กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์เผยผลผลิตข้าวเปลือกฟิลิปปินส์ลดลงในปีนี้

         กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (DA) เผยผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2567 คาดว่า จะลดลงร้อยละ 3.24 เนื่องจากความเสียหายจากพายุไซโคลนเขตร้อน

          นาย Christopher V. Morales ปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว คาดการณ์ปริมาณการสูญเสียดังกล่าวอยู่ที่ปริมาณ 3.58 แสนตัน และเมื่อพิจารณาจากความเสียหายในอดีตรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสนี้ โดยผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ปริมาณ 19.41 ล้านตันในปีนี้ เทียบเท่าข้าวสาร (milled rice) ประมาณ 12.69 ล้านตัน ในปี 2566 ฟิลิปปินส์มีผลผลิตข้าวเปลือกอยู่ที่ปริมาณ 20.06 ล้านตัน ขณะที่การคาดการณ์ใหม่สำหรับปี 2567 ยังปรับลดลงจากประมาณการในเดือนสิงหาคม 2567 ของกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์อยู่ที่ปริมาณ 20.10 ล้านเมตริกตัน หากการคาดการณ์นี้เป็นจริงจะเป็นระดับการผลิตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ปริมาณ 19.29 ล้านตัน

         จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในไตรมาสที่ 3 เหลือที่ปริมาณ 3.35 ล้านตัน เมื่อเทียบกับผลผลิตในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 3.80 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 11.9) โดยกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ให้ความเห็นว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น รวมกับเครื่องจักรทางการเกษตร
และการสนับสนุนอื่น ๆ ผ่านกองทุนส่งเสริมการแข่งขันข้าว (Rice Competitiveness Enhancement Fund) และโครงการข้าวแห่งชาติ (National Rice Program) จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตได้

         นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ (PAGASA) คาดการณ์ว่า มีโอกาสถึงร้อยละ 71 ที่ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นในระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน และมีแนวโน้มจะถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญาทำให้โอกาสเกิดพายุไซโคลนเขตร้อน ความกดอากาศต่ำ และแนวปะทะอากาศเขตร้อนเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้รุนแรงขึ้น ขณะนี้ PAGASA ได้รายงานว่า มีพายุเขตร้อนประมาณ 11 ลูก เข้าสู่เขตฟิลิปปินส์ที่ผ่านมา

          ในขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ระบุว่า ได้มีเป้าหมายสำหรับปริมาณสต็อกข้าวสำรองของประเทศที่ 3.83 ล้านตันภายในสิ้นปี แม้ว่าคาดการณ์ผลผลิตข้าวจะลดลง แต่ยังสามารถรองรับความต้องการได้ประมาณ 100 วัน โดยปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์เสริมว่า การคาดการณ์นี้รวมข้อมูลสต็อกข้าว การนำเข้าข้าวจริงและแนวโน้มในอดีต เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการข้าวในประเทศจะเพียงพอแม้การผลิตจะลดลงก็ตามโดยการคาดการณ์สต็อกข้าวล่าสุดสูงกว่าที่กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ประมาณการณ์ไว้ที่ 3.64 ล้านตันในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งรองรับความต้องการได้ประมาณ 95 วัน

          สำนักงานสถิติแห่งชาติ (PSA) รายงานปริมาณสต็อกข้าวสำรองในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 1.66 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีความเห็นว่า การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าล่าสุดส่งเสริมการนำเข้าที่มากขึ้นทำให้ฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงข้าวในตลาดโลกได้ดีขึ้นและบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนข้าวที่อาจเกิดขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2567 ประธานาธิบดี Ferdinand R. Marcos, Jr. ได้ออกคำสั่ง Executive Order (EO) No. 62 เพื่อปรับปรุงโครงการภาษีใหม่ โดยมีการลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวทั้งในโควตาและนอกโควตาจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15

          ข้อมูลจากสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BAI) ระบุว่ามีการนำเข้าข้าวมีปริมาณทั้งสิ้น 3.57 ล้านตัน ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2567

ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld 

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

         ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีการบริโภคเฉลี่ยมากถึงปีละประมาณ 16 ล้านตัน ทั้งนี้ แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่สามารถผลิตข้าวเพื่อการพึ่งพาตนเองได้ หรือไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการ โดยสามารถผลิตได้เพียงปีละประมาณ 12 ล้านตัน ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวปีละกว่า 3 ล้านตัน ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่สุดในเอเชียเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักพื้นฐานของประเทศที่มีความท้าทายหลายประการในการผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการและการขยายตัวของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุไต้ฝุ่นที่ส่งผลต่อความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรทุกปี รวมทั้ง การขาดแคลนเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรในแรงงานภาคเกษตร และล่าสุดความกังวลต่อผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหามาตรการต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอุปทานและสต็อกข้าวที่เพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ ฟิลิปปินส์จะต้องนำเข้าข้าวมากถึง 4.1 ล้านตัน เพื่อเสริมอุปทานข้าวในประเทศและสำรองข้าวไว้ใช้ในยามขาดแคลน ทั้งนี้ ปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกข้าวศักยภาพของไทย โดยไทยเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าข้าวสำคัญของฟิลิปปินส์รองจากประเทศเวียดนามที่ครองส่วนแบ่งตลาดข้าวนำเข้าในฟิลิปปินส์มากกว่าร้อยละ 80 โดยในปี 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวปริมาณรวม 3.61 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.65 จากปี 2565 ที่มีปริมาณนำเข้า 3.87 ล้านตัน โดยนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 2.97 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 82.23 รองลงมาได้แก่ ไทย ปริมาณ 3.42 แสนตัน (ร้อยละ 9.46) และเมียนมา ปริมาณ 1.56 แสนตัน (ร้อยละ 4.33) ตามลำดับ ทั้งนี้ ข้าวไทยมีข้อได้เปรียบสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานที่เป็นที่เชื่อมั่นใจของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์และสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เนื่องจากราคาข้าวไทยปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่งแต่ยังคงต้องแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามที่มีพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดฟิลิปปินส์จึงจะมีโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ตุลาคม 2567

thThai