ฟาร์มสิงคโปร์ผลักดันความร่วมมือฟาร์มต่างชาติ เร่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร

ในปี 2566 สิงคโปร์ผลิตผักใบเขียวและอาหารทะเลคิดเป็น 3.2 % และประมาณ 7.3% ของการบริโภคทั้งหมด ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2564 การผลิตผักยังคงอยู่ต่ำกว่า 5% ของการบริโภคทั้งหมด ขณะที่การผลิตอาหารทะเลอยู่ที่ประมาณ 7-8% ซึ่งยังคงห่างจากเป้าหมายของรัฐบาลสิงคโปร์ภายใต้นโยบาย 30×30[1] เป็นอย่างมาก และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้ฟาร์มสิงคโปร์ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับฟาร์มต่างประเทศ เพื่อนำความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มผลผลิต

นาย Webster Tham ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีการ เกษตรสิงคโปร์ Tomato Town ได้ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญการผลิตอาหารและน้ำผักจากมะเขือเทศ เพื่อพัฒนาวิธีการเก็บเกี่ยวผลมะเขือเทศเชอร์รี่ญี่ปุ่นและมะเขือเทศ Heirloom การปลูกมะเขือเทศเหล่านี้ให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของสิงคโปร์ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางการเกษตรจากญี่ปุ่น รวมถึงการใช้เมล็ดพันธุ์พิเศษที่สามารถทนต่อความร้อนได้ เนื่องจากมะเขือเทศกลุ่มนี้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมและหาซื้อได้ยากในตลาด โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากยุโรปหรือออสเตรเลีย ในปัจจุบัน บริษัทสามารถปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ได้เพียงตามฤดูกาล เพื่อจัดส่งให้กับร้านอาหารอิตาลีในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม หากต้องการขยายการจำหน่ายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัทจำเป็นต้องจัดส่งมะเขือเทศในปริมาณที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี การปลูกในประเทศตลอดปีจะช่วยลดราคามะเขือเทศพรีเมียมลงได้ (ปัจจุบันมะเขือเทศเชอร์รี่ 200 กรัม จำหน่ายที่ 7.98 เหรียญสิงคโปร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต Little Farms)

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท Future Food Foundry ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ควบรวมกิจการฟาร์มสิงคโปร์ Sustenir และ NextGen Farms เพื่อสร้างระบบนิเวศ Superfood ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ นาย Leo Musatov ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการกล่าวว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาระบบเกษตรแบบควบคุมสิ่งแวดล้อม(Controlled Environment Agriculture : CEA)[1] เพื่อสร้างผลผลิตที่เพียงพอต่อการดูแลประชากร เนื่องจากทั้งสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผชิญกับความท้าทายคล้ายคลึงกันในด้านความมั่นคงทางอาหาร ทั้งสองประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดและพึ่งพาการนำเข้าอาหาร ดังนั้น ความเชี่ยวชาญของ Future Food Foundry จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางอาหารผ่านนวัตกรรมที่พัฒนาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยบริษัทมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา(R&D) การผลิต และทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลในสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Dr.Bao Shengjie ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Singrow ซึ่งเป็นบริษัทด้านเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)[1] ในสิงคโปร์ได้ร่วมมือกับฟาร์มเห็ดจีน Finc Bio-Tech เพื่อเริ่มปลูกเห็ดกระดุมสีขาวในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 โดยฟาร์มแห่งนี้จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเพาะปลูก เนื่องจากเห็ดกระดุมสีขาวมีอายุการเก็บรักษสั้นมาก (น้อยกว่าสามวัน) และมักมีราคาสูงพร้อมกับคุณภาพที่ต่ำเมื่อถูกนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์และมาเลเซียมายังสิงคโปร์ การผลิตเห็ดในประเทศจึงเป็นโอกาสที่ดีในการทำให้ราคาสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งนี้ ฟาร์มคาดว่าจะสามารถผลิตเห็ดกระดุมสีขาวได้ประมาณ 2,500 ตันต่อปี หรือประมาณ 40% ของความต้องการภายในประเทศ

ฟาร์มสิงคโปร์ผลักดันความร่วมมือฟาร์มต่างชาติ เร่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร

ในทางตรงกันข้าม การผลิตอาหารทะเลในสิงคโปร์กำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการจนทำให้ฟาร์มหลายแห่งต้องปิดตัวลง ข้อมูลจาก สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency: SFA) ระบุว่า ในเดือนตุลาคม 2567 มีฟาร์มปลาทะเลเหลือเพียง 74 แห่ง ลดลงจาก 98 แห่งในปี 2566 และจากรายงานสถิติอาหารสิงคโปร์ประจำปี 2566 จำนวนฟาร์มปลาทะเลอยู่ที่ 110 แห่ง ระหว่างปี 2563 – 2565 นอกจากนี้  ผู้ประกอบการฟาร์มปลาบางรายยังได้รับเงินสนับสนุนจาก SFA เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินในการยุติการดำเนินงาน

     ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

     ฟาร์มในสิงคโปร์เผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนจากแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟที่สูงขึ้น[1] และความต้องการในท้องถิ่นที่ลดลง เมื่อเทียบกับราคาผลผลิตนำเข้าที่ถูกกว่า ด้วยข้อจำกัดของประเทศที่มีพื้นที่จำกัดและต้นทุนการดำเนินการสูง สิงคโปร์จึงต้องค้นหารูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับข้อจำกัดเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกับฟาร์มต่างประเทศเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีเกษตรขั้นสูง

ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีการเกษตร ไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสิงคโปร์ได้ โดยหน่วยงานวิจัยของไทยสามารถร่วมมือกับสิงคโปร์ในการวิจัยด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารอยู่เป็นอันมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรอย่าง ผัก ผลไม้ ไข่ไก่ รวมถึงอาหารทะเล มายังสิงคโปร์

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :

https://www.straitstimes.com/singapore/local-farms-push-ahead-with-international-collaborations-to-further-s-pore-s-30-by-30-plan

https://www.straitstimes.com/singapore/can-singapore-be-fertile-ground-for-farming

https://www.straitstimes.com/singapore/is-singapore-s-30-by-30-food-security-goal-still-achievable-only-if-we-have-a-model-that-works

https://www.straitstimes.com/singapore/a-quarter-of-fish-farms-shut-down-in-past-year-some-of-whom-took-up-100000-sfa-support-package

 

[1] อัตราค่าไฟในเดือนเมษายน – มิถุนายน 2567 อยู่ที่ 29.79 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงก่อนภาษีสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นจาก 22.79 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในช่วงเดียวกันของปี 2562

[1] การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ทำให้ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ

[1] การปลูกพืชผลโดยควบคุมสิ่งแวดล้อมบางส่วนเพื่อลดแมลงหรือโรคพืชผ่านระบบอัตโนมัติ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเพิ่มผลผลิต หรือช่วยประหยัดต้นทุน

[1] หนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีเป้าหมายที่จะการผลิตอาหาร (ผัก ไข่ไก่ และอาหารทะเล) ในประเทศให้ได้ 30% ของความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ภายในปีพ.ศ. 2573 หรือปีค.ศ. 2030

thThai