ธนาคารโลกประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (Gross Domestic Product per capita)   ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาค MENA โดยในกลุ่มประเทศ GCC มีการเติบโตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 1.9 ในปี 2567

การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งในภูมิภาคยังคงขยายวงกว้าง ในรายงานล่าสุดของธนาคารโลก ประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาค MENA จะเติบโตในระดับปานกลางถึง ร้อยละ 2.2 ในปี 2567 เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 ต่อปี

การเติบโตที่เพิ่มขึ้นนี้ขับเคลื่อนโดยประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งคาดการณ์ว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 0.5 ในปี 2566 เร่งเป็นร้อยละ 1.9 ในปี 2567  ในขณะที่การเติบโตของ GDP ประเทศอื่นที่เหลือในภูมิภาค MENA คาดว่าจะชะลอตัวลง

ธนาคารโลกคาดการเติบโตของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจะชะลอตัวจากร้อยละ 3.2 ในปี 2566 เหลือ  ร้อยละ 2.1 ในปี 2567 และการเติบโตของผู้ส่งออกน้ำมันที่ไม่ใช่กลุ่ม GCC จะลดลงจากร้อยละ 3.2 เหลือร้อยละ 2.7

ความตึงเครียดในภูมิภาคทำให้เกิดวิกฤตการเงินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากการต่อสู้กับฮามาสในฉนวนกาซาแล้ว ความตึงเครียดยังเพิ่มขึ้นในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล ยังรวมไปถึงการบุกทางตอนใต้ของเลบานอนและการระดมทิ้งระเบิดในหลายพื้นที่ของเลบานอน

สงครามของความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในตะวันออกกลางได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจอย่างหนัก ดินแดนปาเลสไตน์กำลังใกล้จะล่มสลายทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจของ Gaza หดตัวถึงร้อยละ 86 และ West Bank กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเงินและวิกฤตภาคเอกชนครั้งใหญ่ที่สุด

เช่นเดียวกับในเลบานอนที่ประสบกับปัญหาการขัดแย้ง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น จอร์แดนและอียิปต์ ล้วนพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศ ต้องเผชิญกับการหดตัวอย่างมากของรายรับจากการท่องเที่ยวและรายรับทางการเงิน

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกชี้ว่า เลบานอน จอร์แดน และอียิปต์ ชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับอิสราเอลและฉนวนกาซาโดยตรง ได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุด จากการดิ่งลงของภาคการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาเลบานอนโกยรายได้เข้าประเทศจากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 26 ของภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ ส่วนจอร์แดนร้อยละ 21 และอียิปต์ร้อยละ 12 ส่วนอิสราเอลมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น

ธนาคารโลกประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในกลุ่ม MENA  อาจสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 45 การสูญเสียดังกล่าวเทียบเท่ากับความก้าวหน้าโดยเฉลี่ยที่ภูมิภาคนี้ทำได้ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

การถมช่องว่างระหว่างเพศเพื่อเพิ่มรายได้ต่อหัว 51%

รายงานของธนาคารโลกยังเจาะลึกถึงประเด็นที่ภูมิภาค MENA ต้องให้ความสำคัญเพื่อส่งเสริมการเติบโตของ GDP โดยรวมอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการปรับสมดุลระหว่างภาคส่วนสาธารณะและภาคเอกชน การจัดสรรบุคลากรในตลาดแรงงานให้ดีขึ้น การลดช่องว่างระหว่างเพศ และการส่งเสริมนวัตกรรม

แม้ว่าระดับการศึกษาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนแรงงานหญิงในภูมิภาค MENA อยู่ที่เพียงร้อยละ 19 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก ดังนั้น การปิดช่องว่างการจ้างงานระหว่างเพศจะส่งผลให้รายได้ต่อหัวใน MENA จะเพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่งถึงร้อยละ 51

นาง Roberta Gatti หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของธนาคารโลก ยกตัวอย่าง เช่น ภูมิภาคนี้มีสัดส่วนข้าราชการภาครัฐที่มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะผู้หญิง แต่โชคไม่ดีที่ใน MENA  ภาครัฐที่มีขนาดใหญ่กว่าแต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้บริการสาธารณะที่ดีกว่าเสมอไป การระดมบุคลากรที่มีความสามารถไปที่ภาคเอกชนจะช่วยปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากร โดยเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้มากถึงร้อยละ 45

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นการเติบโต

การใช้ประโยชน์จากความรู้และเทคโนโลยีระดับโลกจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจใน MENA การค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากความได้เปรียบทางที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคสามารถอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการผสมผสานและนวัตกรรมนี้ได้ และปัจจัยสำคัญอื่นที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโต อาทิ  การปรับปรุงคุณภาพและความโปร่งใสของข้อมูลซึ่งปัจจุบันยังตามหลังมาตรฐานสากล

การค้าระหว่างไทยกับ MENA

ที่ผ่านมาแม้การส่งออกไทยโดยรวมอาจได้รับผลกระทบทางตรงจากสงครามไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไปพื้นที่ดังกล่าวยังค่อนข้างน้อย แต่มีผลกระทบทางอ้อม เช่น จุดยุทธศาสตร์ที่เป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างเอเชียกับยุโรปในทะเลแดง บริเวณช่องแคบ Bab-El-Mandeb ที่ยังถูกโจมตีจากกบฏฮูตีต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าจากก่อนเกิดความไม่สงบ

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยไทยกับกลุ่มประเทศ MENA (22 ประเทศ)ล่าสุดปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) รวม 27,402 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1.7%) แบ่งออกเป็นการส่งออก 7,765 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ 5.8%)  นำเข้า 19,638 ล้านเหรียญสหรัฐ (+0.2%)

โดยไทยส่งออกไปประเทศสมาชิก MENA เรียงตามสัดส่วนการส่งออกมากน้อย ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วน 30.2%) ซาอุดิอาระเบีย (24.6 %) อิรัก (10.3%) อิสราเอล (7.3%) อียิปต์ (5.3%) กาตาร์ (3.5%) คูเวต (3.4%) โอมาน (3.2%) ลิเบีย (2.2%) เยเมน (2.0%) เลบานอน ( 1.4%) บาห์เรน (1.3 %)  โมร๊อกโก (1.1%) อิหร่าน ( 1.1%) จอร์แดน (1.0%) ตูนีเซีย (0.8%)   แอลจีเรีย (0.6%) มอลตา  (0.2 %)   ซีเรีย (0.2 %) จิบูติ (0.1%)  และปาเลสไตน์ ( 0.1%)

สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์และรถบรรทุก ข้าว ปลากระป๋อง ไม้ไฟเบอร์บอร์ด ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อะไหล่รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ตู้เย็น/ตู้แช่ และคอมพิวเตอร์

สินค้าที่นำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย อลูมิเนียมไม่ขึ้นรูป ผลิตภัณฑ์เหล็ก ทองคำและเพชรร่วง เป็นต้น

——————————————————————

thThai