ในโอกาสที่สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยเยือนอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2567

มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. การประชุมหารือระหว่างสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย (THAI TAPIOCA STARCH ASSOCIATION : TTSA) และสมาคมผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Pulp and Paper Association/ Asosiasi Pelatih Kebugaran Indonesia : APKI)เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าโดยสรุป ดังนี้

ไทยมีผลผลิตแป้งมันสำปะหลังปีละ 22-30 ล้านตัน โดยส่งออกไปทั่วโลกปีละ 3.5-4.5 ล้านตัน โดยส่งมาอินโดนีเซีย 0.3-0.5 ล้านตันต่อปี

อินโดนีเซียมีแป้งมันสำปะหลังปีละ 16 ล้านตัน ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศหากผลผลิตไม่เพียงพอจะมีการนำเข้าจากไทย (ร้อยละ 80 ของปริมาณการนำเข้า) ด้วยอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่สำคัญอันดับ 6 ของโลกทำให้มีการใช้แป้งมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมกระดาษถึงร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ

โดยโรงงานผลิตกระดาษอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้ราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง
ที่ประกาศโดยสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ในการพิจารณาการสั่งซื้อแป้งมันสำปะหลังทั้งจากภายในประเทศและการนำเข้า

  1. การเดินทางสำรวจพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ณ เมืองลัมปุง (Lampung)

สคต.ณ กรุงจาการ์ตา เดินทางร่วมกับ TTSA เพื่อเยี่ยมชมโรงงาน และแปลงเพาะปลูกในเมืองลัมปุงซึ่งมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในอินโดนีเซียหรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของผลผลิตทั้งประเทศ โดยผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นสำคัญและนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเมื่อผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศมีไม่เพียงพอ โดยลักษณะภูมิประเทศในเมืองลำปุงมีลักษณะเป็นที่ราบต่างจากเกาะชวาที่มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และมีคลองชลประทาน จึงเป็นเขตเพาะปลูกพืชหลายชนิด อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม และสับปะรส โดยราคามันสำปะหลังสดมีราคาขึ้นลงใกล้เคียงกับไทยที่ 2-3 บาท/กก.

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญอันดับ 7 ของโลก (ไทย เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 แต่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก) โดยผลผลิตมันสำปะหลังของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ ด้วยนโยบายการพึ่งตนเองด้านอาหารของอินโดนีเซียทำให้รัฐบาลพยายามเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ในปีก่อนหน้าอินโดนีเซียประสบภาวะเอลนีโญทำให้ประมาณน้ำฝนทั้งปีน้อยกว่าปกติ มีผลให้ผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดลดลงรวมทั้ง สต๊อกอาหารโดยรวม จึงมีการนำเข้าสินค้าอาหารทุกประเภทเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันอินโดนีเซียมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจึงต้องติดตามภาวะอาหารสำรองของประเทศ และภาวะการบริโภคของประชากรอินโดนีเซียต่อไป อย่างไรก็ตาม สินค้าแป้งดัดแปลง ( Modified Starch) ของไทยมีโอกาสในตลาดอินโดนีเซียสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและผู้ผลิตแป้งของอินโดนีเซียยังไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรมอาหารในประเทศได้ จึงเห็นควรส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านอาหารของอินโดนีเซียเพื่อขยายตัวเลขส่งออกของประเทศไทยต่อไป

 

thThai