ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ต่อเยอรมนีและยุโรป

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ที่ผ่านมา (เดือนพฤศจิกายน 2024) ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนอย่างช้าที่สุดในช่วงต้นปีหน้า นโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “อเมริกาต้องมาก่อน (America First)” ที่สะท้อนเห็นถึงความท้าทายที่สำคัญกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกอย่างเยอรมนี โดยมีมาตรการ 2 ประการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเยอรมนีเป็นพิเศษ ได้แก่ (1) การเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และ (2) การลดเก็บภาษีสำหรับภาคเอกชน โดยทั้ง 2 มาตรการ มีแนวโน้มที่จะเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในช่วงแรก แต่อาจส่งผลกระทบตามมา โดยขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว สำหรับ ระยะสั้นอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเยอรมนีและยุโรปแล้วด้วย

 

ผลที่ตามมาจากนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเยอรมนีและยุโรป

หากสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบกับสินค้านำเข้าทั้งหมดในทันที อย่างไรก็ดี กรณีสินค้าจากจีน และยุโรปมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกจากนโยบายด้านภาษีนี้ เพราะสำหรับจีน หมายถึงโอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ลดลง จีนจึงต้องมองหาตลาดใหม่ ๆ หรือตลาดอื่นเพื่อกระจายสินค้าแทน เมื่อพิจารณาถึงเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอในปัจจุบัน ตลาดของจีนเองก็แทบจะไม่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตได้ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มสูงที่จีนจะพยายามขายสินค้าที่ผลิตขึ้นล้นตลาดไปยังยุโรป เพื่อหาทางระบายสินค้าส่วนเกินดังกล่าวไปยังตลาดใหม่ ๆ หรือตลาดที่มีศักยภาพ และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามาอุดหนุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทำให้บริษัทในยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหลายประการ กล่าวคือ (1) บริษัทในยุโรปประสบปัญหาจำหน่ายสินค้าในสหรัฐฯ ได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการส่งออกอย่างเยอรมนีเป็นพิเศษ (2) แรงกดดันในการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตในยุโรปต้องรับแรงกดดันมากขึ้น และ (3) อาจกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับบริษัทในยุโรปที่จะขายสินค้าของตนในศจีน ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังถูกคุกคามด้วยนโยบาย Protectionism (ลัทธิการคุ้มครองทางการค้า เป็นนโยบายที่มุ่งปกป้องสินค้า และบริการที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อมิให้ถูกแข่งขันจากสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ รัฐบาลจะใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ตั้งกำแพงภาษี การกำหนดโควต้าการนำเข้า รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ) โดยผู้ผลิตภายในจีนมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อมาตรการด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในทันที และในทางกลับกัน ก็กำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงวาระแรกที่นาย Trump เข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งสหภาพยุโรปเองก็จะไม่ปล่อยให้สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าของ EU เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีมาตราการตอบโต้ใด ๆ นอกจากนี้ ผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ จะเกิดการถอนเงินลงทุนออกจากยุโรป เงินทุนย้ายฐานออกจากยุโรปเนื่องจากความน่าดึงดูดใจด้านการลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้น การลงทุนในยุโรปจึงลดลง สิ่งนี้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของ EU อ่อนแอลง (ดูรูปที่ 1) นอกจากนี้ ยังจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากค่าเงินสกุลยูโรที่ลดลง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการแข็งค่าของเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การที่สกุลเงินที่มีการอ่อนค่าลงนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียไปพร้อม ๆ กัน

 

  • ข้อเสียเมื่อค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ก็ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ราคาวัตถุดิบนำเข้า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซ ชิ้นส่วนแต่ละชิ้น และราคาผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายสูงขึ้น สิ่งนี้จะเพิ่มอัตราเงินเฟ้อในยุโรป ซึ่งจะทำให้โอกาสการส่งออกของบริษัทในยุโรปแย่ลง นอกจากนี้ ยังมีการสูญเสียกำลังซื้อซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคในยุโรปลดลง
  • ข้อดีของค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงคือ การขยายโอกาสในการส่งออกของบริษัทในยุโรป อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐอเมริกาทำให้การเข้าสู่ตลาดยากขึ้นด้วยมาตราการภาษีนำเข้าและประเทศอื่น ๆ ก็ใช้มาตรการคล้ายคลึงกันกีดกันทางการค้าเช่นกัน ข้อได้เปรียบนี้ข้อนี้ก็จะไร้ซึ่งประสิทธิผลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ต่อเยอรมนีและยุโรป
    แล้วเยอรมนีและสหภาพยุโรปทำอะไรได้บ้าง

    นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ที่โลกรอรับในเวลานี้ แสดงให้เห็นถึง ภาระอันหนักอึ้งสำหรับส่วนที่เหลือของโลก เพื่อรับมือกับการอ่อนแอทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และสหภาพยุโรปมี 2 มาตราการที่สามารถดำเนินการได้ ประการแรก (1) ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ เช่น ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านในสหภาพยุโรป นี่เป็นการเปิดโอกาสทางการค้าที่ดีขึ้นสำหรับบริษัทส่งออกในสหภาพยุโรป บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ผลิตในยุโรปได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้เช่นกัน ประการที่สอง (2) การเสริมสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ ด้วยมุมมองต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางนิเวศวิทยาที่จำเป็นสำหรับประเทศเยอรมนี เพื่อที่เยอรมนีจะสามารถมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2045 และเพื่อที่สหภาพยุโรปสามารถความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 การลงทุนของภาครัฐ และเอกชนในระดับสูงเป็นสิ่งจำเป็นในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า จากมุมมองนี้เมื่อความต้องการสินค้าส่งออกจากเยอรมนีลดลง เบื้องต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขยายการลงทุนด้านการอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศในเยอรมนี และยุโรป การลงทุนดังกล่าวถือเป็นเรื่องของภาคเอกชนเป็นหลัก แต่รัฐจะต้องสนับสนุนเอกชน และครัวเรือนส่วนบุคคล ด้วยการลดหย่อนภาษี และความช่วยเหลือทางการเงิน อีกทั้งนอกเหนือจากการลงทุนสาธารณะที่จำเป็นในเยอรมนี ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ไม่น่าเป็นไปได้หากไม่มีการปฏิรูปการรักษางบประมาณให้มีความสมดุล (Balanced Budget Amendment) ของประเทศเยอรมนี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธุ์ ที่จะถึงนี้ ซึ่งไม่ว่านักการเมืองเยอรมัน และยุโรปจะตัดสินใจใช้มาตรการใด หากไม่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว และตอบสนองกล้าหาญต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะทำให้มีความเสี่ยงอันใหญ่หลวงกับ ภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของประชากรของเยอรมนีและยุโรป ซึ่งผลลัพธ์ที่จะตามมาก็คือ ความตึงเครียดทางสังคมซึ่งจะทำให้บริบททางสังคมที่ตึงเครียดอยู่แล้วแย่ขึ้นไปอีก

     

    จาก Bertelsmann Stiftung 14 พฤศจิกายน 2567

thThai