ข้อมูลจาก www.statista.com พบว่า ในปี 2566 มูลค่ายอดขายของตลาดผลิตภัณฑ์ความงามที่มีเซเลบริตี้เป็นเจ้าของ (Celebrity-owned beauty brands) ในตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,091,100,000 เหรียญสหรัฐ หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 57.8 จาก โดยปี 2565 มีมูลค่ายอดขายอยู่ที่ 691,500,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้มูลค่ายอดขายของ Celebrity-owned beauty brands เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับยอดขายโดยรวมของผลิตภัณฑ์ความงามยี่ห้ออื่นในตลาดสหรัฐฯที่ไม่ได้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นเจ้าของ ซึ่งมีการเติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 11.1
ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีเซเลบริตี้เป็นเจ้าของเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องผิวพรรณ และความงาม ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่ม millennials (ช่วงอายุ 28-42 ปี) เลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ความงาม เฉลี่ยปีละ 2,670 เหรียญสหรัฐฯ GEN Z (ช่วงอายุ 18 ถึง 26 ปี) ซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม เฉลี่ยปีละ 2,048 เหรียญสหรัฐฯ GEN X (ช่วงอายุ 43 ถึง 58 ปี) ซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม เฉลี่ยปีละ 1,517 เหรียญสหรัฐฯ และ Baby Bloomer (ช่วงอายุ 59 ถึง 77 ปี) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม เฉลี่ยปีละ 494 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
ปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการ คือ ความชอบและความหลงใหลในตัวเจ้าของแบรนด์ www.Nielseniq.com เผยว่า ในปี 2566 ชาวอเมริกันโดยรวมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงามที่มีเซเลบริตี้เป็นเจ้าของ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,003.64 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าผู้บริโภคแบรนด์ทั่วไป 1.25 เท่า ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่อายุน้อย และมีกำลังซื้อมาก จึงซื้อสินค้าเพื่อสนับสนุน
เซเลบริตี้ที่ตนชื่นชอบ เว็บไซต์ Nielsenig เผยอีกว่า ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2566 เซเลบริตี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ความงามจำนวน 42 แบรนด์ โดยใช้ประโยชน์จากชื่อเสียง อิทธิพล และฐานแฟนคลับที่มี เพื่อสร้างพื้นที่ให้กับแบรนด์ของตัวเอง โดยเฉพาะการเน้นสร้างแบรนด์ในสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์ เซเลบริตี้ และผู้บริโภค อาทิ การที่เซเลบริตี้เจ้าของแบรนด์ถ่ายรูปคู่กับผลิตภัณฑ์ และโพสต์ผ่านอินสตาแกรม เฟสบุ๊ก หรือติ๊กตอก การสร้างคลิปสั้นเกี่ยวกับเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ รวมถึงประวัติความเป็นมาของแบรนด์ และการให้เพื่อนๆ เซเลบริตี้ท่านอื่นโพสต์ช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ของตน เป็นต้น ปัจจัยที่ทำให้เจ้าของแบรนด์เน้นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ประเภทนี้สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้โดยตรง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความไว้วางใจในแบรนด์แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
สำหรับผลิตภัณฑ์ความงามที่มีเซเลบริตี้เป็นเจ้าของที่เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้ และมีมูลค่ายอดขายมากที่สุด 5 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่
- Fenty Beauty
Fenty Beauty แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ก่อตั้งโดย Rihanna ในปี 2560 โดยมีมูลค่ายอดขายที่ 602,400,000 เหรียญสหรัฐ และเป็นแบรนด์ของเซเลบริตี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2566 สำหรับสินค้าขายดีของแบรนด์นี้ คือ
รองพื้น และลิปกลอส ซึ่งสินค้า 2 ชนิดนี้ถูกค้นหาออนไลน์จากผู้บริโภคทั่วโลก อยู่ที่ จำนวน 21,000 ครั้ง และ 20,000 ครั้งต่อเดือนตามลำดับ นอกจากนี้ Rihanna ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปจำหน่ายกว่า 150 ประเทศทั่วโลก
- Anomaly Hair Care
Anomaly แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ก่อตั้งโดย Priyanka Chopra Jonas ถือเป็น
แบรนด์ของเซเลบริตี้ที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับสองในปี 2566 โดยมีมูลค่ายอดขายที่542,000,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกค้นหาออนไลน์มากที่สุด คือ น้ำมันบำรุงผม
- Kylie Cosmetics
Kylie Cosmetics ก่อตั้งโดย Kylie Jenner ในปี 2558 โดยมีมูลค่ายอดขายที่ 380,400,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ Kylie Lip Kits ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสินค้าเปิดตัว และเป็นตัวชูโรงของแบรนด์ Kylie Cosmetics โดยสินค้าชนิดนี้ถูกค้นหาออนไลน์จากผู้บริโภคทั่วโลกจำนวนหลายพันครั้งต่อเดือน
- R.E.M Beauty
R.E.M Beauty ก่อตั้งโดย Ariana Grande ในปี 2564 โดยมีมูลค่ายอดขายที่ 88,700,000 เหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ขายดีอันหนึ่งของแบรนด์ คือ รองพื้น และลิปออยล์ ทั้งนี้ จุดขายของแบรนด์นี้ คือ ผลิตภัณฑ์วีแกน (Vegan) หรือการผลิตสกินแคร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัตถุดิบจากพืช หรือสารที่สังเคราะห์ขึ้นเท่านั้น
- Rare Beauty
Rare Beauty ก่อตั้งโดย Selena Gomez ในปี 2563 โดยมีมูลค่ายอดขายที่ 75,700,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ขายดีของแบรนด์นี้ คือ บลัชออน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกค้นหาจำนวน 34,000 ครั้งต่อเดือนทั่วโลก
ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก
ชาวอเมริกันให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามเติบโตเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ที่มีเซเลบริตี้เป็นเจ้าของ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณยอดขายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีแบรนด์จำนวนมาก แต่ก็ยังมีโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของไทยที่ดีมีคุณภาพอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ประกอบจึงควรศึกษากลุ่มเป้าหมายของสินค้าให้ชัดเจน ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งวางแผนการเข้าสู่ตลาดอย่างมีศักยภาพ หากมีผู้ประกอบการไทยหรือผู้สนใจที่จะศึกษาหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศสหรัฐฯ สคต. นิวยอร์กมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลและคำปรึกษา ตลอดจนประสานงานให้ต่อไป
ที่มา: https://www.lendingtree.com/ www.thesun.my.com / www. nielseniq.com / www.statista.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก