เนื้อหาสาระข่าว: หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ หรือ U.S. Virgin Islands คือหนึ่งในดินแดนภายใต้การปกครองของสหรัฐฯในทะเลแคริบเบียน มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับเครือรัฐเปอร์โตริโก (Puerto Rico) โดยหมู่เกาะดังกล่าวประกอบด้วยพื้นที่ 3 เกาะใหญ่ ได้แก่ เกาะ St. John, เกาะ St. Thomas และเกาะ St. Croix (เกาะขนาดใหญ่ที่สุด) โดยมีเมืองหลวงคือ Charlotte Amarlie ตั้งอยู่บนเกาะ St. Thomas โดยหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับด้านการค้าและธุรกิจหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯก็อาจนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ เนื่องจากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ซึ่งอยู่กึ่งกลางของทะเลแคริบเบียน และมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ – แคริบเบียนกว่าร้อยละ 50 ล้วนจะต้องผ่านหมู่เกาะเวอร์จินแห่งนี้
ด้วยความสำคัญและศักยภาพในด้ายการค้าและเศรษฐกิจในภูมิภาคแคริบเบียนของที่หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯมี ทำให้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการจัดตั้ง “Connect Caribe Hub” ขึ้นบนเกาะ St. Croix ของหมู่เกาะเวอร์จินสหรัฐฯ ร่วมกับบริษัท Pleion Group Inc. และบริษัทในเครือ Connect Caribe โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาเกาะ St. Croix ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งอีกแห่งหนึ่งในทะเลแคริบเบียนเพื่อประโยชน์ด้านการขนส่ง ความเชื่อมโยง และการค้าในภูมิภาค
บริษัท Connect Caribe เป็นบริษัทผู้ประกอบกิจการให้บริการการขนส่งทางทะเลเชิงพาณิชย์ (Maritime Commerce) ระหว่างหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริเบียน ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัทท้องถิ่นซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบโลจิสติกส์ ระบบเทคโนโลยี การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศบาร์เบโดส (Barbados) ในปัจจุบัน Connect Caribe มีศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคในเครือข่าย 2 แห่ง อยู่ที่ประเทศบาร์เบโดส และประเทศตรินิแดดและโตเบโก (Trinidad and Tobago) โดยการลงนาม MOU กับรัฐบาลหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯในครั้งนี้ จะทำให้นำไปสู่การพัฒนาให้เกาะ St. Croix กลายเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าในภูมิภาคแห่งที่ 3 ในเครือข่ายของ Connect Caribe
ผลประโยชน์ที่จะเกิดจากการร่วมมือพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางทะเลครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยทำให้ระบบและเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างสหรัฐฯ – แคริบเบียน ตลอดจนภายในระหว่างหมู่เกาะแคริบเบียนด้วยกันมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ช่วยทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่ง และปรับปรุงเงื่อนไขด้านต้นทุนทางการขนส่งสินค้าภายในภูมิภาค นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างสหรัฐฯ – แคริบเบียนให้เชื่อมโยงทางตรงสู่กันมากขึ้น และจะช่วยยกระดับให้หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯได้ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่สำคัญด้านการค้าและการขนส่งในอนาคตภายในแคริบเบียน
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องการโครงการการพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลครั้งนี้ยังได้มีการคาดการณ์แผนการดำเนินงานระยะยาวและตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปีหน้าเครือข่ายการขนส่งทางทะเลระหว่างแคริบเบียน (Trans-Caribbean Maritime Network) น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งในภาพที่ใหญ่กว่าของแผนเครือข่ายนี้ จะมีการพัฒนาให้มีศักยภาพรองรับการขนส่งทางทะเลที่ครอบคลุมประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน หรือ CARICOM (Caribbean Community and Common Market) รวมถึงการขนส่งที่มาจากภูมิภาคอเมริกาใต้ผ่านมายังแคริบเบียนอีกด้วย ซึ่งเกาะ St. Croix ของหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและความเชื่อมโยงดังกล่าว
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น: ความเชื่อมโยงและการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้า เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและยังคงมีความท้าทายอยู่บ้างในปัจจุบันสำหรับการค้าระหว่างประเทศไทย – แคริบเบียน โดยมีความท้าทายหลักอยู่ที่ต้นทุนและระยะทางในการขนส่งสินค้า ซึ่งในปัจจุบันการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแคริบเบียนส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาการกระจายสินค้าจากท่าเรือต่าง ๆ ในพื้นที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือเมืองไมอามีซึ่งถือเป็นท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับการขนส่งสินค้าไปยัง และ ระหว่างประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน เนื่องจากความพร้อมของสถานที่ ระบบปฏิบัติการ และศักยภาพที่เหนือกว่า ทำให้การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาในการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพสูงกว่า และดูเหมือนว่าจะยังคงเป็นรูปแบบนี้ไปอีกช่วงระยะเวลาพอสมควร
อย่างไรก็ตาม จากรายงานข่าวประจำสัปดาห์โดยสคต.ไมอามีที่เคยได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับระบบการขนส่งภายในภูมิภาคแคริบเบียนไปบ้างแล้วนั้น ทำให้เห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามของหลายแห่งในแคริบเบียนที่ต้องการจะผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นประเทศจาเมกา (Jamaica), ตรินิแดดและโตเบโก และตอนนี้ก็มาถึงความพยายามผลักดันหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นล้วนแต่อยู่ในระยะริเริ่มซึ่งยังต้องอาศัยระยะเวลา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความริเริ่มพัฒนาที่น่าจับตามอง เนื่องจากจุดต่าง ๆ ที่กำลังเกิดการพัฒนาระบบขนส่งนั้นล้วนอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสม มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคแคริบเบียนต่อไปทั้งสิ้น ซึ่งนั้นหมายถึงตัวเลือกและทางเลือกของเส้นทางและระบบการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน
การติดตามการพัฒนาด้านระบบขนส่งและความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคแคริบเบียนจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจที่จะขยายตลาดมายังภูมิภาคแคริบเบียน เนื่องจากจะเป็นการช่วยทำให้รับทราบถึงความเป็นไปและศักยภาพของระบบการขนส่งสินค้าในแคริบเบียน ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำการค้ากับประเทศในแคริบเบียน ทำให้สามารถวางแผนเกี่ยวกับแผนการขนส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทาง ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจด้านการลงทุนเพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพก็ได้เช่นกัน
ที่มาของภาพ : U.S. Virgin Islands Economic Development Authority
ที่มา: St. Vincent Times
เรื่อง: “St. Croix to Become a Key Transportation Hub in New Regional Ferry”
สคต. ไมอามี /วันที่ 31 ตุลาคม 2567