เมื่อเร็วๆนี้ ซิมบับเว ได้ประกาศพิมพ์เขียวการเติบโตและฟื้นฟูอุตสาหกรรม (ตุลาคม 2567 – ธันวาคม 2568) โดยได้จัดลำดับความสำคัญของสินค้า 7 กลุ่ม ที่จะทดแทนการนำเข้า ได้แก่ (1) ยางล้อรถ (2) รถยนต์ (3) ปุ๋ย (4) ยารักษาโรค (5) เหล็กและเหล็กกล้า (6) ซีเมนต์ และ (7) น้ำมันที่รับประทานได้ เนื่องจากซิมบับเวได้ใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการชำระค่าสินค้ากลุ่มนี้
อุตสาหกรรมปุ๋ย:แต่ละปีมีความต้องการ 780,000 ตัน แต่ผลิตได้ในประเทศประมาณร้อยละ 30 ที่เหลือจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งแต่ละปีนำเข้าปุ๋ยมูลค่า 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปุ๋ย ในประเทศ รัฐบาลได้วางแผนการต่างๆรองรับ อาทิ ความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่ผู้ผลิตปุ๋ย การสนับสนุนการลงทุนในโรงงานผลิตปุ๋ยแห่งใหม่ การแทรกแซงนี้จะช่วยให้เพิ่มผลผลิตปุ๋ยในประเทศจากเดิมร้อยละ 30 (ของปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ) เป็นร้อยละ 45 ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า
อุตสาหกรรมยารักษาโรค: ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ซิมบับเวนำเข้าเวชภัณฑ์เฉลี่ย 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลดการนำเข้ารัฐบาลมีแผนจะเพิ่มการจัดซื้อยาในประเทศ ลดเวลาการขึ้นทะเบียนยา และสนับสนุนการจัดหาเงินทุน เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและการวิจัย
อุตสาหกรรมเหล็ก:รัฐบาลมีแผนส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบริษัท เหล็กและเหล็กกล้า ดินสัน จำกัด (Dinson Iron and Steel :DISCO) ให้แก่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ เพิ่มประโยชน์สูงสุดให้แก่อุตสาหกรรม
สำหรับการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ยางล้อรถ รถยนต์ น้ำมันที่รับประทาน ซีเมนต์ รัฐบาลมีการวางแผนต่างๆเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบ ให้แรงจูงใจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
การส่งเสริมการผลิตสินค้า 7 รายการในประเทศ จะช่วยให้ซิมบับเวลดการพึ่งพาการนำเข้า สร้างงานในประเทศ ลดความยากจน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากการพยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรมในประเทศที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น โรงงานที่ว่างเปล่า โครงสร้างพื้นฐานรางรถไฟที่ล้าสมัย
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลซิมบับเว ยังได้ร่วมกับภาคเอกชน รณรงค์เคมเปญ “ซื้อสินค้าซิมบับเว” (Buy Zimbabwe) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการจัดหาสินค้าในประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ: ซิมบับเวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล จึงนำเข้าสินค้าผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลจาก S&P Global (ประมวลจาก UN comtrade) ระบุว่า ปี 2566 ซิมบับเว นำเข้าสินค้ามูลค่า 9,201.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับปีก่อน) โดยนำเข้าจากแอฟริกาใต้มากที่สุด (ร้อยละ 38 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) รองลงมาคือ จีน (ร้อยละ 14) บาฮามาส (5.10) สิงคโปร์ (ร้อยละ 5.0) บาร์เรนห์ (ร้อยละ 3.55) ตามลำดับ ทั้งนี้ นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 18 มูลค่า 55.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.10 เมื่อเทียบกับปีก่อน)
ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ประมวลจากกรมศุลกากร) ระบุว่าเดือนมกราคม – กันยายน 2567 ไทยส่งออกไปซิมบับเว มูลค่า 44.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.29 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน) โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุด 5 อับดับแรก ได้แก่ (1) ข้าว (ร้อยละ 52.74 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปซิมบับเว) (2) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 29.54) (3) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 8.44) (4) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 4.06) (5) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป(ร้อยละ 1.05)
การที่ซิมบับเวได้ประกาศใช้พิมพ์เขียวการเติบโตและฟื้นฟูอุตสาหกรรมในประเทศ (ตุลาคม 2567 – ธันวาคม 2568) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผลิตสินค้า 7 รายการในประเทศ ได้แก่ (1) ยางล้อรถ (2)รถยนต์ (3)ปุ๋ย (4)ยารักษาโรค (5)เหล็กและเหล็กกล้า (6)ซีเมนต์ และ(7)น้ำมันที่รับประทานได้ เพื่อช่วยให้ซิมบับเว ลดการพึ่งพาการนำเข้า หากพิมพ์เขียวดังกล่าวสามารถเกิดผลเป็นรูปธรรม อาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวไปซิมบับเว โดยเฉพาะสินค้ายางล้อรถ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังซิมบับเวมูลค่ามากเป็นอันดับต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังซิมบับเวอาจจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
เครดิตภาพ www.businessdaily.co.zw
ที่มาข่าว www.thezimbabwemail.com
ประมวลโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
พฤศจิกายน 2567