ประเทศแอฟริกาใต้นิยมดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น ในแต่ละวันประชากรประมาณ 21.7 ล้านคนดื่มกาแฟ (ประมาณ 19.8 ล้านคน เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการดื่มกาแฟ) โดยที่ 76% ของผู้ที่ดื่มกาแฟ ชื่นชอบกาแฟสำเร็จรูป (24% ชอบเมล็ดกาแฟหรือกาแฟกรอง) ด้วยเหตุนี้ กาแฟจึงเป็นมากกว่าเครื่องดื่มแต่เป็นสิ่งที่ถักทออยู่ใน DNA และวัฒนธรรมของแอฟริกาใต้ไปแล้ว

คุณ Domaine Rautenbach ผู้จัดการอาวุโสของกาแฟแบรนด์ Jacobs (แบรนด์กาแฟที่มีชื่อเสียงในแอฟริกาใต้) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดกาแฟในแอฟริกาใต้ ดังนี้

-อุตสาหกรรมกาแฟในแอฟริกาใต้ยังคงเติบโต เนื่องจากผู้บริโภคชื่นชอบกาแฟคุณภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ การมีโรงคั่วกาแฟในท้องถิ่น และการเข้าถึงกาแฟผสมที่มีความหลากลาย รวมถึงอิทธิพลของกระแสกาแฟจากต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของเทคนิคทำกาแฟ ได้มีส่วนช่วยให้การดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

-พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความต้องการประสบการณ์การดื่มกาแฟที่พิเศษไม่เหมือนใครและชื่นชอบในความยั่งยืน ผู้บริโภคหลายรายแสวงหาการตรวจสอบย้อนกลับได้(ต้องการทราบที่มาของเมล็ดกาแฟ) และต้องการให้ผู้ผลิตกาแฟสนับสนุนการจัดหาอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้              ในส่วนของกาแฟแบรนด์ Jacobs ได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยการนำเสนอกาแฟที่มีคุณภาพสูงและลงทุนกับนวัตกรรม อาทิ Jacobs ร่วมมือกับ Cadbury (แบรนด์ช็อกโกแลตที่มีชื่อเสียง)    นำเสนอกาแฟผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดเพื่อให้คอกาแฟได้ลิ้มรสกาแฟรสชาติใหม่ นอกจากนี้ Jacobs ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดหาที่มีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

– ตลาดกาแฟในแอฟริกาใต้ มีการแข่งขันสูงมาก ทั้งจากผู้ผลิตกาแฟในประเทศและแบรนด์ต่างประเทศ ความท้าทายที่สำคัญคือการนำเสนอความแตกต่างในตลาดที่อิ่มตัว ในขณะที่  ผู้บริโภคมีหลายทางเลือก ทำให้ธุรกิจกาแฟต้องคิดค้นนวัตกรรม ไม่ว่าจะผ่านเทคนิคการ    เบลนด์กาแฟ (Blend Coffee) การริเริ่มด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่สำคัญอย่างมากคือ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนของราคากาแฟในตลาดโลก

-ร้านขายกาแฟอิสระและร้านกาแฟเฟรนไชส์ได้มีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมกาแฟโดยการสนับสนุนนวัตกรรมและการสร้างพื้นที่ชุมชน  ในส่วนของร้านขายกาแฟอิสระบ่อยครั้งได้นำเสนอเทคนิคการสกัดกาแฟ (Coffee Brewing) การเบลนด์กาแฟ และรสชาติใหม่ ในขณะที่ร้านกาแฟเฟรนไชส์ช่วยขยายวัฒนธรรมการดื่มกาแฟไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความสม่ำเสมอและสร้างความเชื่อให้แก่ผู้บริโภค

          -การท่องเที่ยวเกี่ยวกับกาแฟ เช่น การเยี่ยมชมโรงคั่ว การชิมกาแฟ จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้มีส่วนเกี่ยวข้องเชิงลึกกับต้นกำเนิดและดื่มดำในงานฝีมือของทำกาแฟ สิ่งเหล่านี้ช่วยยกระดับความจงรักภักดีในแบรนด์และสนับสนุนผู้ผลิตกาแฟในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

-คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดกาแฟยังคงเติบโต โดยเฉพาะกาแฟลักษณะพิเศษ และ       ผู้บริโภคคาดหวังให้ผู้ผลิตกาแฟมีความโปร่งใสและมีจริยธรรมในการจัดหา ตลอดจนให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล การดำเนินงานที่ประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กาแฟแบบสกัดเองที่บ้าน จะมีแนวโน้มขยายตัว  ในขณะเดียวกันที่ เทคโนโลยีการสกัดกาแฟอัจฉริยะ การสั่งซื้อกาแฟผ่านโทรศัพท์มือถือจะมีบทบาทที่เด่นชัดมากขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ: แม้ว่าประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ใช่ประเทศแรกที่ใครๆ  นึกถึงเมื่อเอ่ยถึงกาแฟ แต่การดื่มกาแฟที่แอฟริกาใต้มีมานานแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จากอิทธิพลของยุโรป (อาทิ ดัชต์) ที่เข้ามายังตอนใต้ของแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ เนื่องจากความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ แอฟริกาใต้จึงกลายเป็นศูนย์กลางในการนำเข้ากาแฟและบริโภคกาแฟ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีพื้นที่ปลูกกาแฟในแอฟริกาใต้ (โรบัสต้า และอาราบิก้า) เช่น จังหวัดมปูมาลังกา (Mpumalanga) ลิมโปโป (Limpopo) ควาซูลู-นาตาล (KwaZulu-Natal) นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟ แอฟริกาใต้ได้จัดงานเทศกาลกาแฟ ซึ่งเทศกาลฯที่มีชื่อเสียง อาทิ Cape Town Coffee Festival, Johannesburg Coffee & Chocolate Festival, The Specialty Expo (ที่เมืองเคปทาวน์และโจฮันเนสเบิร์ก) สำหรับกาแฟสำเร็จรูปแบรนด์ยอดนิยมในแอฟริกาใต้ อาทิ Nescafé, Jacobs, Ricoffy, Douwe Egberts

ข้อมูลจาก S&P Global (ประมวลจาก South African Revenue Service ) ระบุว่า เดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 แอฟริกาใต้ นำเข้ากาแฟ (HS code 0901 :Coffee, Whether Or Not Roasted Or Decaffeinated; Coffee Husks And Skins; Coffee Substitutes Containing Coffee) มูลค่า 80.255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.33 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) ทั้งนี้ นำเข้าจากบราซิลมากที่สุด (ร้อยละ 44.90 ของมูลค่าการนำเข้ากาแฟทั้งหมด) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 302.65 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับกับปีก่อน รองลงมาคือ สวิสเซอร์แลนด์ (ร้อยละ 7.87) เอธิโอเปีย (ร้อยละ 5.78) อิตาลี (ร้อยละ 4.98) แทนซาเนีย (4.23) โคลัมเบีย (3.83) ตามลำดับ อนึ่ง นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 57 มูลค่า 333 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กาแฟไทยยังเป็นที่นิยมค่อนข้างน้อยในประเทศแอฟริกาใต้

เครดิตภาพ www.wisemove.co.za

ที่มาข่าว : www.bizcommunity.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย

พฤศจิกายน 2567

thThai