บริษัท Adobe ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในช่วงเทศกาล จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 5,000 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 2-9 กันยายน 2567 รวมถึง ข้อมูลธุรกรรมการซื้อสินค้าและสถิติการเข้าชมเว็บไซต์ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ มากกว่า 1 ล้านล้านครั้ง ครอบคลุมสินค้าถึง 18 หมวดหมู่ จำนวนมากกว่า 100 ล้านรายการ ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวได้มีการคาดการณ์ยอดการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ในช่วงเทศกาลวันหยุดปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2567 ว่ายอดขายออนไลน์ในช่วงเทศกาลวันหยุดในปีนี้ของสหรัฐฯ ปี 2567 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 240,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน
ปี 2566 ชาวอเมริกันใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงเทศกาลวันหยุด เป็นมูลค่า 221,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในปีนี้การซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่คาดว่าจะทำสถิติใหม่ โดยน่าจะมีมูลค่าถึง 128,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และน่าจะมีการขยายตัวที่ 12.8% เมื่อเทียบกับปีผ่านมาในช่วงเดียวกัน
จากการคาดการณ์ของบริษัท Adobe แสดงให้เห็นว่าในช่วง Cyber Week หรือระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2567 รวม 5 วัน ตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า, Black Friday และ Cyber Monday ยอดการซื้อสินค้าออนไลน์น่าจะมีมูลค่าถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน ซึ่งคิดเป็น 16.9% ของฤดูกาลช้อปปิ้งทั้งหมด
นอกจากนี้ จากการคาดการณ์พบว่า Cyber Monday (2 ธันวาคม 2567) น่าจะเป็นวันที่ชาวอเมริกันซื้อสินค้ามากที่สุดในฤดูกาล หรือคิดเป็นมูลค่า 13,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 6.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่วัน Black Friday (29 พฤศจิกายน 2567) คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 10,800 ล้านเหรียญหสรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจข้อมูลผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวน 5,000 คน พบว่า 71% มีแผนที่จะช้อปออนไลน์ในวัน Black Friday และ 70% จะรอโปรโมชั่นในช่วง Cyber Week เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกวันสั่งซื้อ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัท Adobe แสดงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อของชาวอเมริกันในช่วงเทศกาล โดยสามารถแบ่งเป็น 6 ประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
- โปรโมชั่นการลดราคาช่วยดึงดูดนักช้อปได้เป็นอย่างดี
บริษัท Adobe คาดการณ์ว่าธุรกิจปลีกในสหรัฐฯ จะแข่งขันกันเพื่อดึงดูดผู้บริโภคในช่วงเทศกาลด้วยโปรโมชั่นและการลดราคาครั้งใหญ่ ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสินค้าทั้ง 18 หมวด พบว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีโปรโมชั่นลดราคาเพื่อดึงดูดผู้บริโภคสูงสุดถึง 30% รองลงมา คือ ของเล่น 27% ทีวี 24% เสื้อผ้า 23% คอมพิวเตอร์ 23% อุปกรณ์กีฬา 20% และเฟอร์นิเจอร์ 19% ตามลำดับ ทั้งนี้ การลดราคาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคและช่วยผลักดันให้ยอดการจำหน่ายทางออนไลน์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ Adobe แสดงให้เห็นว่าทุกๆ การลดราคาลง 1% ในช่วงโปรโมชั่น เช่น Prime Day, President’s Day, Memorial Day และ Labor Day ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการเพิ่มขึ้นอีก 1.025%
- นักช้อปรอเวลาเพื่อซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลวันหยุด
ภาวะเงินเฟ้อที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักช้อปหันมาพิจารณาซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง จากข้อมูลของบริษัท Adobe ที่ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวอเมริกันทางออนไลน์ในช่วงนอกเทศกาล ตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม 2567 พบว่าสินค้าที่มีราคาถูก มียอดการขายเพิ่มขึ้น 46% ในทุกหมวดหมู่ ในขณะที่สินค้าที่มีราคาแพง มียอดการขายลดลง 47% เมื่อปีก่อน อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าวน่ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเทศกาลวันหยุด โดยสินค้าที่มีราคาสูงในภาพรวมคาดว่าน่าจะมีการขยายตัวของยอดการขายเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับในช่วงเทศกาลปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มีราคาสูงหากมีโปรโมชั่นการลดราคาอย่างเหมาะสมในช่วงเทศกาล เช่น อุปกรณ์กีฬา คาดว่าน่าจะขายได้เพิ่มขึ้นถึง 76% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ สินค้าหมวดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มในการขยายตัวเช่นเดียวกัน เช่น หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 58% เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 40% ในทางกลับกัน บางหมวดสินค้าแม้ว่าจะมีโปรโมชั่นการลดราคาในช่วงเทศกาล อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อาทิ เสื้อผ้าและของเล่น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3% ส่วนหมวดสินค้าที่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงแม้จะมีโปรโมชั่นช่วงเทศกาล ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องนอนลดลง 12% และสินค้าอาหารและของใช้ทั่วไปลดลง 3%
- ผู้บริโภครอระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อซื้อสินค้า
ช่วง Cyber Week นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าในหมวดของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์กีฬา ในขณะที่ Black Friday เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อทีวี นอกจากนี้ วันเสาร์หลังจาก Black Friday ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการซื้อคอมพิวเตอร์ และวัน Cyber Monday เป็นวันที่เหมาะสำหรับการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาการลดราคาและการกระตุ้นตลาดค้าปลีกที่สำคัญในสหรัฐฯ จากผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยจะมีการลดราคาสูงสุดถึง 16% และตั้งแต่วันที่ 1-21 พฤศจิกายน จะมีส่วนลดจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง สูงสุดถึง 18% จากราคาที่ระบุ ซึ่งช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นในการจัดการงบประมาณการใช้จ่ายได้ อย่างไรก็ดี หลังจาก Cyber Week จะพบว่าการลดราคาจะยังมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม โดยมีการลดราคาสูงสุดที่ 15%
- Influencer ช่วยขับเคลื่อนการซื้อสินค้าของผู้บริโภค
ในช่องทางการตลาดหลัก การค้นหาแบบจ่ายเงินเพื่อโฆษณา (paid search) ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในตลาดค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้ออนไลน์ทั้งหมด และคาดว่าน่าจะมีการเติบโตในช่วงเทศกาลวันหยุดประมาณ 1%-3% รองลงมา คือ การตลาดผ่านพันธมิตรและพาร์ทเนอร์ คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของรายได้ออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งการตลาดดังกล่าวได้รวมถึง Influencer บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการขยายตัวถึง 7%-10% โดยข้อมูลล่าสุดปี 2567 ของบริษัท Adobe ระบุว่า Influencer มีประสิทธิภาพอย่างมากในการดึงดูดผู้ซื้อมากกว่าการโพสต์ขายในโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียวถึง 10 เท่า ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของ Adobe พบว่า 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Z ซึ่งปัจจุบันมีอายุประมาณ 12-27 ปี นิยมซื้อสินค้าตามคำแนะนำของ Influencer
- บริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later: BNPL) น่าจะเป็นที่นิยมในฤดูกาลนี้
จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัท Adobe คาดว่าการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL) น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ BNPL ของการใช้จ่ายออนไลน์คิดเป็นมูลค่า 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวยอด BNPL น่าจะมีมูลค่าประมาณ 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Cyber Monday คาดว่าจะเป็นวันที่มีการใช้ BNPL มากที่สุดน่าจะมียอดการใช้จ่ายสูงสุดประมาณ 993 ล้านเหรียญสหรัฐ อนึ่งการซื้อสินค้าผ่าน BNPL ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่นิยมซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถือ จากการสำรวจของบริษัท Adobe พบว่า 39% ของกลุ่มมิลเลนเนียลและ 38% ของกลุ่ม Gen Z วางแผนที่จะใช้บริการ BNPL ในฤดูกาลนี้ ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ BNPL คือ ต้องการการเพิ่มความคล่องตัวในการใช้เงินสดและเพิ่มความสามารถในการซื้อสินค้าที่ไม่สามารถจ่ายได้ในทันที
- เทคโนโลยี AI ช่วยให้การช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลสะดวกมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลล่าสุดในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31 ส.ค. 2567 แสดงให้เห็นว่าการเข้าชมเว็บไซต์ค้าปลีกที่มาจากการแนะนำของ AI เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน และการคลิ๊กลิงค์จากคำแนะนำของ AI เพื่อไปยังเว็บไซต์ค้าปลีกต่างๆ เพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัท Adobe แสดงให้เห็นว่า การใช้เครื่องมือ Generative AI ในการช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลวันหยุดของปีนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เคยใช้ Generative AI พบว่า 7 ใน 10 ใช้เทคโนโลยี AI เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยสร้างและปรับปรุงประสบการณ์ในการซื้อสินค้าให้ดีขึ้น และ 2 ใน 5 ของผู้บริโภคมีแผนจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในช่วงเทศกาลวันหยุดในปีนี้ นอกจากนี้ 20% ของผู้ตอบแบบสอบถามหันมาใช้เทคโนโลยี AI เพื่อค้นหาโปรโมชั่นที่ดีที่สุด ตามด้วย 19% ใช้ AI ในการค้นหาสินค้าเฉพาะได้อย่างรวดเร็วและ 15% ใช้ AI เพื่อเปิดรับคำแนะนำและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและแบรนด์
- สินค้ามาแรงในช่วงเทศกาล
จากการข้อมูลการสำรวจภาคใช้จ่ายออนไลน์ของชาวอเมริกัน พบว่า กลุ่มสินค้าที่น่าจะขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดออนไลน์ในช่วงเทศกาลที่จะมาถึงน่าจะเป็น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 55,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.5% จากปีก่อนหน้าในช่วงเวลาเดียวกัน รองลงมา คือเสื้อผ้า 43,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.8% เฟอร์นิเจอร์/เครื่องนอน 28,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.2% สินค้าประเภทของชำ มูลค่า 20,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% เครื่องสำอาง 10,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.3% ของเล่น 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.8% และอุปกรณ์กีฬา 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะจากสคต. นิวยอร์ก
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจออนไลน์ในสหรัฐฯ ช่วงเทศกาลนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการทดลองเข้ามาเจาะกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ อนึ่ง การเตรียมความพร้อมและการทำความเข้าใจตลาดสหรัฐฯ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจออนไลน์ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ สคต. นิวยอร์ก ขอแนะนำข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการวางแผนการเจาะตลาดออนไลน์ในสหรัฐฯ ดังนี้
- ศึกษาตลาดและความต้องการของผู้บริโภคและกำหนดสินค้าคอลเลกชั่นพิเศษสำหรับช่วงเทศกาลเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ตลอดจนออกแบบแคมเปญที่สอดคล้องกับเทศกาลสหรัฐฯ ตามเทศกาลสำคัญ เช่น Black Friday, Cyber Monday, และคริสต์มาส ตลอดจนจัดโปรโมชั่น สร้างโฆษณาหรือเนื้อหาทางการตลาดที่มีเนื้อหาตรงกับวัฒนธรรมและเทศกาลท้องถิ่นเพื่อดึงดูดลูกค้า
- ควรมีการปรับแต่งเว็บไซต์ สื่อ Social Media และมีภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนควรมีระบบการชำระเงินออนไลน์ที่สามารถรองรับบัตรเครดิตและ PayPal ของลูกค้าต่างประเทศได้
- ควรมีการวางแผนการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศและค่าบริการขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดลูกค้าต่างประเทศ
- ขยายการเข้าถึงผ่านการตลาดออนไลน์ โดยอาศัยแพลตฟอร์มการโฆษณาออนไลน์ในสหรัฐฯ เช่น Google Ads, Facebook Ads, หรือ Instagram Ads เพื่อโปรโมทสินค้า โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสหรัฐฯ หรือร่วมมือกับ Influencers สหรัฐฯ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการโปรโมทสินค้า
- ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม E-commerce ระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า
- เสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ผ่านโยบายคืนสินค้าและการรับประกันที่ชัดเจน เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้การให้บริการตอบข้อสักถามลูกค้าเป็นภาษาอังกฤษและให้ข้อมูลการติดตามการจัดส่งสินค้าจะช่วยทำให้ลูกค้ามั่นใจและมั่นใจที่จะทดลองสั่งสินค้ามากขึ้น
- ใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มความภักดี โดยการมอบส่วนลดหรือของแถมพิเศษสำหรับการซื้อครั้งแรกเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ด้วยข้อเสนอพิเศษ การสร้างโปรแกรมสะสมคะแนนหรือข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อซ้ำเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้ออีก
แหล่งที่มาของข้อมูล: National Jeweler/Businesswire.com และสคต. นิวยอร์ก