ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ค่อนข้างรุนแรง แข็งกร้าว จึงเริ่มมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากนโยบายการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า และแนวโน้มราคาสินค้าในตลาดที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวในอนาคต
นับตั้งแต่ในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ชูแนวนโยบายทางเศรษฐกิจสำคัญ โดยเสนอปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เพื่อลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่านโยบายดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าลดราคา (Discount Retailers) รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรองเท้าของสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
Mr. Arun Sundaram ตำแหน่ง นักวิเคราะห์ บริษัท CFRA กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าลดราคา เช่น บริษัท Five Below จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลและจะทำให้กิจการจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาจำหน่ายปลีกสินค้าในที่สุด โดยภายหลังจากที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นที่แน่ชัด ราคาหลักทรัพย์กลุ่มกิจการในอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าลดราคา ได้แก่ บริษัท Dollar General บริษัท Dollar Tree และบริษัท Five Below มีแนวโน้มปรับตัวลดลงทันที
Mr. Scott Lincicome ตำแหน่ง รองประธานฝ่ายเศรษฐศาสตร์ทั่วไป สถาบัน Cato Institute กล่าวว่า นโยบายการลดภาษีเงินได้ ประกอบกับการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในตลาด อีกทั้ง ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นยังจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าที่มีราคาสูงด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยภาษีนำเข้ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งในสมัยแรกผู้ประกอบการที่ต้องอาศัยสินค้านำเข้าจากจีนจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเอาไว้เองหรือบางรายอาจจะผลักภาระดังกล่าวไปยังผู้บริโภค
Mr. Niraj Shah ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Wayfair กล่าวว่า บริษัทมีคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศทั้งสิ้นกว่า 20,000 บริษัท ในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งสมัยแรกคู่ค้าในต่างประเทศหลายรายได้ปรับตัวย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวมากนัก
ในขณะที่ Mr. Dan Sheridan ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Brooks Running กล่าวว่า อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับภาวะที่ท้าทายมากในปัจจุบันที่ต้องชำระภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราร้อยละ 20 และจากเวียดนามในอัตราร้อยละ 27 ดังนั้น การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 – 25 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ากิจการจำเป็นต้องปรับตัว โดยส่วนหนึ่งอาจจะต้องปรับลดเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าเพื่อลดต้นทุน และอาจจะต้องผลักดันภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนไปยังผู้บริโภคด้วย
Mr. John Vandemore ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท Skechers กล่าวว่า บริษัทอาจจำเป็นที่จะต้องควบคุมปัจจัยด้านราคามากขึ้น และย้ายฐานการผลิตออกจากจีนที่ปัจจุบันยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าหลักของกิจการ
Mr. Matt Priest ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท the Footwear Distributors and Retailers of America (FDRA) กล่าวว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรองเท้าสหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนนับตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกในปี 2559 ด้วยแนวโน้มนโยบายที่น่าจะรุนแรงมากขึ้นในสมัยที่สอง น่าจะกดดันให้ผู้ประกอบการที่ยังอยู่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตสินค้าออกจากจีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงจึงคาดว่ารัฐบาลใหม่จะไม่ดำเนินมาตรการรุนแรงรวดเร็วที่อาจจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในอนาคตอันใกล้
สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐฯ (National Retail Federation หรือ NRF) ประเมินว่า หากสหรัฐฯ เริ่มดำเนินมาตรการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ของเล่นเด็ก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รองเท้า และของใช้สำหรับการเดินทาง จะส่งผลทำให้กำลังการซื้อ (Spending Power) ของชาวอเมริกันปรับตัวลดลงราว 4.6 – 7.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นอกจากนี้ Mr. Matthew Shay ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสหพันธ์ยังกล่าวว่า นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม อีกทั้ง ยังจะช่วยปกป้องโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญของสหรัฐฯ เอาไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้ายุทธศาสตร์ (Non-Strategic) จะเป็นการสร้างภาระด้านภาษีให้กับผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดการจ้างงานในอนาคตได้
โดยสหพันธ์ฯ ได้พยากรณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคชาวอเมริกันจากนโยบายดังกล่าว แบ่งเป็นสองฉากทัศน์ ได้แก่ ฉากทัศน์ A) ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าร้อยละ 10 จากผู้ส่งออกรายอื่น และร้อยละ 60 จากจีน และ ฉากทัศน์ B) ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าร้อยละ 20 จากผู้ส่งออกรายอื่น และร้อยละ 100 จากจีน โดยพบว่า สินค้ากลุ่มของเล่นเด็กจะได้รับผลกระทบผู้บริโภคชาวอเมริกันสูญเสียกำลังการซื้อสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ สินค้าเครื่องใช้ ไฟฟ้าภายในบ้าน รองเท้า ของใช้สำหรับการเดินทาง และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ตามลำดับ
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันในปัจจุบันให้ความสำคัญกับนโยบายหาเสียงที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าสหรัฐฯ บนเวทีการค้าโลก รวมถึงการขยายตัวของตลาดการจ้างงานภายในประเทศ โดยชาวอเมริกันส่วนมากเชื่อว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีบุคลิกชัดเจน โผงผาง แข็งกร้าว ไม่ประนีประนอม จะสามารถนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้กลับมาแข็งแกร่งได้ในอนาคต
ทั้งนี้ นโยบายการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงผู้บริโภคชาวอเมริกันที่อาจจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระดังกล่าวในที่สุด นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวเองยังจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั่วโลกรวมถึงไทยเองด้วยที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงถึงกว่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ด้วย
ในระยะสั้นแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่มีท่าทีที่จะปรับอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่คาดว่า ในทางจิตวิทยานโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เร่งปรับตัวแสวงหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่ในภูมิภาคเพื่อทดแทนกำลังการผลิตในจีนที่มีโอกาสจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนการผลิต ที่จีนได้รับผลกระทบสูง เช่น ของเล่นเด็ก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ในครัวเรือน เป็นต้นโดยเฉพาะสินค้าฟอยล์อะลูมิเนียมสำหรับบรรจุอาหารที่นับตั้งแต่สหรัฐฯ ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีผู้นำเข้าหลายรายในตลาดเร่งติดต่อเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากสินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าจีนมาก อีกทั้ง คุณภาพสินค้าไทยยังได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดด้วย ซึ่งการพิจารณาสร้างโอกาสเจรจาการค้าระหว่างผู้ผลิตไทยและผู้นำเข้าที่มีศักยภาพในตลาดจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้ในอนาคต
นอกจากนี้ การพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าจะสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกับกลยุทธ์อื่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขยายตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ การรวบรวมผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้นำเข้าร่วมออกคูหาในลักษณะ “Thailand Pavilion” จะช่วงดึงดูด อำนวยความสะดวก และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ต้องการแสวงหาแหล่งผลิตสินค้าใหม่สามารถเลือกเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมภายในงานได้ทันที
ในส่วนของมาตรการการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าประเทศผู้ผลิตรายอื่นรวมถึงไทยนั้น สหรัฐฯ น่าจะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดและผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้น ในระยะสั้นจึงคาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยท่าทีการบริหารประเทศที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ไทยเองควรพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เร่งหาโอกาสเจรจาความร่วมมือทางการค้าทวิภาคีเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันในอนาคต
แหล่งที่มา: Trump’s Proposed Tariffs Could be a Big Hit to Discount Retailers, Footwear Companies
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก