GDP ของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่ 3

          สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NEDA) ระบุว่ายังคงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในปีนี้แม้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ก็ตาม

          จากรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) พบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเติบโตร้อยละ 6.4ในไตรมาสที่ 2 โดยอัตราการเติบโตดังกล่าวนับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
ที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ ร้อยละ 6.0 -7.0 สำหรับปี 2567

          นาย Arsenio M. Balisacan เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NEDA) ระบุว่า เศรษฐกิจต้องเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 6.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ แม้จะมีเป้าหมายการเติบโตที่สูงแต่เลขาธิการ NEDA แสดงความเชื่อมั่นว่ายังคงเป็นไปได้โดยคาดหวังว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลที่เพิ่มขึ้น และหวังว่าราคาสินค้าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง โดยเสริมว่า มีความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นซึ่งจะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเลขาธิการ NEDA ยังแสดงความคิดเห็นเชิงบวกว่า เมื่อเปรียบเทียบฟิลิปปินส์กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคฟิลิปปินส์ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด

           ในขณะเดียวกันธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงที่ 50 จุดพื้นฐานและลดอัตราส่วนเงินสำรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยเฉพาะในสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญและการลงทุนในโครงสร้างพิ้นฐานที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะผลผลิตจากภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากผลกระทบของเอลนีโญและพายุไต้ฝุ่นหลายลูก ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของการผลิตโดยรวมชะลอตัวลง นอกจากนี้ ภาคการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ ยังประสบปัญหาการผลิตที่ลดลง เนื่องจากการห้ามทำประมงในช่วงที่เกิดน้ำมันรั่วไหล สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าความต้องการภายในประเทศจะเติบโตขึ้นร้อยละ 6.6 จากการได้รับการสนับสนุนจากภาคใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 แต่การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นาย Arsenio M. Balisacan เสริมว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 มีการยกเลิกเที่ยวบินถึง 138 เที่ยว ในภาคการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในภาคอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 17.9 โดยเฉพาะสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสุทธิลดลงร้อยละ 32.6 นอกจากนี้การเติบโตของการก่อสร้างของภาครัฐก็ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 21.7 เหลือร้อยละ 3.7 เนื่องจากความล่าช้าทางด้านการบริหารและอุปสรรคจากสภาพอากาศ โดยเพื่อให้บรรลุการเติบโตในระยะกลาง นาย Arsenio M. Balisacan เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการเสริมสร้างการสนับสนุนทางการคลัง รวมถึงการทำให้กระบวนการทางธุรกิจมีความคล่องตัว และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุน โดยปิดท้ายว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ (FTA) และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว รวมถึงมุ่งเน้นการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมกับจัดการปัญหาการว่างงานผ่านโครงการฝึกทักษะใหม่เพื่อเสริมสร้างภาคเศรษฐกิจภายนอก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Manila Bulletin

บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น

  • เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในช่วงที่ผ่านมาแสดงถึงความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 โดยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ลดลงเหลือร้อยละ 2 จากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 2 สะท้อนถึงความท้าทายสำคัญที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากปัจจัยเงินเฟ้อสูง สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐต้องการบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ร้อยละ 6.0 – 7.0 ในปี 2567 จำเป็นต้องเร่งเติบโตให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 6.5 ในไตรมาสสุดท้าย
  • ด้วยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลงและการบริโภคภายในประเทศที่ถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อสูง นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินคาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์อาจประสบความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ในปีนี้ อีกทั้ง ปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมซึ่งอาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์อาจได้รับผลกระทบ การปรับกลยุทธ์และแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

————————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา/พฤศจิกายน 2567

 

thThai