กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามกำหนดให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปในเวียดนามได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตามอาจเสี่ยงต่อการถูกบล็อก

นาย Hoang Ninh รองผู้อำนวยการสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม (Vietnam e-Commerce and Digital Economy Agency: iDEA) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่า หน่วยงานได้ตรวจสอบผลกระทบจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Temu, 1688 และ Shein และนำเสนอแนวทางในการจัดการแพลตฟอร์มดังกล่าวตามความประสงค์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งการดำเนินการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายของเวียดนามเมื่อได้มีการดำเนินการในประเทศ โดยกระทรวงฯ ได้ประสานและทำงานร่วมกับทีมกฎหมายของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดังกล่าว ในการขอให้จดทะเบียนการดำเนินงานในเวียดนาม และปฏิบัติตามมาตรฐานท้องถิ่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ความโปร่งใสและความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งการจดทะเบียนธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎระเบียบถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านอีคอมเมิร์ซที่ยุติธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ จะพิจารณาใช้มาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบท้องถิ่นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะต้องจดทะเบียนธุรกิจเมื่อเริ่มดำเนินการในเวียดนาม หรือเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ใช้โดเมนเวียดนาม (Domain name) แสดงเนื้อหาเป็นภาษาเวียดนาม หรือมีธุรกรรมกับลูกค้าชาวเวียดนามมากกว่า 100,000 รายการต่อปี หากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือมีการละเมิดกฎหมาย กระทรวงฯ สามารถประสานให้กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการในการใช้มาตรการทางเทคนิค เช่น การบล็อกแอปพลิเคชันและโดเมน ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ กรมสรรพากร ศุลกากร และหน่วยงานบริหารจัดการอื่น ๆ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เรียกร้องให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้มงวด การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการควบคุมสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนได้อำนวยความสะดวกให้สินค้าต้นทุนต่ำไหลเข้าสู่เวียดนาม ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจของเวียดนาม เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามหันมาใช้สินค้าจากจีนเนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ส่วนผู้ค้าต่างทยอยเลิกใช้สินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นและหันไปหาสินค้าทางเลือกจากจีนแทน นอกจากนี้ สินค้าราคาถูกที่มีจำนวนมากทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2567 พบว่าแพลตฟอร์ม Temu ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการในเวียดนาม โดยสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามยังไม่ได้รับเอกสารการขอรับใบอนุญาตจากบริษัท Temu ซึ่งหมายความว่า แพลตฟอร์ม Temu ได้ขายสินค้าในเวียดนามโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมแล้ว ทั้งนี้ บริษัท Temu เป็นบริษัทย่อยของเครือ PDD Holdings ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือค้าปลีกชั้นนำของโลก ได้เข้าร่วมกลุ่มกับบริษัทต่าง ๆ เช่น บริษัท Taobao, บริษัท 1688 และบริษัท Shein เพื่อแสวงหาช่องทางในการเข้าถึงตลาดเวียดนาม

(แหล่งที่มา https://tuoitrenews.vn/ ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งอยู่ในอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2566 ตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าสูงถึง 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ มีจำนวนผู้บริโภคในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์เกิน 61 ล้านคน และมีมูลค่าการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 336 เหรียญสหรัฐต่อคน ดังนั้น เวียดนามจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจากจีน อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์ม Temu กำลังเผชิญการถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลเวียดนาม หลังเปิดให้บริการในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความกังวลเรื่องคุณภาพสินค้าราคาถูกที่ส่งผลกระทบต่อคู่แข่งในเวียดนามอย่าง Shopee, TikTok Shop และ Lazada ส่งผลให้ต้องเร่งยื่นขออนุมัติการดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ปัจจุบัน อีคอมเมิร์ซกําลังกลายเป็นช่องทางการซื้อขายที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในเวียดนาม และมีการขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันระหว่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศและต่างประเทศจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน เช่น Temu และ Shein ที่มุ่งเน้นกลยุทธ์การขายสินค้าต้นทุนต่ำ และบริการจัดส่งที่รวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในเวียดนามต้องปรับกลยุทธ์ด้านราคาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียลูกค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดไปยังเวียดนาม จึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและราคาของสินค้าที่สามารถแข่งขันได้กับสินค้าของเวียดนามและจากจีน รวมถึงพิจารณาเลือกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคเวียดนามอย่างทั่วถึง

thThai