ตามสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมคิดเป็นมูลค่ารวมเกือบ 3,150 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่าการนำเข้าถึง 374 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2567ด้วยอัตราการนำเข้าในปัจจุบัน คาดว่ามูลค่ารวมทั้งปี 2567 จะสูงเกิน 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย โดยมียอดนำเข้าจากแหล่งดังกล่าวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของเวียดนามมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการยาแห่งเวียดนาม (Drug Administration of Vietnam) ระบุว่า ในปี 2558 ตลาดผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมมีมูลค่า 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีมูลค่า 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2565 มีมูลค่า 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2566 มีมูลค่าสูงกว่า 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ การเติบโตอย่างยั่งยืนในภาคส่วนนี้ได้รับแรงผลักดันจากการใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้นด้านสุขภาพ เนื่องจากรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ตลาดผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมในประเทศสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

จากข้อมูลของกรมประชากรทั่วไป ในปี 2579 เวียดนามจะเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประชากรจะสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของเวียดนาม เนื่องจากผู้สูงอายุมีความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมสูงกว่าคนวัยทำงาน และศักยภาพของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของเวียดนามยังมาจากการใช้จ่ายด้านเภสัชกรรมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นและความตระหนักรู้ด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัท Statista ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2569 รายได้ของประชาชนจะเพิ่มขึ้น และมีชนชั้นกลางจะคิดเป็นร้อยละ 26 ของประชากรเวียดนาม นอกจากนี้ บริษัท Fitch Solutions ได้คาดการณ์ว่าในปี 2569 การใช้จ่ายด้านเภสัชกรรมโดยเฉลี่ยต่อหัวของเวียดนามจะสูงถึง 2.12 ล้านเวียดนามด่ง (ประมาณ 83.4 เหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม อาทิ ยา ยาชีววัตถุ และยาแผนโบราณ ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษสำหรับการลงทุนและได้รับการสนับสนุนในระดับสูงสุดจากรัฐบาลเวียดนาม โดยรัฐบาลได้ผ่านการแก้ไขกฎหมายด้านเภสัชกรรม เช่น การเพิ่มปริมาณยาที่เพียงพอและทันเวลา การปรับปรุงการนำเข้าและส่งออกยาและส่วนผสมของยา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถจำหน่ายยาในเชิงรุก และสร้างเงื่อนไขทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยเพื่อรองรับการบูรณาการระหว่างประเทศ

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

แม้จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของเวียดนามสามารถตอบสนองความต้องการในประเทศได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น เวียดนามยังคงพึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการผลิตเฉพาะยารักษาโรคที่พบบ่อย เรื้อรัง และมีมูลค่าต่ำเท่านั้น (เนื่องจากมีสายการผลิตที่จำกัดและต่ำกว่ามาตรฐาน) จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออก หรือต้องการขยายตลาดมายังเวียดนาม อย่างไรก็ดี ควรศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและอาหารเสริมของเวียดนามอย่างละเอียดก่อนเข้าสู่ตลาด

thThai