด 1 รายการภายใต้แบรนด์ Haru Vegetables ซึ่งสินค้าทั้งหมดมีราคาประมาณ 1,000 วอน

 

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการค้าปลีกกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ราคา 1,000 วอน ได้ปรับเปลี่ยนจากสินค้าพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อการโปรโมชั่น กลายเป็นสินค้าหลักของแบรนด์โดยถาวร นอกจากนั้นยังได้กล่าวว่า สิ่งที่เคยเป็นกลยุทธ์การตลาดกลับกลายมาเป็นสินค้าหลักในปัจจุบัน มากกว่าที่จะเป็นเพียงสิ่งล่อใจลูกค้า ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของกลยุทธ์นี้ คือราคาของผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ โดยไม่ลดคุณภาพของสินค้า

 

สาเหตุที่ทำให้การกำหนดราคา 1,000 วอนเป็นไปได้ เกิดจากจำนวนครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวและสองคนที่เพิ่มมากขึ้นในเกาหลีใต้ ทำให้อุปสงค์ของสินค้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้น และราคาอาหารนอกบ้านที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี (Statistics Korea) พบว่า อัตราเงินเฟ้อราคาอาหารนอกบ้านที่ร้อยละ 2.6 ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคโดยรวมที่ร้อยละ 1.6 อยู่ร้อยละ 1

ความเห็น สคต.

          กระแสราคาสินค้าของเกาหลีใต้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจ จากการที่ราคาอาหารนอกบ้านมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าราคาผู้บริโภคโดยรวม ส่งผลให้ผู้บริโภคเกาหลีมีแนวโน้ม รัดเข็มขัด ทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ร้านขายปลีกและซุปเปอร์มาร์เกตต่างๆ จึงใช้กลยุทธ์จำหน่ายสินค้าราคา สุดประหยัดที่ใม่เกิน 1,000 วอน ซึ่งสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างดี โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูงมาก และผู้บริโภคที่อาศัยคนเดียว

 

สินค้าราคาประหยัดที่ร้านค้าขายปลีกแข่งขันกันนำเสนอ มีทั้งอาหารสด จำพวก ผัก ผลไม้ รวมถึง อาหารแปรรูป และเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งนอกจะมีของที่ผลิตในเกาหลีแล้ว ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงควรใส่ใจแทรนด์ด้านราคาสินค้าและส่งออกสินค้าที่มีราคาที่เหมาะสมและคงคุณภาพดีเช่นเดิม เพื่อที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในเกาหลีได้

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

thThai