หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานข่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ว่า รัฐบาลบังกลาเทศได้ตัดสินใจที่จะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและจะยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในตลาดหลังจากประสบภาวะน้ำท่วมนาข้าวในหลายพื้นที่และผลผลิตเสียหาย ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดท้องถิ่นสูงขึ้น
กรมสรรพากรของบังกลาเทศได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ว่าจะยกเว้นภาษีการนำเข้าข้าวทั้งหมด โดยจะออกประกาศคำสั่งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าข้าวจากร้อยละ 62.5 เป็นร้อยละ 25 นอกจากนี้จะมีการลดภาษีเงินได้ล่วงหน้าสำหรับการนำเข้าข้าวลงอีก ซึ่งมาตรการลดภาษีนี้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการการค้าและภาษีบังกลาเทศ (Bangladesh Trade and Tariff Commission (BTTC))
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศ. มูฮัมมัด ยูนุส ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงอาหารเร่งดำเนินประเมินข้อมูลการผลิตและราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยกระทรวงอาหารระบุว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาความขาดแคลนในประเทศ รวมถึงการซื้อข้าวจากรัฐบาลต่างประเทศแบบรัฐบาลต่อรัฐ (G2G) และการจัดซื้อโดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ยื่นข้อเสนอขายข้าวตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น ราคา คุณภาพ การส่งมอบ เป็นต้น
บังกลาเทศมีบันทึกความเข้าใจกับเวียดนามและเมียนมาในการนำเข้าข้าวซึ่งมีผลจนถึงปี 2570 นอกจากนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการจัดซื้อภาครัฐได้ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อข้าวผ่านการจัดซื้อแบบเปิด (Open Tender) โดยจะลดระยะเวลาการดำเนินการจาก 42 วัน เหลือเพียง 15 วัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอาหารแจ้งว่า ในเบื้องต้นรัฐบาลวางแผนที่จะนำเข้าข้าวจำนวน 500,000 ตันเพื่อเสริมสต็อกปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 968,000 ตัน อย่างไรก็ตาม BTTC ประเมินว่าการผลิตข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ทำให้สูญเสียการผลิตประมาณ 839,000 ตัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าข้าวชดเชยเท่ากับหรือใกล้เคียงกับปริมาณที่เสียหาย รวมทั้งเพื่อควบคุมราคาข้าวในตลาด ที่กระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งต้องอาศัยการแจกจ่ายข้าวจากรัฐบาล จึงต้องการสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น BTTC คาดว่าการลดภาษีนำเข้าข้าวจะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนนำเข้าข้าวมากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตข้าวในประเทศ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณประมาณ 3,000 ล้านตากา สำหรับการนำเข้า 350,000 ตันในปีงบประมาณนี้ และจะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 6,000 ล้านตากาในการนำเข้าข้าวอีก 750,000 ตัน
ทั้งนี้ บังกลาเทศจะมีการประกาศลดหย่อนภาษีนำเข้าข้าวเป็นช่วงๆ ตามสถานการณ์ในประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวนึ่งและข้าวขาวของไทย พิจารณาการส่งออกข้าวไปบังกลาเทศ ใน 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องทางการซื้อขายตามปกติกับเอกชนบังกลาเทศที่ต้องการนำเข้าข้าว และ (2) จากการเปิดประมูลจัดซื้อข้าวจากนานาชาติของรัฐบาลบังกลาเทศที่ประกาศออกมาเป็นครั้งคราว ซึ่งใน 2 ช่องทางนี้ ผู้ส่งออกจำเป็นต้องมีคู่ค้าในบังกลาเทศเพื่อดำเนินการด้านเอกสารและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ส่งออกที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา ที่อีเมล thaitcdhaka@gmail.com
ที่มาข่าว/ภาพ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ท้องถิ่น https://www.thedailystar.net/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา
พฤศจิกายน 2567