ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดชาพร้อมดื่มของจีนมีการเติบโตอย่างมาก ตามรายงานตลาดเชิงลึก“รายงานข้อมูลเชิงลึกสถานการณ์การบริโภคและการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชา ปี 2567-2568” จาก เว็บไซต์ iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ของจีน (China’s new-style tea) ของจีนสูงถึง 3,333.8 ร้อยล้านหยวน ในจำนวนนี้ มีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพอยู่ที่ 411.6 ร้อยล้านหยวน และมีมูลค่าตลาดเครื่องดื่มไร้น้ำตาลอยู่ที่ถึง 401.6 ร้อยล้านหยวน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพของจีนได้รับความนิยมอย่างมากและมีการครองสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มที่สูง เนื่องจากกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพกำลังมาแรงในตลาดจีน ส่งผลให้ความต้องการเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มชาไร้น้ำตาลจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ตลาดเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ของจีนจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3,749.3 ร้อยล้านหยวน จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพและชาไร้น้ำตาลเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตในตลาดเครื่องดื่มของจีน ในขณะเดียวกัน คาดว่าการแข่งขันระหว่างแบรนด์จะรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มในจีน ต่างก็ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความนิยมของตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ จากข้อมูลตลาดและการวิเคราะห์ในปี 2566 แบรนด์ชาพร้อมดื่มบางส่วนในจีนได้รับความนิยมและมีสัดส่วนครองตลาดสูง เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นและนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์และมุ่งเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบและส่วนผสมกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ส่งผลให้แบรนด์เหล่านี้แบรนด์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในตลาดจีนอย่างมาก อาทิ ผู้บริโภค 31.7% นิยมซื้อเครื่องชาบรรจุขวดจาก แบรนด์ 康师傅 (Kangshifu, คังซือฝุ) และผู้บริโภค 30.7% นิยมซื้อเครื่องชาบรรจุขวดแบรนด์ 东方树叶 (Dongfangyeshu, ตงฟางเย่ซู่) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มชาที่ผลิตภายใต้บริษัท 农夫山泉 (Nongfu shanquan, หนงฟู ซันเฉวียน) ส่วนผู้บริโภค 25.4% นิยมซื้อเครื่องชาบรรจุขวดแบรนด์ 元气森林 (Yuanqi senlin, หยวนชี่ เซินหลิน) ฯลฯ
แหล่งข้อมูล: iiMedia Research
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แบรนด์เหล่านี้ประสบความสำเร็จท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงผ่านการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แบ่งย่อยหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มบำรุงอวัยวะร่างกายภายใน เสริมความงามและบำรุงผิว เครื่องดื่มชูกำลัง และทำการตลาดในทุกช่องทาง อาทิ ป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ แพลตฟอร์มอีคอมเมิซ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
แหล่งข้อมูล: www.fxbaogao.com
เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสำหรับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ชาไร้น้ำตาลและเครื่องดื่มชาเพื่อสุขภาพคาดว่าจะกลายเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดเครื่องดื่มของจีน ซึ่งก็จะทวีความรุนแรงในการแข่งขันระหว่างแบรนด์มากขึ้น ดังนั้น การสร้างจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างความแตกต่าง จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับแบรนด์ในการได้เปรียบทางการตลาดและสามารถแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มของจีนได้ โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มในตลาดจีนต่างก็ได้มีการคิดค้นรสชาติที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใครขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องดื่มชาจับเลี้ยงผสมทุเรียน , น้ำผักชี , เครื่องดื่มชูกำลังรสกาแฟ , นมรสข้าวหอมมะลิ , ชานมรสโสมผสมอัลมอนด์ , เครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำผลไม้ เป็นต้น
แหล่งข้อมูล: www.fxbaogao.com
ในส่วนของความนิยมรสชาติของชาพร้อมดื่มของผู้บริโภคในตลาดจีน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการบริโภคมีความหลากหลายและให้ความสำคัญกับสุขภาพ จากรายงานของ iiMedia Research พบว่า 46.9% ของผู้บริโภคเครื่องดื่มชาจีนชอบเครื่องดื่มชาแบบไร้น้ำตาล แคลอรี่ต่ำ และไม่มีไขมัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการบริโภคเพื่อสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับเครื่องดื่มชาค่อยๆ เปลี่ยนจากชานมรสดั้งเดิมไปเป็นชาไร้น้ำตาล ชาเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชา ในด้านของรสชาติ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกชารสชาติผสม เช่น ชาผสมดอกไม้ ชาผสมผลไม้ และชาผสมนม ซึ่งชาผสมดอกไม้ที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนปัจจุบัน เช่น ดอกมะลิ , ดอกพุดซ้อน , ดอกกุหลาบ และดอกกุ้ยฮวา (ดอกหอมหมื่นลี้) รวมถึงชาผลไม้ เช่น มะนาว พีช และสตรอเบอร์รี่ ล้วนเป็นรสชาติที่ผู้บริโภคชื่นชอบ ในขณะเดียวกัน ความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ชานมยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เน้นการใช้นมวัวแท้และใบชาแท้
เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตชาพร้อมดื่มก็มีแนวโน้มพัฒนาและคิดค้นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและมีส่วนผสมจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มชาไร้น้ำตาลและเครื่องดื่มชาสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านสุขภาพ ตามข้อมูลรายงานของ iiMedia Research ชาเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้บริโภคจีน ได้แก่ ดอกสายน้ำผึ้งหรือดอกจินอิ๋นฮวา (金银花) , ดอกเก๊กฮวย , ลูกเดือย , หวงฉีหรืออึ่งคี้ ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว (黄芪) , ลำไย , ถั่วแดง , พุทราจีน ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับ บำรุงม้าม ตับและขับความชื้นในร่างกาย บำรุงเลือด เสริมความงาม แก้ร้อนใน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการวัตถุดิบที่เป็นของแท้และมีข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ระบุอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้แบรนด์ชาพร้อมดื่มที่ใช้ส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การใช้นมวัวแท้ น้ำผลไม้แท้ ใบชาจริง ฯลฯ ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน ซึ่งส่งผลให้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเหล่านี้ มีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มของจีนสูงและมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข้อมูล: 小红书(Xiaohongshu) @SUNTORY三得利;@果子熟了(Guozi shule) @Jingzhe Research Institute
เมื่อพิจารณาภาพรวมการบริโภคชาพร้อมดื่มในตลาดแล้ว แสดงให้เห็นว่า รสนิยมของผู้บริโภคสำหรับชาพร้อมดื่มมีแนวโน้มที่ให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ ความหลากหลาย และคุณภาพของวัตถุดิบสูง ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคและการลองรสชาติแปลกใหม่ ดังนั้น เพื่อตอบสนองเทรนด์เหล่านี้ ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ ในจีน จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ตลาดเครื่องดื่มของจีนโดยรวมแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่มีสารปรุงแต่ง และมีน้ำตาลต่ำ โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทชาและน้ำผลไม้พร้อมดื่มในตลาดจีน มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เครื่องดื่มไทยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น รสเปรี้ยวสดชื่นของชามะนาวไทย น้ำมะพร้าวที่มีรสชาติหอมหวานของไทย และปัจจุบันได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคอย่างมากในจีน กอปรกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยที่มีรสชาติค่อนข้างแตกต่างจากเครื่องดื่มจีน และนำความรู้สึกสดชื่นมาสู่ผู้บริโภคชาวจีนได้ แสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทย เป็นสินค้าที่มีศักยภาพอย่างมากและมีโอกาสในการขยายตลาดในประเทศจีน
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
เมื่อพิจารณาสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันอย่างมาก เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่แตกต่างจากหลายประเทศ อาทิ ประเทศไทยอุดมไปด้วยผลไม้เมืองร้อน พืช และสมุนไพรหลากหลายชนิด วัตถุดิบคุณภาพสูงเหล่านี้เป็นรากฐานที่ดีสำหรับการผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่ม ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวของไทยที่มีรสชาติหอมหวานเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน มีคุณภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เข้มข้นทำให้มีศักยภาพในการพัฒนา มาตลอดอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน โดย ผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องดื่มของประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการดูแลสุขภาพของชาวจีนในการขยายส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มในตลาดจีน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเน้นส่วนผสมจากพืช ผลไม้ หรือสารสกัดจากธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และคุณสมบัติเฉพาะด้าน รวมถึงเครื่องดื่มสมุนไพรบางชนิดในประเทศไทยซึ่งใช้พืชชนิดพิเศษในท้องถิ่นและมีคุณค่าทางสุขภาพและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ก็อาจได้รับความนิยมจากชาวจีนที่รักสุขภาพ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบไทย ยังสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มของจีนได้ดียิ่งขึ้น ผ่านช่องทางการตลาด ดังต่อไปนี้
- แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนเป็นหนึ่งในช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญของอุตสาหกรรมค้าปลีกในจีน และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวจีนสมัยใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่หันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการเจาะตลาดและขยายตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มของไทย โดยผู้ประกอบการสามารถมองหาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เหมาะสมกับการจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่ม และศึกษาเงื่อนไขในการเข้าร่วมแพลตฟอร์มนั้นๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการนำเสนอสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์ม Douyin (Tiktok) , TaoBao, Tmall, JD.com Meituan, Eleme, Dazhong Dianping เป็นต้น รวมถึงการติดต่อกับซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ที่สามารถจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายและมีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตYonghui, Walmart, RT-Mart, Ole’, Hema Supermarket, Jiajiayue, Qian Da Ma, Century mart, Lotus, Meet all, B.U.T Mart, Sungiven Food, HotMax, และ Dongfen Baijia เป็นต้น
- ร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีบริการเครื่องดื่มจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการเครื่องดื่มสามารถติดต่อร้านอาหารไทยในจีน ร้านอาหารจีน รวมถึงร้านคาเฟ่ที่มีแฟรนไชส์ ฯลฯ ที่เหมาะกับเครื่องดื่มไทย จะเป็นช่องทางให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ผู้ประกอบการสามารถศึกษาและเข้าร่วมการจำหน่ายกับช่องทางการค้าปลีกแบบไร้พนักงาน การสั่งซื้อแบบรวมกลุ่มในชุมชน (Community Group Buying) เป็นต้น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มของประเทศไทยสามารถใช้ช่องทางการค้าปลีกใหม่เหล่านี้เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภคในตลาดจีน รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการในการซื้อสินค้าที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนได้ อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบไร้พนักงาน การสั่งซื้อแบบรวมกลุ่มในชุมชน (Community Group Buying) ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยการเจรจาการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและจีน (ASEAN-China Free Trade Agreement-ACFTA 3.0) ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางนโยบายทางการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มของไทยเพื่อเข้าสู่ตลาดจีน ผู้ส่งออกเครื่องดื่มของไทยสามารถรับนโยบายสิทธิพิเศษ เช่น การลดอัตราภาษีและการยกเว้นภาษี เพื่อลดต้นทุนผลิตภัณฑ์และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมโครงการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยของกระทรวงพาณิชย์ ผ่านงานแสดงสินค้าและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบไทยสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีน จนนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันสินค้าไทย โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก่อนที่จะเข้าตลาดจีน ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบการส่งออกสู่ตลาดจีนและควรจดทะเบียนสินค้าให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการลอกเลียนชื่อสินค้าและนำไปจดทะเบียน ส่งผลให้แบรนด์ไทยไม่สามารถที่จะใช้ชื่อแบรนด์สินค้าในตลาดจีนได้
แหล่งข้อมูล : https://mp.weixin.qq.com/s/02H8YVbj8VVp6mS2ntzUog
https://weibo.com/ttarticle/p/show?id=2309405058965473198346
ภาพ : https://zhuanlan.zhihu.com/p/660655200@青橙财经 (Qingcheng Finance)
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว