บริษัท RongViet Securities Corporation (VDSC) ได้กล่าวถึงแนวโน้มตลาดเนื้อสัตว์แช่เย็นของเวียดนามว่า มูลค่าตลาดเนื้อสัตว์ของเวียดนาม ในช่วงปี 2561 – 2566 มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ขับเคลื่อนโดยเนื้อวัว เนื้อแพะ และเนื้อไก่เป็นหลัก เนื่องจากการตระหนักถึงเรื่องสุขภาพ และกระแสการออกกำลังกายและจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับช่วงปี 2567 – 2571 บริษัท VDSC เชื่อว่าตลาดเนื้อวัวและเนื้อแพะจะยังมีบทบาทสำคัญเมื่อมีการบริโภคต่อหัวไม่สูงนัก ประกอบกับการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินเนื้อสัตว์ทั้ง 2 ประเภทนี้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์ปีกก็ได้เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวในด้านการบริโภคต่อหัวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมการประกอบอาหารที่คล้ายคลึงกัน เช่น จีน ไทย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา

ทั้งนี้ ในรายงานของบริษัท VDSC ซึ่งได้อ้างอิงผลการวิจัยของบริษัท Euromonitor ว่า ในช่วงปี 2567 – 2571 การเติบโตของตลาดเนื้อสัตว์จะชะลอตัวลง โดยมี CAGR อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เนื่องจากการเติบโตของการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทใหม่ เช่น เนื้อวัวและเนื้อแพะไม่เพียงพอที่จะชดเชยการอิ่มตัวของการบริโภคเนื้อหมูและเนื้อสัตว์ปีก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บริโภคหลักในเวียดนาม อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าศักยภาพการเติบโตของตลาดจะต่ำตามผลการวิจัยของบริษัท Euromonitor แต่บริษัท VDSC ยังคงเห็นว่ามีการลงทุนใหม่และเพิ่มการลงทุนในตลาดเนื้อสัตว์จากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Vissan (VSN), MeatDeli (Masan MEATLife, MML), Hoang Anh Gia Lai (HAG), Hoa Phat, CP และ Vilico  เนื่องจากรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนจากการบริโภคจากเนื้อสัตว์แบบสดเป็นเนื้อสัตว์แช่เย็น เพราะเนื้อสัตว์แบบสดส่วนใหญ่จะขายในตลาดซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา ในขณะที่เนื้อสัตว์แช่เย็นจะถูกบรรจุและผลิตโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงและวางขายในเครือซุปเปอร์มาร์เก็ต

การเติบโตของช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่เมื่อเทียบกับตลาดแบบดั้งเดิม จะส่งเสริมการขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แช่เย็น นอกจากนี้ ความตระหนักของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเนื้อสัตว์แช่เย็นมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า และมีแหล่งที่มาที่ชัดเจนกว่าเนื้อสัตว์แบบสด

อย่างไรก็ตาม บริษัท VDSC พบว่าตลาดเนื้อสัตว์แช่เย็นยังคงเผชิญกับอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด ได้แก่ ด้านพฤติกรรมการซื้อเนื้อสัตว์แบบสดจากตลาดแบบดั้งเดิม ผู้บริโภคจำนวนมาก (โดยเฉพาะกลุ่ม Gen X) ยังคงมีพฤติกรรมการซื้อเนื้อสัตว์แบบสด ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ถูกถนอมด้วยเครื่องทำความเย็น และมีขายทั่วไปตามแผงขายของในตลาด และด้านราคาสินค้า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เนื้อแช่เย็นในเวียดนาม ต้องรักษาโครงสร้างต้นทุนที่ยุ่งยากเกี่ยวกับ การดำเนินการโรงงานผลิต การนำเข้าอาหารสัตว์ และต้นทุนการเพาะพันธุ์เข้าสู่ระบบจัดเก็บ การบรรจุหีบห่อ และการลดราคาที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ดังนั้นเพื่อให้ได้กำไรจึงต้องขายสินค้าในราคาที่มักจะสูงกว่าราคาในท้องตลาด นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเนื้อสัตว์แช่เย็น ในขณะที่มีสัดส่วนในส่วนแบ่งตลาดไม่มากพอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยประสบภาวะรายได้ต่ำและกำไรน้อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นักลงทุนยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนแบ่งการตลาดของระบบซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แช่เย็น เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต Co.op Mart (Vissan), ร้านค้าปลีก Bach Hoa Xanh, ซุปเปอร์มาร์เก็ต Go!, ร้านค้าปลีก Lan Chi (CP, G) และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Winmart (MML)
เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้แบรนด์ของเนื้อสัตว์แช่เย็นที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งจะเป็นแบรนด์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือของซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น นอกจากนี้ รายงานของบริษัท VDSC ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ธุรกิจที่ขายเฉพาะเนื้อสัตว์แช่เย็น เช่น MML หรือ VSN มักจะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าธุรกิจที่ขายส่งเนื้อหมู เช่น BAF และ DBC เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนของเนื้อสัตว์แช่เย็นบรรจุหีบห่อในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นสูงกว่าการจำหน่ายให้กับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ต้นทุนพนักงานและการสนับสนุนการขาย

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ปัจจุบันผู้บริโภคเวียดนามมีความนิยมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่เย็นมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เนื่องจากไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ที่มีความตระหนักถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ความนิยมนี้ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแช่เย็น/แช่แข็งในเวียดนาม ผู้ประกอบการจำนวนมากต่างมุ่งเน้นไปที่การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่เย็นคุณภาพสูง เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นำเข้าและหรือจากซัพพลายเออร์ที่มีชื่อเสียงในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเลือกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากคุณภาพและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ จากสถิติของ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2566 เวียดนามนำเข้าเนื้อสัตว์และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้(พิกัดศุลกากร 02) มูลค่า 1,727.93 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์จำพวกโค กระบือ แช่แข็ง (พิกัดศุลกากร 0202) มูลค่า 717.19 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ เนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์ปีกเลี้ยง (ไก่ เป็ด ห่าน และไก่งวง) สด แช่เย็น หรือแช่แข็ง (พิกัดศุลกากร 0207) มูลค่า 340.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์จำพวกโค กระบือ สุกร แกะ แพะ ม้า ลาหรือ ล่อ สด แช่เย็น หรือแช่แข็ง (พิกัดศุลกากร 0206) มูลค่า 335.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และเนื้อสุกร สด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (พิกัดศุลกากร 0203) มูลค่า 277.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และบราซิล ทั้งนี้ เวียดนามใช้จ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐในการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ดังนั้นการควบคุมแหล่งวัตถุดิบ และรับรองสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารของผลิตภัณฑ์นำเข้าจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

  1. นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ในด้านการบริโภคเนื้อหมู ในบรรดา 10 ประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีอัตราส่วนการบริโภคเนื้อหมูอยู่ที่ร้อยละ 105.4 การผลิตเนื้อหมูในประเทศตอบสนองความต้องการการบริโภคเนื้อหมูได้เพียงร้อยละ 95 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามคาดว่า ในปี 2568 การบริโภคเนื้อหมูจะลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าเนื้อหมูยังเป็นเนื้อสัตว์หลักที่บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เปลี่ยนมาใช้แหล่งโปรตีนจากสัตว์อื่น ๆ มากขึ้น เช่น เนื้อวัว สัตว์ปีก และอาหารทะเล โดยการส่งออกสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์แช่เย็นและแช่แข็งไปยังเวียดนามจะต้องได้รับใบอนุญาตของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนามก่อนการนำเข้า

ปัจจุบัน ไทยสามารถส่งออกไปยังเวียดนามได้เฉพาะสัตว์มีชีวิต ได้แก่ โค และกระบือ และอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง เท่านั้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องผ่านการขึ้นทะเบียนโรงงานกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2501 3473-5 ต่อ 105 ฝ่ายระหว่างประเทศ กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

thThai